“บาทแข็ง-เศรษฐกิจโลก” ทุบ “ท่องเที่ยวไทย”

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย ณัฏฐ์พิชญ์ วงษ์สง่า [email protected]

เมื่อสัปดาห์ก่อน “ยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 20 ล้านคน ขยายตัวเพิ่มขึ้นราว 2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สร้างรายได้เข้าประเทศแล้วประมาณ 1 ล้านล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 3%

โดย ททท.ตั้งเป้าไว้ตั้งแต่ต้นปีว่า ปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวที่ราว 40.5 ล้านคน หรือสร้างรายได้ประมาณ 3.3-3.4 ล้านล้านบาท โดยเป็นส่วนของตลาดต่างประเทศ จำนวน 2.2 ล้านล้านบาท

หากวิเคราะห์ตามตัวเลขดังกล่าวก็ยังดูมีความหวังว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยปีนี้จะยังคงขับเคลื่อนไปได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ได้ไม่ยาก

แต่ในสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในขณะนี้ คือ โรงแรม ห้องพักในเมืองท่องเที่ยวหลัก ๆ อย่างภูเก็ต, พัทยา ฯลฯ ซบเซาต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว และยังคาดกันว่าจะยังคงซบเซาต่อไปอีกตลอดทั้งปี

เช่นเดียวกับตัวเลขการเดินทางผ่านผู้โดยสารในภาพรวมของบริษัทท่าอากาศยานไทย หรือ ทอท. ทั้ง 6 สนามบินยังพบว่าขยายตัวได้เพียงแค่ 1.78% พร้อมยังคาดการณ์ว่าสิ้นปีงบประมาณ 2562 นี้ อัตราการเติบโตของผู้โดยสารในภาพรวมน่าจะอยู่ที่ 2% เท่านั้น จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ว่า น่าจะโตได้ถึง 7-8% ซึ่งเป็นเกณฑ์ปกติของการเติบโตในทุก ๆ ปี

และหากดูเฉพาะสนามบินภูเก็ต ซึ่งเป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก ก็พบว่าจำนวนผู้โดยสารลดลงอย่างมีนัย โดยในช่วงตั้งแต่ตุลาคม 2561-พฤษภาคม 2562 มีจำนวนเที่ยวบินติดลบทั้งตลาดระหว่างประเทศและภายในประเทศ เฉลี่ยที่ 2.9% เช่นเดียวกับผู้โดยสารที่ติดลบทั้งตลาดต่างประเทศและในประเทศ เฉลี่ยที่ 4.42%

ขณะที่เสียงจากกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวก็ส่งเสียงบ่นมาแทบทุกตลาดว่า ปีนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงเป็นประวัติการณ์ในแทบทุกตลาด ซึ่งหากดูสถิติจากสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว หรือ ATTA จะเห็นชัดเจนว่า จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านสมาชิกของแอตต้า (กรุ๊ปทัวร์) ผ่านสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง ระหว่าง 1 มกราคม-20 มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวตลาดหลักลดลงอย่างชัดเจนเช่นกัน อาทิ จีน ติดลบ 15.16%, เกาหลี ติดลบ 15.08%, สหราชอาณาจักร ติดลบ 23.54%, อินโดนีเซีย ติดลบ 14.58%, เยอรมนี ติดลบ 6.70%, ญี่ปุ่น ติดลบ 8.32%, ฝรั่งเศส ติดลบ 9.56%, ฮ่องกง ติดลบ 24.3% เป็นต้น

หรือหากดูเป็นรายเดือนยังพบว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มกรุ๊ปทัวร์ยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยเดือนมกราคม ติดลบ 9.10%, กุมภาพันธ์ ติดลบ 9.14%, มีนาคม ติดลบ 8.05%, เมษายน ติดลบ 11%, พฤษภาคม ติดลบ 20.82% และเดือนมิถุนายน (ถึงวันที่ 20) ติดลบ 13.91%

ทั้งนี้ เสียงของผู้ประกอบการส่วนใหญ่มองว่า ปัจจัยลบหลัก ๆ ที่ทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยในปีนี้ไม่สวยงามอย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์ คือ ค่าเงินบาทของไทยที่แข็งค่าขึ้นค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ทั้งประเทศจีน ยุโรป รวมถึงประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้การเดินทางเข้าเที่ยวในเมืองไทยมีต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น

เมื่อบวกกับปัจจัยด้านภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวในทุกภูมิภาคที่ล้วนส่งผลต่อการตัดสินใจออกเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยว ยิ่งทำให้ “ไทย” ได้รับผลกระทบที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

และจากที่ผู้เขียนได้พูดคุยกับผู้ประกอบการในแวดวงธุรกิจท่องเที่ยวของไทยยังได้ข้อมูลว่า ผลจากพิษค่าบาทที่แข็งค่ามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2561 ที่ผ่านมา ยังทำให้บริษัทนำเที่ยวจำนวนมากได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะเรื่องการคาดการณ์ต้นทุนการขายแพ็กเกจทัวร์ล่วงหน้า ที่ต้องคำนวณเผื่ออัตราแลกเปลี่ยนที่ปรับขึ้น-ลงตลอดเวลา

หากกำหนดราคาสูงไปก็สู้คู่แข่งไม่ไหว หรือหากกำหนดต่ำไปก็เสี่ยงต่อการขาดทุนได้ ทำให้มีบริษัทนำเที่ยวบางส่วนต้องชะลอการทำตลาดไปบ้าง และก็มีจำนวนมากที่ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน

เช่นเดียวกับ “วิชิต ประกอบโกศล”นายกสมาคมแอตต้าที่ยอมรับว่า ค่าบาทที่แข็งเมื่อมาบวกกับปัจจัยลบของเศรษฐกิจโลก ทำให้นักท่องเที่ยวขาเข้า หรือตลาดอินบาวนด์ ปรับตัวลดลงอย่างชัดเจนในทุก ๆ ตลาด ไม่ว่าจะเป็นจีน หรือยุโรป

ประเด็นปัญหาและปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ น่าจะถึงเวลาแล้วที่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต้องยอมรับและมองภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เพื่อที่จะได้หาแนวทางทำงานร่วมกับเอกชน เพิ่มสปีดให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยในปีนี้ไปถึง 3.3-3.4 ล้านล้านบาท ได้ตามเป้าหมาย