ภาพลวงตา…ประกันรายได้

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ โดย กษมา ประชาชาติ

รัฐบาลคิกออฟโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวไป เมื่อวันที่ 15 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยรัฐบาลกำหนดราคาประกันสำหรับข้าวหอมมะลิ ตันละ 15,000 บาท, ข้าวหอมมะลินอกพื้นที่ ตันละ 14,000 บาท, ข้าวเหนียว ตันละ 12,000 บาท, ข้าวหอมปทุม ตันละ 11,000 บาท และข้าวเปลือกเจ้า ตันละ 10,000 บาท ภายใต้กรอบวงเงิน 21,000 ล้านบาท นับเป็นที่น่ายินดีที่ในรอบแรกมีเพียงแค่ 2 ชนิด คือ ข้าวเปลือกเจ้าและข้าวเปลือกปทุมธานีที่ได้รับชดเชย เพราะข้าวเปลือกเหนียว ข้าวเปลือกหอมมะลิ และข้าวเปลือกหอมจังหวัด ราคาตลาดสูงเกินกว่าราคาประกันจึงไม่ต้องชดเชย แต่ยังเหลือเวลาอีกหลายเดือนกว่าจะสรุปได้ว่าผลการดำเนินโครงการจะเป็นอย่างไร

ก่อนหน้านี้ได้เคยสัมภาษณ์นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ที่เชี่ยวชาญด้านข้าว ให้ความเห็นว่า “ประกันรายได้”

ดีต่อเกษตรกรในแง่ที่ทำให้มีรายได้แน่นอน แต่สำหรับอุตสาหกรรมข้าวแล้วไม่ใช่ว่าจะได้รับผลดีตามไปด้วย เพราะในห่วงโซ่การผลิตข้าวไทย เกษตรกรคือต้นน้ำ ห่วงโซ่ขั้นกลางอย่างโรงสี และห่วงโซ่ขั้นปลายอย่างผู้ส่งออกข้าว ไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้

ล่าสุดไม่ว่าจะต่อสายถึงผู้ส่งออกหรือโรงสีรายใด ต่างบ่นเป็นเสียงเดียวกันว่าตอนนี้ไม่มีตลาด นำมาสู่ปัญหาสภาพคล่อง

โดยแต่เดิมมีโรงสีในระบบจำนวนมาก และมีกำลังการผลิตสูงกว่าผลผลิตข้าวเปลือกแต่ละปีถึง 3 เท่า แต่ตอนนี้ธุรกิจโรงสีขาลง หลายร้อยรายติดคดีจากโครงการรับจำนำข้าว การขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินเป็นไปอย่างยากลำบาก ขณะที่ผู้ส่งออกก็มีสภาพไม่ต่างกัน

ทั้งนี้ ปกติไทยผลิตข้าวได้ 20 ล้านตันข้าวเปลือกขายภายในและส่งออกอย่างละ 10 ล้านตัน แต่ปีนี้ยอดส่งออกข้าว 8 เดือนแรกหดตัว 26.34% เหลือ 5.35 ล้านตัน

จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ได้ 7 ล้านตันเศษ รายได้จากการส่งออกหายไปด้วย หากไทยต้องการบรรลุเป้าหมายยอดส่งออกที่วางไว้ 9 ล้านตัน เท่ากับไตรมาส 4 ไทยจะต้องส่งออกให้ได้ 3.65 ล้านตัน หรือเฉลี่ยเดือนละ 1.2-1.3 ล้านตัน “โอกาสเป็นไปได้น้อยมาก” แม้จะเคยเห็นไทยทำได้สูงสุดเฉลี่ยเดือนละ 1 ล้านตัน แต่ตอนนี้เหลือ 4-5 แสนตันเท่านั้น

นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยเล่าว่า ก่อนหน้านี้ ไทยเคยส่งออกได้สูงสุด 11 ล้านตัน นั่นเพราะเรามีสต๊อกข้าวเก่าจากโครงการรับจำนำของรัฐบาลมาสู้ จึงสามารถส่งออกข้าวเก่าที่มีราคาถูกไปขายแข่งในตลาดโลกได้ ยอดส่งออกปกติทำได้ 9 ล้านก็ขยับขึ้นไปสูงสุด 11 ล้านตัน แต่ตอนนี้ไม่มีสต๊อกข้าวเก่าอีกแล้ว ไทยจำเป็นต้องวางกลยุทธ์ระยะยาวหากไม่มีแผนเชื่อว่าอีก 3-5 ปี ต้องรีไทร์อาชีพแน่

