โควิด-19 ไวรัสหยุดโลก

Tourists wearing protective masks walk at Suvarnabhumi Airport in Bangkok, Thailand, 29 January 2020. (Photo by Anusak Laowilas/NurPhoto via Getty Images)

ช่วยกันคิด โดย ดร.อนันตโชค โอแสงธรรมนนท์ /ดร.นพ.วรสิทธิ์ ศรศรีวิชัย

 

ช่วงนี้สิ่งที่หลายคนทำทุกวัน คือ การดูตัวเลข 4 ตัว สองตัวแรกคือ จำนวนผู้ที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2019 (SARS-CoV-2) ที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 และจำนวนผู้เสียชีวิตจากไวรัสนี้ทั่วโลก สองตัวหลังคือ จำนวนผู้ติดเชื้อ และจำนวนผู้เสียชีวิตจากไวรัสนี้ที่ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการ

ในประเทศไทย ณ เช้าวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นวันที่ส่งบทความนี้ ตัวเลขเหล่านี้เท่ากับ 101,781 3,460 48 และ 1 ตามลำดับ และมีประเทศที่พบผู้ติดเชื้ออย่างเป็นทางการแล้ว 98 ประเทศ ขณะนี้โควิด-19 กลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจและมีอิทธิพลมากที่สุดในโลก ซึ่งไม่บ่อยครั้งนักที่สถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งจะส่งผลกระทบในวงกว้างจนทำให้โลกทั้งใบต้องหยุดเพื่อหันมารับมืออย่างจริงจังโดยที่ไม่รู้ว่าสถานการณ์นั้นจะสิ้นสุดเมื่อไหร่

รู้จักโรค รู้จักโลก

คำถามที่น่าสนใจสำหรับพวกเรา คือ เชื้อไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของเราอย่างไรได้บ้าง ? การจะตอบปัญหานี้ได้ต้องเข้าใจกลไก 2 เรื่องเสียก่อน เรื่องที่ 1 คือ กลไกการติดเชื้อและปัจจัยในการระบาดของโควิด-19 และเรื่องที่ 2 คือ กลไกการทำงานของระบบเศรษฐกิจในด้านการค้า
และการลงทุน

โดยทั่วไปองค์ประกอบที่สำคัญของการระบาดของโรค คือ คน เชื้อโรค และสภาพแวดล้อม ปัจจัยที่สำคัญในการระบาด คือ การที่มีคนอยู่อย่างแออัดหนาแน่น และการเดินทางคมนาคมที่สะดวกรวดเร็ว มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่าโรคระบาดครั้งใหญ่ในอดีตเริ่มเกิดขึ้นเมื่อมนุษยชาติเข้าสู่สังคมเกษตรกรรม และมีการตั้งถิ่นฐานที่เป็นหลักแหล่ง ซึ่งทำให้โรคสามารถติดต่อในคนจำนวนมากได้ง่ายขึ้น ต่อมาโรคระบาดเกิดจากการเดินทางของมนุษย์ที่เป็นพาหะหรือนำสัตว์พาหะนำโรคไปยังพื้นที่ที่ยังไม่เคยไปมาก่อน เช่น กาฬโรค ในปี ค.ศ. 1350 และปี 1492 อีสุกอีใส และหัด ในปี ค.ศ. 1492 ไข้หวัดใหญ่สเปน ในปี ค.ศ. 1918 ยิ่งมีความเจริญก้าวหน้าด้านการคมนาคมเท่าไหร่ เชื้อโรคก็ยิ่งสามารถเดินทางไปได้รวดเร็วและไกลเท่านั้น

สำหรับเชื้อไวรัสโควิด-19 ในขณะนี้พบว่าสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทางจมูก ปาก และตา ทั้งจากการได้รับน้ำมูก น้ำลาย เสมหะในรูปแบบของละอองเสมหะขนาดใหญ่ (droplet) ที่มาจากการไอ จามของผู้ป่วยในระยะใกล้ชิดไม่เกิน 2 เมตร และการสัมผัสสิ่งของที่มีเชื้อไวรัสนี้ปนเปื้อนอยู่แล้วเอามือมาสัมผัสจมูก ปาก และตาของตนเอง

นอกจากนี้ โรคโควิด-19 ยังมีระยะฟักตัวที่ยาวนาน ผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรง ทำให้ไม่สามารถหาผู้ที่เป็นพาหะนำโรคที่ไม่มีอาการได้อย่างทันท่วงที และเป็นโรคจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ยังไม่มียารักษาหรือวัคซีนป้องกันโดยเฉพาะ ทำให้ไม่สามารถหยุดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างสมบูรณ์ได้โดยง่าย เสมือนกับเรากำลังต่อสู้กับเชื้อไวรัสที่มีระบบล่องหน (stealth mode) ที่กว่าจะหาตัวเจอก็มีการแพร่กระจายไปไกลในวงกว้างแล้ว ความน่ากลัวของเชื้อไวรัสนี้ คือ ความไม่แน่นอนว่าเราจะสามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดได้เมื่อไหร่ ดังนั้น สิ่งเดียวที่เราทำได้ตอนนี้ ก็คือ การพยายามจัดการปัจจัยเงื่อนไขในการแพร่ระบาดข้างต้นให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

สำหรับกลไกการทำงานของระบบเศรษฐกิจในด้านการค้าและการลงทุนนั้น จะเกี่ยวเนื่องกับการหมุนเวียนของสินค้า บริการ เงินทุน คน และข้อมูลเป็นสำคัญ การค้าเกิดขึ้นเพราะความถนัดในการผลิตและการให้บริการที่แตกต่างกันของแต่ละคน ทำให้การแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการกับผู้อื่นดีกว่าที่เราจะต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเอง ในขณะที่การลงทุนเป็นการสร้างรายได้จากการเพิ่มความสามารถในการผลิตสินค้าและการให้บริการให้มากขึ้นกว่าในปัจจุบัน เมื่อมีการใช้เงินเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยน การเคลื่อนไหวของเงินทุนจึงติดตามการค้าและการลงทุนเป็นเงาตามตัว

ในขณะเดียวกัน ผู้คนก็มีการโยกย้ายที่อยู่และการเดินทางเพื่อทำงาน ค้าขาย และลงทุนในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเมื่อมีการติดต่อกันระหว่างคนก็ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์สำหรับการตัดสินใจของทุกภาคส่วนในสังคม ที่ในปัจจุบันเราให้ความสำคัญอย่างมากกับข้อมูลที่สามารถใช้ในการวางกลยุทธ์ทางด้านธุรกิจโดยเฉพาะข้อมูลที่สามารถบ่งบอกถึงพฤติกรรมของลูกค้าได้ด้วยความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี ที่ทำให้โลกของเรามีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น และทำให้การเคลื่อนไหวของสินค้า บริการ เงินทุน คน และข้อมูลเร็วขึ้น สะดวกขึ้น และมีราคาถูกลง

ดังนั้น การที่เศรษฐกิจจะสามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ต้องอาศัยการหมุนเวียนของทั้งสินค้า บริการ เงินทุน คน และข้อมูล โดยการผลิตสินค้าและการให้บริการที่เชื่อมโยงกันอย่างต่อเนื่อง หากกลไกองค์ประกอบเหล่านี้หยุดเคลื่อนไหว ระบบเศรษฐกิจก็จะเดินต่อไม่ได้