นโยบายเพิ่มราคาข้าว ทำได้จริง และโอเคหรือ ?

คอลัมน์ ช่วยกันคิด

โดย ดร.พิเศษพร วศวงศ์ ผู้บริหารทีมการนโยบาย ศก. การค้า และการลงทุน มูลนิธิ สวค.

 

ช่วงนี้เป็นช่วงจัดตั้งรัฐบาล แต่ละพรรคต่างพยายามรักษาสัญญานโยบายที่ให้ไว้กับประชาชนหรือฐานเสียง โดยฐานเสียงสำคัญส่วนหนึ่งก็คือ ชาวนา เพราะแรงงานไทยประมาณร้อยละ 40 อยู่ในภาคเกษตร และมากกว่าครึ่งของภาคเกษตรทำนา ดังนั้น นักการเมืองทั้งหลายทั้งปวงย่อมต้องหาเสียงกับชาวนา โดยหนึ่งในนโยบายที่ชอบนักชอบหนาเวลาหาเสียงกับภาคเกษตร ก็คือ “ราคาสินค้าเกษตร” ประมาณว่า ราคาข้าวเท่านั้นบาทต่อเกวียน ด้วยนโยบายที่หลากหลาย สุดแท้แต่จะรังสรรค์กันขึ้นมา ซึ่งวันนี้จะมาคุยกันว่า “มันทำได้จริงหรือ ?”

ราคาข้าวใครกำหนด

ก่อนจะมาสรุปกันว่า นโยบายโน้นนี้นั้นจะช่วยยกระดับราคาข้าวได้จริงหรือไม่ ขออนุญาตอธิบายให้เข้าใจก่อนว่า ราคาข้าวนั้นกำหนดกันได้อย่างไร ? ใครเป็นผู้กำหนด ?

จากการศึกษาของ พิเศษพร (2560) “ผลกระทบของนโยบายข้าวต่อระบบข้าวไทย” พบว่า ราคาข้าวระดับต่าง ๆ ของไทยถูกกำหนดจากราคาข้าวโลก โดยราคาข้าวโลกจะส่งผลต่อราคาขายข้าวของผู้ส่งออก จากราคานั้นผู้ส่งออกจะนำมาคำนวณโดยบวกกำไรเล็กน้อย (ประมาณร้อยละ 1 แต่ที่ผู้ส่งออกมีกำไรมหาศาลก็เพราะว่าขายข้าวทีละหลายตัน) แล้วตั้งราคารับซื้อไปยังโรงสี

ในขณะเดียวกัน ผู้ขายข้าวในประเทศแม้ไม่ส่งออกก็ต้องซื้อข้าวจากโรงสี ในราคาที่ใกล้เคียงกับผู้ส่งออกรับซื้อ เพราะไม่เช่นนั้นจะถูกผู้ส่งออกกว้านซื้อไปหมด สุดท้ายก็คือโรงสี เมื่อเห็นราคารับซื้อข้าวสารแล้ว โรงสีจึงค่อยคำนวณว่าเมื่อซื้อข้าวเปลือกมาสีแล้วจะได้กำไรสักเท่าไร แล้วจึงค่อยตั้งราคา ซึ่งโดยมากไม่ได้กำไรมากนักหรอกนะครับ โดยส่วนของกำไรมักจะมาจากการเอาผลพลอยได้อย่างแกลบ รำ และปลายข้าวไปขายร่วมด้วย เพราะหากขายแต่ข้าวสารก็มีสิทธิ์ขาดทุนได้เหมือนกัน (ถ้าสีแล้วข้าวหักเยอะ)

ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า ที่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เวลาราคาข้าวตก แล้วคนที่จะถูกตั้งให้เป็นแพะรับบาปจะเป็นโรงสีทุกที ก็น่าจะเปลี่ยนความคิดได้บ้าง เพราะราคาข้าวนั้นถูกกำหนดโดยตลาดโลก ซึ่งคนที่รู้ก่อนใครก็คือ “ผู้ส่งออก” ไม่ใช่ “โรงสี”

ราคาข้าวโลกขึ้นกับอะไร ?

ถ้าราคาข้าวในประเทศถูกกำหนดโดยราคาข้าวโลก แล้วราคาข้าวโลกขึ้นกับอะไรกันแน่ ? เพราะถ้าเราทราบก็อาจจะคิดมาตรการที่ช่วยยกระดับราคาข้าวโลกได้เหมือนกัน เนื่องจากไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่สุด 3 อันดับแรกของโลก (ไทย อินเดีย เวียดนาม)

ในอดีตเลยเรามีความเชื่อกันว่า ราคาข้าวถูกกำหนดโดยปริมาณข้าว และผลผลิตข้าวเป็นหลัก ซึ่งในอดีตนั้นเป็นความจริง เนื่องจากเป็นยุค “หลังสงคราม” เชื่อมต่อกับยุค “เบบี้บูม” คือ เป็นยุคที่ “คนมากกว่าข้าว” 
อีกทั้งระบบเก็บรักษา เช่น ยุ้งฉาง ไซโล ก็ยังไม่มี และไม่ดีเท่ากับในปัจจุบัน ปริมาณข้าวจึงเป็นตัวกำหนดราคาข้าว

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันระบบเก็บรักษาข้าวดีขึ้น ระบบเพาะปลูกและชลประทานดีขึ้น อีกทั้งประชากรไม่ได้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศที่บริโภคข้าวเป็นหลักอย่างเอเชีย ปริมาณข้าวเลยไม่ส่งผลต่อราคาข้าวมากนัก (เว้นแต่ข้าวพรีเมี่ยมที่คนมีสตางค์รับประทาน)

