“ความเชื่อ” กับ “ความจริง”

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย อมร พวงงาม

 

ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา “ตะลึง” กันทั้งวงการอุตสาหกรรมยานยนต์

กับปฏิบัติการสายฟ้าแลบ เจนเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม)ประกาศยุติการจัดจำหน่ายรถยนต์เชฟโรเลตในตลาดประเทศไทยภายในสิ้นปี 2563

พร้อมทั้งถอนตัวออกจากตลาดด้วยการขายศูนย์การผลิตรถยนต์และเครื่องยนต์ของจีเอ็ม ประเทศไทย ในจังหวัดระยองให้แก่ “เกรท วอล มอเตอร์ส” ยักษ์ใหญ่อุตฯรถยนต์จากจีน

และประกาศความช่วยเหลือจากผลกระทบครั้งนี้ให้กับ 3 กลุ่มใหญ่ ๆ 1.พนักงาน 2.คู่ค้า 3.ลูกค้า

แถลงการณ์ของจีเอ็มเขียนไว้สวยหรูมาก ๆ

ยืนยันจะมอบแพ็กเกจเงินชดเชยให้กับพนักงานที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด ในจำนวนที่มากกว่ากฎหมายแรงงานไทยกำหนด

ขณะที่ผู้จัดจำหน่ายรถยนต์เชฟโรเลตจะได้รับการเสนอโปรแกรมการช่วยเหลือพิเศษในการปรับเปลี่ยนธุรกิจอย่างเหมาะสม

หลังจากที่ร่วมเป็นคู่ค้ากันมาอย่างยาวนาน รวมถึงโอกาสในการเปลี่ยนธุรกิจของตนให้เป็นศูนย์บริการที่ได้รับการแต่งตั้งจากเชฟโรเลต

พร้อมให้คำมั่นสัญญาว่าจะดูแลและให้บริการลูกค้าต่อไป

เจ้าของรถยนต์เชฟโรเลตมั่นใจได้ว่าจะยังคงได้รับการปฏิบัติตามการรับประกันคุณภาพรถยนต์ทุกคัน

และให้บริการหลังการขายผ่านเครือข่ายในประเทศไทย

พร้อมให้เบอร์โทรศัพท์ติดต่อไว้ด้วย ศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์ โทร.1734

นี่คือบางส่วนจากข่าวที่ค่ายจีเอ็มป่าวประกาศ

ผมเข้าใจว่าคนอ่านข่าวแล้วก็คงเชื่อตามนั้น

ไม่งั้น แคมเปญเชฟโรเลตฮอตดีลที่ลดราคาแคปติวา ใหม่ รุ่น LS 5 ที่นั่ง ลดราคาจาก 999,000 บาท เหลือเพียง 499,000 บาท

โคโลราโด เทรล บอส จาก 859,000 บาท เหลือเพียง 655,000 บาท, โคโลราโด ไฮ คันทรี จาก 998,000 บาท เหลือเพียง 775,000 บาท

และเทรลเบลเซอร์ รุ่น LT จาก 1,144,000 บาท เหลือเพียง 895,000 บาท

ทั้งหมดรับประกัน 3 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร มีศูนย์บริการและอะไหล่แท้มาตรฐานจากเชฟโรเลต มีบริการช่วยเหลือฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง

คนจะแห่กันไปจับจองแน่นโชว์รูมเชฟโรเลต ขายกันคืนเดียวสต๊อก4 พันคันเกลี้ยง

เคสของจีเอ็มและเชฟโรเลต ผมนั่งจับเข่าคุยกับตัวแทนจำหน่ายรถยนต์หลาย ๆ แบรนด์ในบ้านเรา

มีมุมมองน่าสนใจเยอะเลย ลองคิดตามดูนะครับ

“จีเอ็มจะยังคงให้บริการผ่านศูนย์บริการที่ได้รับการแต่งตั้งจากเชฟโรเลต”

ประโยคนี้แปลว่าอะไรครับ ?

