เพิ่มโปรดักทิวิตี้สร้างภูมิคุ้มกันเศรษฐกิจ

วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

บทบรรณาธิการ

เศรษฐกิจที่วิกฤตรอบด้านกระทบคนไทยทุกภาคส่วน ธุรกิจ ประชาชนทั่วไปลำบากถ้วนหน้า ต่างกันแค่ความรุนแรงของปัญหา และความสามารถในการรับมือ

โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายกลาง รายเล็ก (SMEs) ถูกกระทบหนักกว่ารายใหญ่ เช่นเดียวกับคนระดับกลาง ระดับล่าง มนุษย์เงินเดือน ที่อยู่ในสภาพชักหน้าไม่ถึงหลัง เทียบกับคนระดับบนต่างกันลิบ

หากวิกฤตลากยาว ปัจจัยลบยังประดังเข้ามาซ้ำปัญหาเศรษฐกิจโลก สงครามการค้า พิษไวรัสโควิด-19 ที่ยังลามไม่หยุด จะยิ่งฉุดเศรษฐกิจ กำลังซื้อทั่วโลกทรุดลงหนักกว่าที่เป็นอยู่ขณะนี้

หากเป็นอย่างนั้น แนวโน้มที่วิกฤตจะคลี่คลายได้ในเร็ววันคงเป็นไปได้ยาก การจัดทำมาตรการช่วยเหลือเยียวยาที่ภาครัฐเตรียมทยอยประกาศเพื่อลดผลกระทบและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการ ช่วยเหลือเยียวยาเพื่อประคับประคองกลุ่มคนที่กำลังยากลำบาก อาจจำเป็นต้องทำแต่ควรดำเนินการในขอบเขตจำกัด

ขณะเดียวกัน ก็ต้องเร่งสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการประชาชนทั่วไป เป็นภูมิคุ้มกันให้สามารถพึ่งพาตนเองอย่างมั่นคง ยั่งยืนได้ จากที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการประจำ ฝ่ายการเมือง มุ่งเน้นแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในระยะสั้น

แนวทางหนึ่ง คือ การเพิ่มผลิตภาพ หรือ productivity ซึ่งจะส่งผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ การสร้างรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยในระยะยาว ด้วยการปลดล็อกข้อจำกัด 5 มิติหลัก ที่นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้ให้เห็นถึงปัญหาใหญ่ที่ไทยกำลังเผชิญ

1.ผลิตภาพโดยรวมต่ำ สวนทางกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสามารถในการทำงานดีขึ้น เก่งขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยใช้ทรัพยากรเท่าเดิม 2.แรงงาน 1 ใน 3 หรือ 28 ล้านคนของไทย อยู่ในภาคเกษตรที่มีผลิตภาพต่ำ 3.ปัญหาช่องว่างผลิตภาพระหว่างผู้ประกอบการรายใหญ่ กับ SMEs 4.กฎเกณฑ์ที่ซ้ำซ้อน ล้าสมัย และ 5.นโยบายรัฐไม่เอื้อต่อการพัฒนาผลิตภาพ

โดยผู้ว่าการ ธปท.เสนอทางแก้ให้เร่งเพิ่มผลิตภาพ โดยเน้นที่ผู้ประกอบการรายย่อย แรงงานทักษะต่ำ การนำเทคโนโลยีมาใช้ ลดอุปสรรคกระบวนการทำงานภาครัฐ ให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพ ส่วนมาตรการช่วยเหลือเยียวยาระยะสั้นควรทำเท่าที่จำเป็น

ที่สำคัญ การเพิ่มผลิตภาพต้องทำในทุกระดับ ยกเลิกกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศควบคู่กัน ไทยจึงจะมีโปรดักทิวิตี้เพิ่ม เป็นภูมิคุ้มกันให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมั่นคง ยั่งยืนได้