แต่ด้วยโลกที่เจริญมากขึ้น จึงเกิดตลาดบริโภคข้าวใหม่ คือ แอฟริกัน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงอุปสงค์ และราคาข้าวเพิ่มขึ้น โดยในปัจจุบันตลาดหลักที่ไทยส่งออกข้าวมากที่สุด คือ เบนิน ในแอฟริกาตะวันตก ซึ่งในปี 2018 ไทยส่งออกไป 1.6 ล้านตัน จากการส่งออกข้าวทั้งหมด 11 ล้านตัน หรือเท่ากับร้อยละ 14.5 ของการส่งออกข้าวทั้งหมดของไทย

โดยส่วนใหญ่เป็นข้าวนึ่ง กับข้าวขาว (ไม่ใช่ข้าวหอมมะลิ) เนื่องจากเป็นฐานในการส่งออกข้าวต่อไปยังประเทศต่าง ๆ ในแอฟริกา โดยเฉพาะไนจีเรีย (วันหลังจะเล่าให้ฟังว่า ทำไมข้าวไทยไม่ไปไนจีเรียโดยตรง) ปัจจัยที่สำคัญในการกำหนดราคาข้าว จึงเป็นความต้องการของตลาดใหม่ ซึ่งแปรผันตามสิ่งที่เรียกว่า GDP โลก

ดังนั้น ในการวิจัยต่าง ๆ จึงพบว่า “ปริมาณข้าวมีผลต่อราคาข้าวในช่วงก่อนหน้าปี 2524 ซึ่งเป็นยุคที่ชาวเบบี้บูม ที่เกิดปี 1960 มีอายุได้ 20 ปีพอดี แต่หลังจากปี 2524 ที่อิทธิพล คนมากกว่าข้าว หมดไป จึงพบในลักษณะตรงข้ามกันว่า ปริมาณข้าวไม่ส่งผลต่อราคาข้าว แต่เป็น GDP โลก และ/หรือ GDP แอฟริกา ที่ส่งผลต่อราคาข้าวแทน”

พยุงราคาข้าวทำได้-ไม่ได้

ดังนั้น นโยบายในกลุ่ม เช่น การกักตุนข้าวไว้เพื่อให้ราคาขึ้น หรือการวุ่นวายกับกลไกตลาดในประเทศย่อมจะไม่ส่งผลต่อราคาข้าว เว้นแต่ใช้เพื่อการช่วยเหลือเกษตรกรเท่านั้น (ประหนึ่งว่าเอาภาษีไปอุดหนุนนั่นแหละ)

ในอดีตไทยเคยกักตุนข้าวไว้หวังให้ราคาข้าวขึ้น แต่อนิจจาไทยน่าจะลืมคุยกับเวียดนามที่มีปัญหาข้าวล้นสต๊อกอย่างรุนแรง พอไทยกักตุนข้าว เวียดนามเลยได้โอกาสระบายข้าวออกมาขาย ราคาข้าวก็เลยเหมือนเดิม โดยสรุป นโยบายแบบนี้ย่อมไม่เวิร์ก

แล้วนโยบายไหนล่ะจะช่วยฉุดราคาข้าวโลกให้ขึ้นมาได้ ? ก็ถ้าตอบตามผลการวิจัยก็ต้องเป็นการเพิ่มรายได้ให้แอฟริกานั่นแหละครับ คนแอฟริกันจะได้มีรายได้ดี และพร้อมที่จะนำเข้าข้าว ซึ่งเป็นของดีสำหรับคนแอฟริกันเข้ามาบริโภค พอคนแอฟริกันต้องการบริโภคมาก ราคาข้าวก็จะขึ้นเอง

ทำอย่างไรให้คนแอฟริกันมีรายได้เพิ่ม โดยคุ้มค่าที่สุดสำหรับไทย ? ในแอฟริกามีโอกาสมากมาย ไม่ว่าจะเป็นตลาดใหม่ ๆ ทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ แรงงานจำนวนมากและราคาถูก รวมถึงสิทธิพิเศษทางภาษีต่าง ๆ ซึ่งพร้อมเปิดกว้างแล้วจูงใจให้ไทยเข้าไปลงทุน การเข้าไปลงทุนยังแอฟริกา จะสร้างการจ้างงาน รายได้ และการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของแอฟริกาได้

หลาย ๆ ประเทศทั่วโลกต่างก็ให้ความสนใจกับแอฟริกา ดูกระเป๋าแบรนด์หรูที่เหมือนถุงสายรุ้งบ้านเราสิครับ คนออกแบบก็ได้แรงบันดาลใจมาจากถุงที่คนแอฟริกาชอบหอบหิ้วนั่นแหละ (คอนเซ็ปต์/เทรนด์ ในการออกแบบปีนั้น คือ แอฟริกา)

“สุดท้ายเลยวนมาว่า อยากเพิ่มราคาข้าว รัฐบาลต้องส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ (ซะงั้น)”

หมายเหตุ : ไม่พูดถึงนโยบายเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนเพราะไม่เกี่ยวกับราคาข้าว ส่วนนโยบายข้าวพรีเมี่ยม
ก็ถือว่าเป็นนโยบายที่น่าสนใจ แต่ต้องลงในรายละเอียดอีกทีว่าคุ้มค่ากับชาวนาหรือไม่ ตลาดพอเพียงหรือไม่ ทั้งนี้ หลังจากผมกลับจากเดินทางไปศึกษาดูโอกาสการลงทุนของไทยในแอฟริกา พบโอกาสในการเพิ่มรายได้แก่ชาวนาที่น่าสนใจกว่ากันมาก ประเภทว่า 3 ปีชาวนามีเงินล้านในกระเป๋า แต่ขออุบไว้ก่อนตอนหน้าครับ