New Norm ท่องเที่ยวไทย บริบทใหม่…จะไปทางไหน ?

BANGKOK, THAILAND (FILE. PHOTO) Photo by Tim de Waele/Getty Images
คอลันม์ ชั้น 5 ประชาชาติ
ณัฏฐ์พิชญ์ วงษ์สง่า
[email protected]

 

บทเรียนจากไวรัส “โควิด” รอบนี้ ทำให้บริบทต่าง ๆ ของสังคมเปลี่ยนไปมหาศาล

ท่ามกลางระบบเศรษฐกิจที่หลายธุรกิจกำลังล่มสลายนั้น ยังมองเห็นมุมดี ๆ ของสังคมที่กำลังก่อตัวขึ้น เช่น ครอบครัวได้มีโอกาสอยู่ร่วมกันมากขึ้น คนหันมาดูแลสุขภาพตัวเองและคนรอบข้างมากขึ้น ฯลฯ

และหากมองในมุมของธุรกิจท่องเที่ยวเราจะได้เห็นแหล่งท่องเที่ยวได้มีเวลาพักหายใจหายคอ ธรรมชาติที่สวยงามของบ้านเราก็มีเวลาได้ฟื้นตัว ที่สำคัญคือทุกคนได้เรียนรู้ว่าเราไม่ควร “ประมาท” ในการใช้ชีวิต เพราะสิ่งที่ไม่คาดคิดอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และควรรักกันให้มาก ๆ เมื่อยังมีชีวิตอยู่

วันก่อนมีโอกาสได้ร่วมพูดคุยกับ “ยุทธศักดิ์ สุภสร” ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สิ่งที่ท่านฝากข้อคิดและมุมมองไว้คือ นับจากวันนี้เป็นต้นไปเชื่อว่ารูปแบบของการท่องเที่ยวและพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวของคนทั่วโลกจะไม่เหมือนเดิมแน่ ๆ

วิกฤตรอบนี้จะทำให้บริบทต่าง ๆ ของภาคธุรกิจท่องเที่ยวเปลี่ยนไปจากเดิม หรือเรียกง่าย ๆ ว่า new norm หรือ new normal หรือบริบทใหม่นั่นเอง

หลัก ๆ ที่จะเห็นชัดเจนคือ นักท่องเที่ยวน่าจะให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในชีวิตความเป็นอยู่ระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น

ซึ่งหมายความว่าหลังจากนี้ต้นทุนของการบริการด้านการท่องเที่ยวและบริการต่าง ๆ อาจเพิ่มสูงขึ้น เช่น หน้ากากอนามัย, แอลกอฮอล์ ฯลฯ อาจกลายเป็นอุปกรณ์ในการเดินทางท่องเที่ยวในอนาคต หรือราคา ตั๋วเครื่องบินอาจต้องเพิ่มขึ้น เพราะต้องมีระยะห่างของที่นั่งผู้โดยสารเพิ่มมากขึ้น

หรือการท่องเที่ยวในรูปแบบกรุ๊ปทัวร์ขนาดใหญ่จะลดลง ความนิยมในการเดินทางแบบกรุ๊ปเล็ก ๆ มากขึ้น ซึ่งเป็นไปตามแนวทางของ social distancing ที่กำลังถูกกล่าวถึงมากที่สุดในขณะนี้

หรืออาจมีความเป็นไปได้ว่าคนที่จะไปเที่ยวจะต้องมี health certificate หรือใบรับรองสุขภาพ ฯลฯ ต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนมีโอกาสเป็นไปได้ทั้งหมด

ซึ่งธุรกิจในฟากของซัพพลายก็ต้องปรับตัวให้ทันด้วย ไม่ว่าจะเป็นความปลอดภัยในการเดินทาง, ความปลอดภัยในเรื่องมาตรฐานโรงแรม-ที่พัก, ความปลอดภัยของอาหารการกิน ฯลฯ

จากแนวคิดนี้ทำให้ผู้เขียนหวังลึก ๆ ว่า บริบทใหม่ของภาคการท่องเที่ยวของไทยในอนาคตนั้น น่าจะเคลื่อนตัวการท่องเที่ยวเชิงปริมาณและขยับก้าวสู่การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพอย่างแท้จริงสักที หลังจากที่ภาครัฐทั้งกระทรวงการท่องเที่ยวฯ หรือ ททท. พยายามผลักดันให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพมานานแล้ว แต่ก็ยังอดไม่ได้ที่จะตั้งเป้านักท่องเที่ยวเชิงปริมาณเพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี

คำถามคือ วันนี้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวทุกซัพพลายเชนพร้อมปรับตัวรองรับกับ new norm หรือบริบทใหม่นี้
หรือยัง ?

หรือมีความเข้าใจมากน้อยแค่ไหน ยกตัวอย่างเช่น หากนักท่องเที่ยวนิยมเดินทางเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ผู้ประกอบการด้านขนส่งอย่างทัวร์บัสนำเที่ยวที่แต่ละค่ายลงทุนกันไปแล้ว บางรายมีรถบัสนำเที่ยวครอบครองอยู่ 30-50 คัน หรือ 100-200 คันจะปรับตัวอย่างไร

หรือโรงแรมขนาด 3 ดาว 4 ดาวที่มีเป้าหมายลงทุนเปิดกิจการเพื่อรองรับกรุ๊ปทัวร์ หรือรับทัวร์จีนโดยเฉพาะพร้อมที่จะปรับตัวกันหรือยัง เป็นต้น


ห้วงเวลานี้จึงเป็นเวลาที่ดีและเหมาะสมที่สุดที่ผู้ประกอบการต้องวางแผนตั้งรับกับ “บริบท” ใหม่ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่กำลังจะเปลี่ยนไปในอนาคตอันใกล้นี้