แปลเป็นไทยง่าย ๆ คือ จีเอ็มเทครับ จีเอ็มไม่ลงทุนใด ๆ ทั้งสิ้นแล้ว เพราะถอนยวงออกจากตลาดประเทศไทยไปแล้ว

คนลงทุนคือคนที่จีเอ็มแต่งตั้ง

ศูนย์ที่จะให้บริการลูกค้า คือศูนย์ที่นักลงทุนหรือดีลเลอร์เป็นคนใส่เงิน จ้างคน เตรียมอะไหล่ เตรียมสถานที่

ลักษณะเหมือนศูนย์ฟาสต์ฟิตที่มีอยู่ในบ้านเรา แต่ซ่อมยี่ห้อเดียว ไม่มีรายได้อื่น ๆ จากการขายรถ ขายประกันภัย ขายชุดแต่ง และคอมมิสชั่นอื่น ๆ ฯลฯ

มุมมองที่หลายคนคิด คือ ใครจะบ้ามาลงทุนให้บริการรถยี่ห้อเดียว แค่ค่าเช่าสถานที่ ค่าจ้างพนักงาน ค่าน้ำค่าไฟ เดือนหนึ่ง ขี้หมูขี้หมาต้องมี 3 แสนเป็นอย่างน้อย

คร่าว ๆ ปีละ 4 ล้าน ตัวเลขกลม ๆ นี่ยังไม่รวมค่าแบกสต๊อกอะไหล่

ที่ต้องจมเงินลงไปแบบไม่เห็นอนาคต

ประชากรรถเชฟโรเลตในไทย มีแค่หลักไม่กี่แสน ไม่ถึงล้านคัน

พูดจริง ๆ นะครับ ถ้าเทียบกับรถที่หาอะไหล่ง่าย ๆ ปริมาณรถขนาดนี้ถือว่าน้อย

เชื่อว่าไม่มีใครกล้าลงทุนเพื่อจะมาผลิตอะไหล่ป้อนตลาดแน่นอน

มันไม่คุ้ม

อะไหล่มือ 2 เชียงกงก็ไม่มี

มาดูตัวเลขคร่าว ๆ ให้เห็นภาพกันครับ ประชากรรถแสนคัน สต๊อกอะไหล่ 1% ของประชากรรถ ก็ต้องสต๊อกอะไหล่ไว้ 1,000 คัน คิดเป็นเงินค่าอะไหล่ เช่น ไดชาร์จ ไดสตาร์ต ช่วงล่าง เพลาขับ เบรก ฯลฯ ตีต่ำ ๆ แบบสุด ๆ เอาแค่คันละ 2 หมื่นบาท

ต้องลงทุนอย่างน้อย 20 ล้านบาทต่อรถแสนคัน เพื่อเก็บอะไหล่รถที่ไม่มีอนาคตในตลาด

คำถาม คือ ใครจะลงทุน ใครจะเช่าโกดังเก็บอะไหล่ พนักงานขึ้นกับบริษัทอะไร

เพราะบริษัทแม่ถอนทุนไปหมดแล้ว

โกยกำไรกลับบ้านไปรึป่าวยังไม่มีข้อมูล

อะไหล่เครื่องยนต์ต่าง ๆ อาจจะพอหาทดแทนได้ แต่รับรองว่าไม่ง่าย

แต่ที่หนักกว่า คือ อะไหล่ตัวถัง ไฟหน้า ไฟท้าย ต้องบอกว่าใส่แทนกันไม่ได้ รถใครรถมัน ยิ่งรถมีประชากรน้อย ของทดแทนยิ่งไม่มี

ชนปุ๊บ ทิ้งรถปั๊บเลยนะครับ

มีคำถามว่า

ถ้าคุณเป็นนักลงทุน เป็นดีลเลอร์รายเก่า คุณจะไปต่อกับธุรกิจนี้หรือไม่

จะใส่เงินปีละ 4 ล้านเพื่อธุรกิจที่ไม่เห็นอนาคตหรือไม่ ?

ขนาดบริษัทแม่ยังเท แล้วลูก ๆ จะเหลือหราครับ ????

ผมนั่งฟังคิดตาม…เออจริง เริ่มรู้สึก สงสารลูกค้ามาก ๆ

ต้องมาอยู่กับรถรักเจ้าของไปตลอดชีวิต

แถมซื่อสัตย์ไม่ยอมไปไหน

อยู่คู่โรงรถที่บ้านไปจนวันตาย

แล้วแต่ใครจะตายก่อนกันเท่านั้น ?