การเข้าร่วม CPTPP โอกาสและความท้าทายของไทย

อรมน ทรัพย์ทวีธรรม

คอลัมน์ แตกประเด็น

โดย อรมน ทรัพย์ทวีธรรม


ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว สืบเนื่องจากที่หลายประเทศนำมาตรการกีดกันทางการค้ามาใช้เพิ่มขึ้นมากในรอบปีที่ผ่านมา และสถานการณ์โรคติดต่อร้ายแรงไวรัสโคโรน่า (โควิด-19) ที่ส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ พยายามที่จะฟื้นเศรษฐกิจและรักษาความสามารถในการแข่งขัน โดยหนึ่งในทางออกเพื่อรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้น คือ การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจผ่านการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ซึ่ง FTA สมัยใหม่ที่มีการพูดถึงกันมาก คือ ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP)

ความตกลง CPTPP เป็นผลของการเจรจาระหว่างสมาชิก 11 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู เม็กซิโก ญี่ปุ่น บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ที่ได้ลงนามสรุปผลความตกลงเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2561 ณ เมืองซานติอาโก ประเทศชิลี ประกอบด้วยประเด็นการค้า 30 บท ครอบคลุมเรื่องต่าง ๆ อาทิ การเปิดตลาดสินค้าในระดับสูงร้อยละ 95-99 ของรายการสินค้าทั้งหมด การเปิดตลาด การค้าบริการและการลงทุน การจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ นโยบายการแข่งขัน ทรัพย์สินทางปัญญา พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ แรงงาน และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยปัจจุบันมี 7 ประเทศที่ได้ให้สัตยาบันความตกลงแล้ว ได้แก่ เม็กซิโก ญี่ปุ่น สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ แคนาดา ออสเตรเลีย และเวียดนาม ส่งผลให้ความตกลง CPTPP มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2561

ไทยได้แสดงความสนใจที่จะเข้าร่วมความตกลง CPTPP เนื่องจากเห็นว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพ โดยสมาชิก CPTPP 11 ประเทศ มีประชากรรวมกันกว่า 500 ล้านคน (ร้อยละ 6.7 ของประชากรโลก) และมี GDP กว่า 11 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 13 ของ GDP โลก)

โดยในปี 2562 ไทยมีการค้ากับสมาชิกCPTPP รวมมูลค่า 140 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 31.5 ของการค้ารวมไทย) แบ่งเป็นการส่งออกไปสมาชิก CPTPP มูลค่า 73.23 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 32.2 ของการส่งออกไทยไปโลก) และการนำเข้าจากสมาชิก CPTPP มูลค่า 66.78 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ร้อยละ 30.6 ของการนำเข้าไทยจากโลก) โดยได้มีการตั้งคณะทำงานเตรียมการพิจารณาเข้าร่วมความตกลง มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งได้มีการศึกษาวิจัยประโยชน์และผลกระทบที่จากการเข้าเป็นสมาชิก CPTPP ของไทย ตลอดจนจัดรับฟังความเห็นภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งรัฐ เอกชน เกษตรกร และภาคประชาสังคมทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด

ผลการศึกษาวิจัยประโยชน์และผลกระทบของความตกลง CPTPP ชี้ว่า การเข้าร่วมความตกลง CPTPP จะช่วยให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตขึ้น โดย GDP จะขยายตัวร้อยละ 0.12 (คิดเป็นมูลค่า 13,323 ล้านบาท) และการลงทุนจะขยายตัวร้อยละ 5.14 (คิดเป็นมูลค่า 148,240 ล้านบาท) นอกจากนี้ การส่งออกของไทยจะขยายตัวทั้งจากการเปิดตลาดเพิ่มเติมกับสมาชิก CPTPP ที่ไทยมี FTA ด้วยแล้ว และกับประเทศที่ไทยยังไม่เคยมี FTA ด้วย คือ แคนาดา และเม็กซิโก

โดยสินค้าที่สมาชิก CPTPP อาจเปิดตลาดเพิ่มให้ไทยได้มากขึ้นกว่า FTA ปัจจุบัน อาทิ เนื้อไก่สด/แช่แข็ง อาหารทะเลปรุงแต่ง ข้าว ข้าวสาลี ยางรถยนต์ รถยนต์ น้ำมันปิโตรเลียม และผลไม้สด/แห้ง ขณะเดียวกัน การยกระดับกฎระเบียบให้เป็นสากลมากขึ้นจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนจากต่างชาติ และนักลงทุนไทยซึ่งจะส่งเสริมให้เกิดการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น

นอกจากนี้ การเข้าร่วมความตกลงจะช่วยรักษาสถานะของไทยในห่วงโซ่การผลิตภูมิภาค ซึ่งจะช่วยให้ไทยมีการพัฒนาเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องในระยะยาว อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการต้องปรับตัวเพื่อแข่งกับสินค้าและบริการจากต่างประเทศ รวมทั้งหน่วยงานของรัฐก็ต้องเตรียมความพร้อม ตลอดจนเยียวยาช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ เช่น การจัดตั้งกองทุน FTA การเจรจากับสมาชิก CPTPP เพื่อขอยกเว้นหรือขอระยะเวลาปรับตัว เป็นต้น

ในทางกลับกัน หากไทยตัดสินใจที่จะไม่เข้าร่วมความตกลง CPTPP ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจของไทยจะได้รับผลกระทบโดย GDP จะปรับตัวลดลงร้อยละ 0.25 (คิดเป็นมูลค่าที่เสียไปคือ 26,629 ล้านบาท) การลงทุนของไทยจะได้รับผลกระทบร้อยละ 0.49 (คิดเป็นมูลค่าที่สูญเสียไป คือ 14,270 ล้านบาท) รวมถึงเสียโอกาสในการขยายการค้าและการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตภูมิภาคในระยะยาวให้กับประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะเวียดนามและสิงคโปร์ที่เป็นสมาชิกที่จะได้แต้มต่อในการส่งออกสินค้า/บริการไปยังสมาชิก CPTPP และดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศมากขึ้น โดยในปี 2558-2562
ทั้ง 2 ประเทศมีการส่งออกไปยังกลุ่ม CPTPP เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 7.85 และ 9.92 ตามลำดับ ขณะที่ไทยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียงร้อยละ 3.23

การพิจารณาเข้าร่วมความตกลง CPTPP ของไทย จึงควรพิจารณาผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสาขา/ภาคส่วนต่าง ๆ และต่อประเทศไทยโดยรวมอย่างรอบคอบ เพื่อที่จะสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น และเตรียมรับมือกับผลกระทบได้อย่างมีประสิทธิภาพ