โลกใบใหม่แห่งความเหลือเฟือ เมื่อมนุษย์ไม่ต้องทำงาน

คอลัมน์ ช่วยกันคิด
โดย ศ.ดร.วรศักดิ์ กนกนุกุลชัย ราชบัณฑิต

ในปี 2019 ที่กำลังจะผ่านไปนี้ ผมได้ติดตามความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ของพัฒนาการปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) จากผู้เชี่ยวชาญระดับโลก ทั้งผ่านทางยูทูบและจากหนังสือเบสต์เซลเลอร์หลายเล่ม แม้ผู้เชี่ยวชาญด้านเอไอหลาย ๆ คนจะมองประเด็นขีดความสามารถละความน่ากลัวของเอไอแตกต่างกันไป แต่มีประเด็นหนึ่งที่ผู้เชี่ยวชาญทุกคนจะมีความเห็นตรงกัน คือ ภายใน 20-30 ปีหรือเร็วกว่านั้น ผลจากการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเอไอจะทำให้งานต่าง ๆ ของมนุษยชาติต้องถูกแทนที่ด้วยระบบเอไอ หรือต้องอาจล้าสมัยหายไปอย่างยกแผง ต่อจากนั้นเครื่องจักรหุ่นยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยเอไอจะทำหน้าที่เสมือนชนชั้นแรงงานของโลกเพื่อผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคให้แก่สิ่งมีชีวิตทั้งมวล

ในการเปลี่ยนแปลงของอารยธรรมมนุษย์ตั้งแต่ยุคเกษตรกรรมที่มนุษย์ต้องใช้แรงงาน มีแต่สัตว์เลี้ยงและเครื่องผ่อนแรงง่าย ๆ ที่นำมาช่วยทำการเกษตรแบบวันต่อวัน ต่อมาในยุคที่สองซึ่งเริ่มราวศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในนามการปฏิวัติอุตสาหกรรม สิ่งสำคัญที่สุดคือการแทนที่พลังกล้ามเนื้อของมนุษย์ในสมการแรงงานด้วยเครื่องมือเครื่องจักร โดยเฉพาะเครื่องจักรไอน้ำ แต่เครื่องมือเครื่องจักรเหล่านี้แม้จะสามารถทำงานหนักเทียบเท่ากับแรงงานคนเป็นพันเป็นหมื่น แต่ก็ยังต้องอาศัยพลังสมองของมนุษย์ในการวางแผนและในกระบวนการทำงาน

ต่อมาในยุคที่สามเรียกว่า ยุคดิจิทัล ได้เริ่มต้นด้วยการถือกำเนิดของอุปกรณ์กึ่งตัวนำ และการปฏิวัติไมโครชิป ตามด้วยการเติบโตแบบเอ็กซ์โพเนนเชียลของไมโครโปรเซสเซอร์ กระบวนการผลิตต่าง ๆ และการบริหารได้อาศัยระบบคอมพิวเตอร์ ทำให้สามารถทำงานที่มีความสลับซับซ้อนอย่างเป็นระบบ จากนั้นก็จะถึงยุคที่เรียกว่า ยุคปัญญาประดิษฐ์ ในยุคนี้ระบบทำงานอย่างอัตโนมัติของหุ่นยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยเอไอ จะสร้างนวัตกรรมเปลี่ยนโฉมโลกอย่างรวดเร็ว โดยบูรณาการเทคโนโลยีหลาย ๆ อย่างเข้าด้วยกัน เพื่อแทนที่สมองมนุษย์ เช่น อัลกอริทึมการเรียนรู้เชิงลึกของระบบประสาท

ในขณะที่มวลมนุษย์ยังคุ้นเคยกับการต้องมีงานทำ หลายคนเริ่มจะกังวลเกี่ยวกับงานที่ทำอยู่ว่า วันหนึ่งอาจหายไปจากสารบบ หรืออาจถูกหุ่นยนต์เอไอแย่งงานไปในอนาคต เพราะส่วนใหญ่เชื่อกันว่า การไม่มีงานทำจะทำให้ขาดศักดิ์ศรีของการเป็นมนุษย์ นี่ยังไม่นับถึงความเสี่ยงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีเอไอ เช่น ถ้าสักวันหนึ่งหุ่นยนต์เอไอสามารถเรียนรู้ที่จะมี “จิตสำนึก (consciousness)” ของตนเอง เป้าหมายเขาจะขัดแย้งกับมนุษย์หรือไม่

Dr.Ray Kurzweil ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรมของ Google ที่เคยพยากรณ์อนาคตอย่างแม่นยำใน 30 ปีที่ผ่านมา ได้ยกตัวอย่างกรณีเอไอตัวตนหนึ่ง ที่ชื่อว่า AlphaGo Zero ซึ่งถูกประดิษฐ์ให้สามารถเรียนรู้การเล่นหมากล้อมโกะด้วยตัวเอง โดยได้รับรู้เพียงกฎกติกาของเกมหมากล้อม และไม่มีการฝึกหัดให้โดยมนุษย์เป็นพี่เลี้ยง แต่ปล่อยเอไอชุดนี้เล่นเกมหมากล้อมระหว่างกันเองทั้งวันทั้งคืน ภายในเวลา 3 วัน AlphaGo Zero ได้พัฒนาฝีมือการเล่นหมากล้อมจนมีขีดความสามารถสูงสุดเท่าที่มีในโลก โดยสามารถเอาชนะเอไอตัวเดิม คือ AlphaGo ที่เคยปราบแชมป์โลกหมากล้อมอย่างราบคาบ 100-0 เกม

