3 ภารกิจหลักสู้ภัยแล้งปี’62/63

คอลัมน์ ช่วยกันคิด

โดย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

สถานการณ์ภัยแล้งปี 2562/2563 ซึ่งคาดว่าจะรุนแรงและยาวนานกว่าหลายปีที่ผ่านมา นอกจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจะส่งสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้าเป็นระยะ ๆแล้ว ล่าสุดกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) ได้สั่งการให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ทุกจังหวัดปรับแผนเผชิญเหตุภัยแล้งทั้งในภาพรวม และเฉพาะเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการการทำงาน โดยดำเนินการตามแนวทาง ดังนี้ 1.ใช้กลไกระบบบัญชาการเหตุการณ์ตามกฎหมายและแผนว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในการมอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มภารกิจหลัก ประกอบด้วย

– กลุ่มพยากรณ์ โดยมีคณะทำงานติดตามสถานการณ์ของศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัด ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานด้านการคาดการณ์สภาพอากาศ และหน่วยงานด้านการบริหารจัดการน้ำ ตลอดจนฝ่ายปกครองในพื้นที่ ทำหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ สภาพน้ำท่า และระดับน้ำในแหล่งเก็บน้ำขนาดต่าง ๆ ในพื้นที่อย่างใกล้ชิด เพื่อวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์น้ำต้นทุน และความต้องการใช้น้ำในด้านต่าง ๆ โดยหากมีแนวโน้มเกิดการขาดแคลนน้ำในกรณีต่าง ๆ ทั้งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศ เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม ให้เร่งเสนอผู้มีอำนาจตามกฎหมายในการสั่งการหน่วยงานเข้าดำเนินการแก้ไขปัญหาในทันที

– กลุ่มบริหารจัดการน้ำ โดยดำเนินการในรูปแบบคณะกรรมการ/คณะทำงานของจังหวัด มีหน่วยงานด้านการบริหารจัดการน้ำเป็นฝ่ายเลขานุการ เพื่อให้การวางแผนการใช้น้ำในลักษณะต่าง ๆ ทั้งเพื่อการอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศ เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม รวมทั้งการกำหนดแนวทางในการระบายน้ำ และกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ เป็นไปอย่างครอบคลุม สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่

– กลุ่มปฏิบัติการแก้ไขปัญหาหากขาดแคลนน้ำ โดยบูรณาการหน่วยปฏิบัติการจากทั้งฝ่ายพลเรือน หน่วยทหาร ตลอดจนภาคเอกชน เข้าดำเนินการแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหากรณีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคของประชาชนเป็นอันดับแรก พร้อมทั้งกำหนดแบ่งพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบ และมอบหมายหน่วยงาน/ภารกิจ ตลอดจนหน่วยสนับสนุนให้ครอบคลุมในแต่ละพื้นที่

2.ให้สำรวจตรวจสอบพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค พร้อมทั้งกำหนดมาตรการรับมือ อาทิ การจัดทำแผนสำรองน้ำ การหาแหล่งน้ำสำรอง การขุดเจาะบ่อน้ำบาดาลในพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำดิบ การขุดขยายสระพักน้ำดิบเพื่อสำรองปริมาณน้ำในการอุปโภคบริโภค รวมถึงการสูบส่งน้ำจากแหล่งน้ำใกล้เคียงไปยังระบบการผลิตน้ำประปา และให้กำหนดพื้นที่ที่เหมาะสม เป็นพื้นที่นำร่องการพัฒนาพื้นที่รับน้ำ (แก้มลิง) ชั่วคราวที่มีอยู่ในปัจจุบันให้เป็นพื้นที่กักเก็บน้ำถาวร ตลอดจนการพิจารณาจัดทำธนาคารน้ำใต้ดินที่มีการควบคุมคุณภาพน้ำที่กักเก็บให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน มีความสะอาด ปลอดภัยเพียงพอสำหรับการใช้ประโยชน์

3.ในส่วนของการจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตร ให้สนับสนุนมาตรการควบคุมการใช้น้ำในพื้นที่โดยความร่วมมือไม่ให้เกษตรกรทำการปิดกั้นลำน้ำ หรือสูบน้ำเข้าพื้นที่การเพาะปลูกตามแผนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อลดผลกระทบการขาดแคลนน้ำด้านอุปโภคบริเวณในพื้นที่ พร้อมทั้งประสานกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการจัดทำฝนหลวงในพื้นที่เมื่อสภาวะอากาศเอื้ออำนวย เพื่อกักเก็บน้ำในแหล่งน้ำต่าง ๆ ให้ได้มากที่สุด

4.เฝ้าระวังและควบคุมไม่ให้มีการปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำ คู คลอง หรือแหล่งน้ำต่าง ๆ เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำดีไล่น้ำเสีย

5.รณรงค์ประชาสัมพันธ์และสร้างการรับรู้ให้ประชาชนภาคส่วนต่าง ๆ มีส่วนร่วมในการประหยัดน้ำ และทราบถึงมาตรการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐ รวมถึงเชิญชวนประชาชนจิตอาสาในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการก่อสร้าง/ซ่อมแซมแหล่งกักเก็บน้ำขนาดเล็ก ปลุกจิตสำนึกให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่า