องค์กรคนรุ่นใหม่

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย ดิษนีย์ นาคเจริญ

การจะหนีหรือเอาตัวให้รอดท่ามกลางสึนามิ “ดิจิทัล” ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะกับองค์กรใหญ่ที่อยู่มานาน เพราะสิ่งที่เปลี่ยนยากที่สุด คือ “คน” และยิ่งยากขึ้นไปอีกในองค์กรที่ (ยัง) ประสบความสำเร็จมาก

ไม่มีข้อยกเว้น แม้แต่ในองค์กรชั้นนำด้านเทคโนโลยี อย่าง “เอไอเอส” ซึ่งเพิ่งได้รับการจัดอันดับเป็น “แบรนด์โทรคมนาคมที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก อันดับ 1 ประจำปี 2019” จาก Brand Finance องค์กรที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์และคุณค่าของแบรนด์ที่มีชื่อเสียงระดับโลก

“สมชัย เลิศสุทธิวงค์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) ยอมรับว่า การขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงเพื่อยกระดับองค์กรจากการเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือไปสู่ “ดิจิทัลเซอร์วิสโพรไวเดอร์” อย่างที่ตั้งใจไว้เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ยังทำได้แค่ 50% จากที่ตั้งใจไว้

1 ใน 2 เหตุผลสำคัญ เกิดจากการติดอยู่ในกับดักชื่อ “ความสำเร็จ”

“สิ่งสำคัญที่ทำให้เราเป็นเบอร์หนึ่ง คือ คน ไม่ใช่ เงินทองหรือเทคโนโลยี แต่เพราะเรายังประสบความสำเร็จมาก ทำให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้ช้ากว่าที่ควรจะเป็น”

ที่ผ่านมา “เอไอเอส” พยายามปรับเปลี่ยนวัฒนธรรม และโครงสร้างองค์กรเพิ่มสปีดการทำงานให้สอดรับสปีดของเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เพราะรู้ว่าจะตอบโจทย์ลูกค้าและการแข่งขันได้ดีกว่า

“สมชัย” เรียกวิธีการของเขาว่า เป็นการปรับปรุง “เรือเก่า” ที่ใหญ่และแข็งแรงให้แล่นได้เร็วขึ้น โดยทำไปพร้อมกับการสร้าง “เรือใหม่” ขึ้นมารับผิดชอบใหม่ด้วย

“เรือเก่ามีบิวตี้ที่ความแข็งแรง วิธีผมจะไม่ทำลายเรือเก่า แต่ใช้วิธีปรับแก้กลไกการทำงานให้คล่องตัวขึ้น ตั้งทีมดันคนรุ่นใหม่มารับผิดชอบ เช่น ทีม data analytics ทีม cyber security และทีมเดอะเน็กซ์ ทำเรื่องอินโนเวชั่น”

และเพื่อให้คล่องตัวและตอบสนองการแข่งขันได้ดีขึ้น เขาได้สร้าง “เรือเล็ก” ขึ้นมารับผิดชอบบริการใหม่ เช่น ฟิกซ์บรอดแบนด์ “เอไอเอสไฟเบอร์” และกำลังจะมีเรือเล็กอีกลำดู “ดิจิทัลเซอร์วิส” อย่างวิดีโอ, เกมอีสปอร์ต และบริการอินชัวรันซ์ โดยเฉพาะมีผู้บริหารใหม่มารับผิดชอบ

ทั้งหมดเพื่อวางรากฐานสำหรับอนาคต

“การลดลำดับชั้น ดึงคนรุ่นใหม่มาคุม ทำให้สปีดการทำงานเร็วขึ้นแล้ว ยังส่งสัญญาณไปยังคนรุ่นใหม่ด้วยว่า ถ้าคุณมีความสามารถ คุณจะได้รับโอกาส”

การโปรโมต “คน” ไม่ได้พิจารณาจาก “เวลา” ที่อยู่กับองค์กรอีกต่อไป แต่พิจารณาจากศักยภาพและความสามารถเป็นหลัก ไม่มากก็น้อยจะช่วยดึงดูดให้คนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถอยู่กับองค์กรนานขึ้น

ตอกย้ำว่า “เอไอเอส” พร้อมผลักดัน และให้โอกาสคนรุ่นใหม่เติบโตเร็วขึ้น เพราะการแข่งขันในสังเวียนธุรกิจในอนาคต จุดแพ้ชนะอยู่ที่ “คน”

การสร้าง “คนเอไอเอส” รุ่นใหม่เป็นอีกความตั้งใจในฐานะ “ซีอีโอ” นอกเหนือไปจากการสร้างอีโคซิสเต็มโมเดลให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ เติบโตไปพร้อมกันได้

ถามว่า “คน” ที่ “เอไอเอส” และหรือองค์กรส่วนใหญ่ต้องการ ควรจะมีคุณสมบัติแบบไหน

“กานติตา เลอเลิศยุติธรรม” หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล “เอไอเอส” บอกว่า คำตอบคือคนที่มีความรับผิดชอบต่อการพัฒนาตนเอง และเปิดใจรับในเรื่องของความแตกต่างได้

สิ่งสำคัญในยุคต่อไปอยู่ที่ข้อมูล และความพร้อมของพนักงานในการพัฒนาศักยภาพตนเอง คนขยันและมีความรับผิดชอบในการ up skill ตนเอง จะอยู่ภายใต้ความท้าทายได้ดี แต่องค์กรยุคใหม่ต้องไม่คาดหวังว่าพนักงานจะอยู่กับบริษัทไปตลอด แต่ต้องคิดใหม่และมองว่าในระหว่างที่อยู่กับบริษัท ไม่ว่าจะ 3 หรือ 5 ปี เขาทำงานทุ่มเทเต็มที่หรือไม่ การอยู่นานแต่ไม่สามารถ contribute ได้ ไม่ใช่คำตอบ


“อนาคตอาจไม่เห็นคนทำงานในออฟฟิศมาก แต่วัดกันที่ productivity ต้องมีบทลงโทษที่ชัดเจนสำหรับคนที่ไม่ทำงาน พนักงานที่เก่ง และดีจะ speed ไปได้เลย ไม่ต้องรอเรื่องอายุงานแล้ว การดูแลคนต้องต่างกัน จะตอบ next generation ได้ดีกว่า เพราะเขาต้องการความชัดเจน”