เป็นการแสดงให้เห็นว่า ถ้าเอไอเรียนรู้ด้วยตัวเองนอกกรอบปัญญาของมนุษย์แล้ว เอไอสามารถสร้างขีดความสามารถเหนือกว่ามนุษย์อย่างมากมาย จากประสบการณ์นี้หลายคนยิ่งเป็นห่วงว่า สักวันหนึ่งเอไอคงสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเอง และทำได้แม้กระทั่งการสร้าง “จิตสำนึก” ให้ตนเอง

ดังนั้น ผู้เชี่ยวชาญหลายคนจึงมองพัฒนาการด้านเทคโนโลยีเอไอด้วยความเป็นห่วงต่อมนุษยชาติในอนาคต จึงมีการใช้คำว่า AI-pocalypse [1] (ซึ่งเลียนแบบมาจากคำว่า apocalypse) ซึ่งหมายถึงเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับการทำลายล้างอันเกิดจากหุ่นยนต์เอไอ เช่น การที่ AI สามารถเข้าครอบครองและทำสิ่งที่เลวร้ายต่อมนุษยชาติ และมีการใช้คำว่า economic AI-pocalypse หมายถึง สถานการณ์ที่หุ่นยนต์เอไอจะทำให้มนุษย์ตกงานเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มองในเทคโนโลยีมุมบวกเชื่อว่าการพัฒนาเทคโนโลยีเอไอมาช่วยงานมนุษย์ อาจเกิดสภาวะที่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์มนุษยชาติที่มนุษย์ในโลกทุกคนจะมีโอกาสเท่าเทียมกัน คือ สามารถอยู่รอดได้โดยไม่ต้องทำงาน เพื่อรับผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ กล่าวคือ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเอไอ ทำให้มนุษยชาติสามารถยกเลิก “ระบบการทำงาน เพื่อเศรษฐกิจ” โดยจะค่อย ๆ แทนที่ด้วยระบบการแบ่งปันรายได้ที่เท่าเทียมกัน หลายคนชี้ว่า ที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ การที่มนุษย์ต้องทำงานหาเงิน ล้วนเป็นบ่อเกิดแห่งการแสวงหาผลประโยชน์โดยมนุษย์ต่อมนุษย์ ส่งผลให้เกิดความขัดแย้ง ความอยุติธรรม และความไม่เท่าเทียมกันของสังคมมนุษย์ทุกยุคทุกสมัย

ระบบการผลิตอัตโนมัติด้วยเอไอนี้ สามารถทำให้เรามีโลกใบใหม่ที่การผลิตทุกอย่างไม่ต้องมีการใช้แรงงานและแรงสมองมนุษย์เกือบทั้งหมด (ที่นักประพันธ์ Noah Yuval Harari เรียกว่า ชนชั้น useless class) ยกเว้นกลุ่ม “super elite class” จำนวนหนึ่งที่มีอยู่ในประเทศมหาอำนาจยุคเอไอ ซึ่งทำหน้าที่ออกแบบสร้างและควบคุมระบบเอไออีกทีหนึ่ง

ขั้นตอนในการจะก้าวไปสู่สภาวะที่สมดุลของมนุษยชาติ คือ การต้องลดชั่วโมงการทำงานอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเป้าหมายสูงสุดคือการยกเลิกการจ้างแรงงานอย่างสมบูรณ์ และจะต้องมีระบบการกระจาย “รายได้ขั้นพื้นฐานสากล” หรือ “universal basic income (UBI)” ให้แก่มนุษย์ทุกคนในโลกตามกติกาโลกใบใหม่นี้ เพื่อให้คนทุกคนสามารถตอบสนองต่อความต้องการขั้นพื้นฐานโดยไม่มีเงื่อนไข

การเริ่มให้ UBI จะช่วยส่งเสริมให้ประชากรส่วนใหญ่ที่ยังมีงานทำอยู่ พร้อมที่จะออกจากงานซึ่งจะส่งผลในเชิงบวกต่อกระบวนการการผลิตแบบอัตโนมัติที่ขับเคลื่อนโดยเอไอครบวงจรได้ทั้งหมด


หลักการที่อยู่เบื้องหลัง UBI คือ ผลพวงแห่งความก้าวหน้าในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สะสมมาในสังคมมนุษย์ ไม่สมควรที่จะรวมอยู่ในมือของคนกลุ่มเดียว ผลประโยชน์จากเทคโนโลยีเอไอควรแบ่งปันให้กับสมาชิกของมนุษยชาติอย่างเท่าเทียมกัน เป็นการเปิดโอกาสให้มนุษยชาติมีอิสรภาพทางเศรษฐกิจ