วิกฤตส่งออกที่เกิดขึ้นนี้ ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยหลัก คือ ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 1 บาทเศษจากปีก่อน ราคาข้าวไทยจึงดีดตัวแพงกว่าคู่แข่งตันละเกือบ 100 เหรียญ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าข้าวยังเป็นสินค้าที่แข่งขันด้วยราคาเป็นหลัก ดังนั้น เมื่อข้าวไทยแพง ทำให้คู่ค้าหันไปหาคู่แข่ง โดยเฉพาะคู่แข่งสำคัญอย่างเวียดนาม

แต่ที่น่าห่วงที่สุด คือ “เวียดนาม” ถีบตัวเองขึ้นมาจากผู้ผลิตข้าวขาว เกรดรอง ๆ เมื่อ 15 ปีก่อน มาเป็นเวียดนามยุคใหม่ ที่มีข้าวสายพันธุ์ใหม่นับ 10 ชนิด ที่มีคุณภาพดี พื้นนุ่ม ราคาถูกกว่าข้าวหอมมะลิไทยถึงตันละ 500 เหรียญ เช่น ข้าวนางฮวา, ST21, ST24, DT8 เป็นตัวไฟเตอร์ ขณะที่พี่ไทยก็ยังคงมุ่งขายข้าวหอมมะลิไทยพรีเมี่ยมตันละ 1,200 เหรียญ ซึ่งเหนือคู่แข่งจริง แต่มาร์เก็ตแชร์กำลังลดลงเรื่อย ๆ เพราะผู้ซื้อไม่มีเงินซื้อข้าวแพง เช่น ตลาดฮ่องกงลดลงจาก 60% เหลือ 50%

หากถามว่าไทยไม่มีการพัฒนาข้าวสู้หรือ จริง ๆ ก็พอมี เช่น มีข้าวหอมปทุมธานีที่เกรดดีกว่าข้าวขาวพื้นนิ่มของเวียดนาม และราคารองจากมะลิของไทย ตันละ 700 กว่าเหรียญพอสู้ได้ ส่วนการพัฒนาข้าวสายพันธุ์ใหม่เพื่อสู้ ผู้ส่งออกถึงขั้นส่ายหน้า เพราะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3-5 ปี ตั้งแต่พัฒนาพันธุ์ ทดลองปลูกอย่างน้อย 2 รอบการผลิต ก่อนวางตลาด ซึ่ง “คงไม่ทันการ”

และที่สำคัญ หากมีการปรับเปลี่ยนรัฐบาล นโยบายก็สะดุดอีกและพลิกโผอีกในปีนี้ คือ “จีน” เดิมเป็นผู้นำเข้าข้าวของโลก แต่ปีนี้ผันตัวมาเป็นผู้ส่งออกซะเอง เนื่องจากจีนมีสต๊อกข้าวเก่ากว่า 100 ล้านตัน ดัมพ์ไปตลาดแอฟริกาซึ่งเป็นตลาดข้าว

เบอร์ 1 ของไทย ขณะเดียวกัน จีนซึ่งเคยนำเข้าข้าวจากชายแดนเวียดนามก็ปิดประตูลดการนำเข้าลงด้วยปัญหาทะเลจีนใต้ ประเด็นนี้ยังส่งผลให้เวียดนามมีข้าวเหลือจำนวนมาก ผลคือ เวียดนามดัมพ์ขายแข่งไทยในตลาดต่าง ๆ เช่น ตลาดมาเลเซีย และล่าสุดฟิลิปปินส์ที่เพิ่งเปิดเสรีนำเข้า ได้เพิ่มการนำเข้าข้าวเวียดนามจาก 3 แสนตัน เป็น 1.3 ล้านตัน จากเดิมจะนำเข้าประเทศละ 3 แสนตันเท่ากัน

หรือแม้แต่ตลาดอิรัก ที่เวียดนามบุกเข้าจอยต์เวนเจอร์ในช่วงที่ไทยถูกตัดญาติขาดมิตรจากตลาดนี้เมื่อ 10 ปีก่อน ผลพวงจากบริษัทที่อื้อฉาวในการทุจริตโครงการจีทูจี ส่งข้าวคุณภาพต่ำไปขายอิรัก ไทยจึงเสียตลาดข้าวชั้นดีปีละหลายแสนตันไป

ฉะนั้น อย่าเหลิงกับภาพลวงตาที่ชื่นมื่นวันนี้ วันที่เกษตรกรมีรายได้จากประกันรายได้มาซัพพอร์ต ไม่ต้องรับแรงกดดันจากตลาดโลกซบเซา ถึงเวลาที่ต้องตื่นและยอมรับความจริง เร่งแก้วิกฤตส่งออกและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างเร่งด่วน ไม่เช่นนั้นต้องลองนึกภาพอนาคต ถ้าสินค้าท่วมประเทศไม่มีทางออก ราคาดิ่งลง รัฐบาลต้องเตรียมงบประมาณอีกเท่าไรถึงจะเพียงพอ ที่จะรักษาภาพลวงตานี้