ภัยแล้ง ดับเครื่องยนต์ฐานราก-เกษตร

DCIM100MEDIADJI_0152.JPG

บทบรรณาธิการ

ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง-ขนาดใหญ่ทั่วประเทศที่ลดลงต่อเนื่อง โดยเขื่อนขนาดกลางซึ่งมีอยู่ 412 แห่ง มีปริมาณน้ำ 31-50% รวม 130 แห่ง ส่วนเขื่อนขนาดใหญ่รวม 35 แห่ง มี 18 เขื่อนที่ปริมาณน้ำต่ำกว่า 30% และอีก 10 เขื่อนปริมาณน้ำ 31-50% ชี้ให้เห็นว่าปีนี้น้ำในเขื่อนลดลงจนน่าห่วง

พิจารณาเฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งต้องพึ่งพาน้ำจาก 4 เขื่อนหลัก คือ เขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยบำรุงแดน และป่าสักชลสิทธิ์ ณ วันที่ 18 ก.ค. 2562 มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 8,293 ล้าน ลบ.ม. หรือ 33% ของความจุอ่าง ในจำนวนนี้เป็นน้ำใช้การได้ 1,597 ล้าน ลบ.ม. หรือ 9% ของความจุอ่างเท่านั้น

เท่ากับพื้นที่ชลประทานทั่วประเทศมีปริมาณน้ำต้นทุนเพื่อรองรับการบริหารจัดการสำหรับการบริโภค การทำการเกษตร รักษาสภาพแวดล้อม และการคมนาคมขนส่ง ตั้งแต่หน้าฝนปีนี้ ถึงฤดูแล้งปี 2563 น้อยกว่าหลายปีที่ผ่านมา

ขณะที่ผลการวิเคราะห์ค่าดัชนีสมุทรศาสตร์ โดยสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ชี้ว่า ปริมาณฝนช่วงต้นฤดูปี 2562 จะน้อยกว่าปีปกติ ส่วนปริมาณฝนตลอดทั้งปีจะใกล้เคียงกับปี 2550วิกฤตแล้งกับปัญหาการขาดแคลนน้ำที่เห็นสัญญาณชัด เป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่อาจป้องกันได้ยาก วิธีดีที่สุดคือการเตรียมความพร้อมรับมือ และเร่งหาทางบรรเทาความเดือดร้อนจากผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับพื้นที่การเกษตร ทำปศุสัตว์ ประมง ฯลฯ

เพราะหากฤดูการผลิตนี้คนในระดับฐานราก ภาคการเกษตร ประสบภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำ เรือกสวนไร่นาเสียหาย จะยิ่งซ้ำเติมให้คนในชุมชนท้องถิ่นซึ่งที่ผ่านมาเผชิญปัญหาเรื่องรายได้ ผลพวงจากสินค้าเกษตรราคาตกต่ำต่อเนื่องย่ำแย่ลงอีก

ส่งผลต่อเนื่องทำให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจฐานรากสะดุดหยุดลง กระทบเศรษฐกิจในภาพรวมที่มีปัญหาจากสงครามการค้า ภาคส่งออก และท่องเที่ยวชะลอตัว ทำให้เศรษฐกิจเสี่ยงจะติดลบเพิ่ม

ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวนอกจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องบริหารจัดการน้ำอย่างเข้มข้น มีประสิทธิภาพสูงสุดแล้ว ที่ต้องดำเนินการควบคู่คือการช่วยเหลือดูแลประชาชนและเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ พร้อมชี้แจงทำความเข้าใจให้ทุกภาคส่วนตระหนักและให้ความสำคัญในการใช้น้ำ


เพราะสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป บวกภาวะโลกร้อน จะพึ่งพาธรรมชาติฝนฟ้าให้ตกต้องตามฤดูกาลคงยาก ทางเลือกเดียวคือการบริหารจัดการปัญหาก่อนวิกฤตจะมาเยือน ภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำจึงจะไม่บานปลายทำให้ฐานราก ภาคเกษตรเดือดร้อนหนักกว่านี้