New Normal : ปทัสถานใหม่ ความปกติที่ไม่เคยปกติ

(Photo by Anthony WALLACE / AFP)

คอลัมน์ นอกรอบ

โดย รณดล นุ่มนนท์


วันอาทิตย์ถือเป็นวันพักผ่อนที่ผมมักจะตื่นสายเป็นพิเศษ แต่สัปดาห์นี้ต้องตื่นเร็วขึ้นเพื่อไปจองคิวร้านตัดผม ที่ได้รับอนุญาตให้เปิดทำการเป็นวันแรก แม้ว่าจะไปถึงร้านก่อนเวลาเปิดกว่าครึ่งชั่วโมง แต่พบว่ามีลูกค้ามานั่งคอยที่เก้าอี้หน้าร้านหลายคนแล้ว พอถึงคิวผมต้องล้างมือด้วยเจล กัลบกซึ่งสวมใส่ face shield ไม่พูดพร่ำทำเพลง จับกรรไกรตัดผมเสียงดังสวบ ๆ แล้วเอาปัตตาเลี่ยนมาไถผมตกแต่งเป็นอันเสร็จสิ้น กระบวนการภายใน 20 นาที โดยผมไม่ได้โอกาสงีบหลับเหมือนครั้งก่อน ๆ เรียกว่าต้องรีบเร่งเพราะมีลูกค้า รออยู่อีกหลายคน

ผมดูตัวเองผ่านกระจกเห็นใส่หน้ากากยังอดขำไม่ได้ เพราะเป็นบรรยากาศแปลกใหม่ ในศัพท์ new normal ที่กำลังฮิต ถึงกับต้องถามว่า “เรามาถึงวันนี้ได้อย่างไร ?” หากมนุษย์ต่างดาวได้กลับมาบนพื้นโลก คงจะประหลาดใจ เพราะเห็นพวกตัวเองมาอยู่ก่อนแล้ว คำศัพท์ไทยที่ใกล้เคียงกับ “new normal” คงจะเป็น “ปทัสถานใหม่” ซึ่งตามพจนานุกรมให้ความหมายว่า “แบบแผนใหม่สำหรับยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติ” แต่หากแปลตรง ๆ คงแปลว่า “ความปกติในรูปแบบใหม่” หรือที่คุณสุทธิชัย หยุ่น ใช้คำว่า “ความปกติที่ไม่เคยปกติ”

หมายถึง วิถีการดำรงชีวิตประจำวันต้องเปลี่ยนแปลงไป เป็นผลจากสภาพแวดล้อมที่เกิดใหม่ เนื่องมาจากธรรมชาติ ภัยพิบัติต่าง ๆ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การค้นพบพลังงานไฟฟ้า การเข้าสู่ยุคโลกคอมพิวเตอร์ แต่ที่จริงสาเหตุหลักที่ทำให้วิถีชีวิตของคนเปลี่ยนแปลงไป หรือ new normal มากที่สุด เป็นกฎกติกาที่มนุษย์ได้สร้างขึ้นมา

ประเทศจีนเป็นตัวอย่างของการเกิด new normal ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดเพราะเกิดขึ้นตลอดเวลา ตั้งแต่มีการปฏิวัติเข้าสู่ระบบสังคมนิยมในปี 1949 ภายใต้การนำของ ประธานเหมา เจ๋อ ตุง ที่ชูนโยบายก้าวกระโดดครั้งยิ่งใหญ่ (great leap forward) รวมถึง การปฏิวัติวัฒนธรรม (culture revolution) ในรูปแบบ ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมดถูกควบคุมโดยรัฐ ทำให้ประเทศเป็นโรงงานขนาดใหญ่ที่รัฐเป็นเจ้าของ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนจีนในเวลานั้นคือ การเป็นลูกจ้างในโรงงาน ทุกเช้าต้องตื่นตามเสียงนกหวีด ทำงานตลอดทั้งวัน จนกระทั่งเสียงนกหวีดแจ้งให้เลิกงาน

ได้ค่าตอบแทนเป็นอาหารซึ่งรัฐเป็นผู้จัดสรรให้ ไม่มีสิ่งใดเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล หากเป็นเกษตรกรไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง รัฐจัดหาเครื่องมือการเกษตรให้ ข้าวทุกเมล็ดต้องตกเป็นของรัฐ แต่เหตุการณ์คืนหนึ่งในหมู่บ้านเสี่ยวกัง (Xiaogang) หมู่บ้านชนบททางตะวันออกของประเทศได้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดและวิถีชีวิตคนจีนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ นำไปสู่การเกิด new normal บุกเบิกหนทางให้จีนกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกในทุกวันนี้

เสี่ยวกังเป็นหมู่บ้านขนาดเล็กไม่แตกต่างจากหมู่บ้านส่วนใหญ่ ประชากรมีอาชีพทำนา อยู่ภายใต้กฎกติกาของรัฐผลผลิตในทุก ๆ ปี ไม่เคยเพียงพอแม้แต่จะประทังชีวิต ประกอบกับสภาพอากาศไม่เป็นใจ เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติจนคนในหมู่บ้านต้องร่อนเร่ไปตามยถากรรมเพื่อขออาหารมาเลี้ยงดูครอบครัว1/ ค่ำคืนหนึ่งในฤดูหนาวปี 1978 ชาวนา 18 คนในหมู่บ้านเสี่ยวกังได้มารวมตัวกันที่บ้านหลังหนึ่งซึ่งพื้นบ้านยังเป็นดิน กำแพงก่อด้วยดินเหนียว หลังคาปูด้วยหญ้าฟาง เย็น จิงชาง (Yen Jingchang)

