อนาคต “กัญชา” พืชเศรษฐกิจ

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย กษมา ประชาชาติ

กระแสความนิยมการใช้สารสกัดกัญชา เพื่อใช้ทางการแพทย์ เกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย ด้วยพืชกัญชา หรือ cannabis มีสารประกอบ cannabinoid ประเภทที่รู้จักกันดี คือ THC ซึ่งมีฤทธิ์ต่อจิตประสาท แก้ปวด ต้านอาเจียน และลดการอักเสบ CBD ระงับอาการวิตกกังวลและมีฤทธิ์ต้านการชัก ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง หรือใช้เพื่อควบคุมอาการโรคพาร์กินสัน อัลไซเมอร์ ปลอกประสาทอักเสบ วิตกกังวล และมะเร็งได้

เมื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียนมีโอกาสเดินทางไปที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม พบร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาเปิดขายกลางแหล่งท่องเที่ยวอย่างเอิกเกริก ทั้งบุหรี่ไฟฟ้าที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม หรือแม้แต่อมยิ้ม สบู่ ครีม น้ำมันหอมละเหย หมากฝรั่ง และอื่น ๆ มากมาย

หลายคนตั้งคำถามว่าการกำกับดูแลผลิตภัณฑ์เหล่านี้ในต่างประเทศแตกต่างจากไทยอย่างไร 

จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ตั้งแต่ปี 2012 รัฐโคโลราโด และรัฐวอชิงตัน สหรัฐ นำร่องประกาศให้ใช้กัญชาเพื่อการพักผ่อนถูกกฎหมาย ต่อมามีอีก 8 รัฐ เช่น แคลิฟอร์เนีย ออริกอน และมิชิแกน ยูทาห์ และโอคลาโฮมา ก็อนุญาตแล้วด้วยเช่นกัน

ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ รายงานว่า ในประเทศออสเตรียในสหภาพยุโรป ก็มีกฎหมายให้ใช้กัญชาทางการแพทย์เช่นกัน

กระแสดังกล่าวสร้างแรงกระเพื่อมในสังคมไทยอย่างมากช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา

ล่าสุด พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2562 ที่ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2562 ได้แก้ไขเพิ่มเติม เปิดโอกาสให้มีการอนุญาตให้ประชาชนใช้กัญชาและพืชกระท่อมเพื่อประโยชน์ในการรักษาโรคและประโยชน์ในทางการแพทย์ได้ จากเดิมที่ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 กำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ที่ห้ามมิให้ผู้ใดเสพ หรือนำไปใช้บำบัดรักษาผู้ป่วย หรือใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และกำหนดโทษทั้งผู้เสพและผู้ครอบครองด้วย

แต่เพื่อเป็นการรับรองและคุ้มครองสิทธิของผู้ป่วยในการใช้กัญชาเพื่อรักษาและพัฒนาทางการแพทย์ เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านยาของประเทศ และป้องกันการผูกขาดทางด้านยา จึงนำมาสู่การแก้ไขกฎหมายดังกล่าว

ไทยจึงกลายเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่อนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และการวิจัย

อย่างไรก็ตาม กฎหมายนี้ได้กำหนดบทเฉพาะกาลว่า ในช่วงเวลา 5 ปี ระหว่างนี้ ให้สิทธิเฉพาะหน่วยงานราชการเท่านั้น และระหว่างนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปมาจดแจ้งครอบครองกัญชาที่จำเป็นต้องมีไว้เพื่อรักษาตนและครอบครองตั้งแต่ก่อนวันที่ 19 ก.พ. 2562 ไปจนถึงวันที่ 19 พ.ค.นี้ ทำให้หลายพื้นที่ตื่นตัว เช่น จ.บุรีรัมย์จัดงานพันธุ์บุรีรัมย์ กัญชาโลก มีคนมาขึ้นทะเบียนครอบครองกัญชานับหมื่นราย

ขณะเดียวกันได้มีการปลูกกัญชาอย่างถูกต้องตามกฎหมายแห่งแรกในอาเซียน ตาม “โครงการผลิตสารสกัดต้นแบบกัญชาทางการแพทย์ขององค์การเภสัชกรรม ระยะที่ 1” โดยองค์การเภสัชกรรม ที่ อ.ธัญบุรี ปทุมธานี ขนาด 100 ตร.ม. ซึ่งเริ่มปลูกไปเมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2562 คาดว่าผลผลิตลอตแรกจะออกในเดือน ก.ค.นี้จะสกัดเป็นน้ำมันหยดใต้ลิ้นได้ 2,500 ขวด เพื่อไปทดลองทางคลินิก และจะพัฒนาเข้าระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คาดว่าจะเริ่มปลูกกึ่งอุตสาหกรรมแบบครบวงจรในเดือน ม.ค. 2564

อย่างไรก็ตาม ในการปลูกกัญชาเพื่อใช้ทางการแพทย์จำเป็นต้องควบคุมการปลูกให้เป็นไปตามมาตรฐานทุกขั้นตอน ป้องกันการปนเปื้อนจากสารเคมี และเพื่อไม่กระจายออกไปยังสิ่งแวดล้อม

ถึงแม้ว่ากฎหมายใหม่กำหนดให้มีคณะทำงานตรวจรับกัญชา และคณะทำงานทำลายกัญชา ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข แต่หลายฝ่ายยังมีความวิตกเกี่ยวกับ “กลไกการตรวจสอบ” หากประชาชนหันมาปลูกกัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจมากขึ้นในอนาคตจะดูแลให้ทั่วถึงได้อย่างไร

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!