ประคองตัวรับเศรษฐกิจขาลง

บทบรรณาธิการ

สัญญาณอันตรายเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจภายในประเทศพลิกกลับเป็นขาลงชัดเจนขึ้น หลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติแบบไม่เอกฉันท์ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 ต่อปี จาก 1.75 เหลือร้อยละ 1.50 ต่อปี เมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา

เพราะมองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ จากการส่งออกชะลอตัว เงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มต่ำกว่าขอบล่างของกรอบเป้าหมาย แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม

จากก่อนหน้านี้วันที่ 31 กรกฎาคม 2562 ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% เพื่อหนุนเศรษฐกิจสหรัฐให้สามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง สร้างแรงกดดันซ้ำสองทั้งกับ กนง.และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ถูกสมาคมองค์กรภาคเอกชนไทยเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย

โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นัดหมายยกคณะเข้าพบเพื่อหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น พร้อมยื่นข้อเสนอต่อผู้ว่าการ ธปท. หนึ่งในนั้นคือการเรียกร้องให้ ธปท.บริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา เนื่องจากที่เงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องทำให้ภาคส่งออกมีปัญหาหนัก

มติ กนง.ที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายสร้างเซอร์ไพรส์ให้กับตลาดจึงได้รับการขานรับจากหลายภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการส่งออกเช่นเดียวกับอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงจาก 30.757 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แตะ 30.880 บาท/ดอลลาร์

ส่วนการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังคงผันผวน แต่นักการเงิน นักวิเคราะห์ชี้ว่าผลประชุม กนง.จะหนุนให้นักลงทุนในประเทศลงทุนในตลาดหุ้น และเป็นปัจจัยบวกกับหุ้นหลายกลุ่มที่ได้รับอานิสงส์ และล่าสุดสภาหอการค้าเรียกร้องให้ ธปท.ช่วยดูแลค่าเงินบาทที่ยังแข็งค่า โดยให้ลดดอกเบี้ยนโยบายลงอีก

อย่างไรก็ตาม การพลิกสู่ขาลงของเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจภายในประเทศ ถือเป็นประเด็นที่สุ่มเสี่ยงอ่อนไหวและต้องจับตาอย่างมาก โดยเฉพาะปัญหาสงครามทางการค้าที่ยังยืดเยื้อ และกำลังขยายวงกลายเป็นสงครามค่าเงิน จากที่เงินหยวนอ่อนค่าลงเหลือ 7 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ

กรณีดังกล่าวภาครัฐจึงต้องเกาะติดสถานการณ์ รวมทั้งบริหารจัดการความเสี่ยง ลดผลกระทบที่น่าจะมีตามมาอีกหลายระลอก ขณะที่ภาคเอกชน ประชาชน ก็ต้องระมัดระวัง ไม่ผลีผลามใช้จ่ายหรือก่อหนี้

ที่สำคัญต้องเตรียมความพร้อมรับมือความผันผวน ประคับประคองตนเองให้อยู่รอดได้ท่ามกลางสารพัดปัจจัยลบช่วงเศรษฐกิจที่ยังไม่อาจประเมินได้ว่าจะยืดเยื้อยาวนานเท่าใด