หนึ่งในผู้นำซึ่งยังมีชีวิตอยู่เล่าว่า ในยุคนั้นทุกอย่างเป็นทรัพย์สินของรัฐ การประชุมหมู่บ้านในคืนวันหนึ่ง ลูกบ้านถามว่า “ฟันที่อยู่ในปากผมเป็นของใคร ?” ตัวแทนพรรคคอมมิวนิสต์ตอบสวนกลับทันควันว่า “อวัยวะทุกส่วนในร่างกายของคุณเป็นของรัฐ” ดังนั้น รัฐจะนำผลผลิตทั้งหมดมาจัดสรรอย่างเท่าเทียม จิงชางเล่าต่อว่า จึงไม่แปลกที่บรรยากาศการทำงานในสมัยนั้นเป็นแบบเช้าชามเย็นชาม ไม่มีแรงจูงใจพิเศษ ที่จะต้องออกไปทำงานก่อนที่นกหวีดส่งสัญญาณเริ่มงานจะดังขึ้น

การรวมตัวของชาวนา 18 คนครั้งนั้นไม่ได้ขออนุญาตจากทางการ ซึ่งถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่พวกเขาพร้อมจะเสี่ยง เพราะไม่อาจทนต่อความเป็นอยู่ในแบบนี้ได้อีกต่อไป ได้ตัดสินใจที่จะทำสัญญาร่วมกัน จิงชางลงมือเขียนข้อตกลงบนแผ่นกระดาษด้วยปากกาพู่กัน อาศัยแสงสว่างจากตะเกียงน้ำมัน พร้อมพิมพ์ลายนิ้วมือข้อความในสัญญาระบุว่า “เราตกลงที่จะแบ่งที่ดินของชุมชนให้แต่ละครอบครัวอย่างลับ ๆ ทุกครอบครัว จะต้องผลิตตามโควตาของรัฐบาล แต่ส่วนเกินสามารถเก็บไว้ในครัวเรือนได้

หากข้อตกลงฉบับนี้ถูกเปิดเผย และใครคนใดคนหนึ่งในสัญญานี้ถูกขังคุกหรือประหารชีวิต คนอื่นในกลุ่มจะต้องดูแลบุตรของเขา จนกว่าจะอายุ 18 ปี” นี่คือข้อตกลงที่ขัดกับหลักการที่รัฐบาลกำหนดไว้สิ้นเชิง เสี่ยงต่อการถูกทำโทษถึงขั้นประหารชีวิต หากถูกจับได้ จิงชางได้เก็บสัญญานี้ไว้ในกระบอกไม้ไผ่ใต้หลังคาบ้าน และแล้ว new normal ได้เริ่มต้นขึ้น ในหมู่บ้านทุกคนรีบตื่นแต่เช้าไปทำนาในบริเวณพื้นที่ที่ตนเองได้รับการจัดสรรตั้งแต่พระอาทิตย์ยังไม่ขึ้น มีการแข่งขันกันอย่างเงียบ ๆ ว่าใครสามารถปลูกข้าวได้มากกว่ากัน ปรากฏว่าผลผลิตในปีนั้นเพิ่มสูงขึ้นมากได้ผลผลิตข้าวมากกว่า 5 ปีที่ผ่านมารวมกันเสียอีก

ผลผลิตที่สูงขึ้นดังกระฉ่อนไปทั้งจังหวัด แต่ไม่เล็ดลอดสายตาทางการ ชาวนาทั้ง 18 คนถูกสอบสวน และสารภาพว่าได้ทำข้อตกลงดังกล่าวจริง แต่เหมือนฟ้าประทาน พวกเขารอดชีวิตมาได้ เพราะเกิดการเปลี่ยนผู้นำ พรรคอมมิวนิสต์มาเป็น เติ้ง เสี่ยวผิง ผู้มีนโยบายเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาจากระบบรวมศูนย์มาสู่ระบบเปิดเสรี ภายใต้นโยบายเศรษฐกิจแบบ “เสรีนิยมใหม่” เติ้ง เสี่ยวผิง ได้นำรูปแบบการจัดสรรและการทำงานของชาวนาในหมู่บ้านเสี่ยวกังมาเป็นต้นแบบในการพัฒนาประเทศ

ท่านประธานเติ้งกล่าวว่า “ไม่สำคัญ ว่าแมวดำหรือแมวขาว หากจับหนูได้เป็นพอ” (It doesn”t matter if the cat is black or white, as long as it catches mice.) นี่ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนแบบก้าวกระโดด ประชากรกว่า 500 ล้านคนหลุดพ้นจากความยากจน จีนกลายเป็นยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจของโลก ปัจจุบันสัญญาชาวนา 18 คนในหมู่บ้านเสี่ยวกัง ถูกจัดเก็บไว้ในพิพิพิธภัณฑ์ในเมือง พร้อมนำเรื่องราวบรรจุไว้ในตำราเรียนสำหรับเด็กชาวจีน

new normal ตามรูปแบบเสรีนิยมใหม่ ได้สร้างวิถีชีวิต รูปแบบ และวัฒนธรรมใหม่ให้กับสังคมจีน ขณะเดียวกันก็เกิดความนิยมชมชอบและหลงใหลใน “วัตถุนิยม” เกิดการชิงดีชิงเด่น เห็นแก่ตัวเราและของเรามากขึ้น ครั้งหน้าผมจะพาพวกเราไปเยี่ยมหมู่บ้านเสี่ยวกังเพื่อดูว่าวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวบ้านเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในช่วงเวลา 42 ปีที่ผ่านมา

แหล่งที่มา : 1/ The Momentum 2020. สัญญาลับชาวนา จุดเปลี่ยนประเทศจีนสู่ยุคทุนนิยม.(online) Available at : (Accessed 3 May 2020).

2/ https://www.npr.org/sections/money/2012/01/20/145360447/the-secret-document-that-transformed-ching