โควิดกับเรื่องบ้าน ๆ

คอลัมน์ สามัญสำนึก
โดย เมตตา ทับทิม

มิถุนายน 2563 ครึ่งปีแรกที่ไม่เหมือนเดิม

โรคระบาดโควิด-19 บันทึกไว้เลยว่าประเทศไทยเข้าสู่การเป็น “ประเทศความเสี่ยงต่ำ” หลังจากไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศติดต่อกันเป็นเวลา 28 วัน เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2563

อย่างไรก็ตาม #หยุดเชื้อ เพื่อชาติ การ์ดอย่าตก

สถานการณ์เพื่อนร่วมโลกราวกับเป็นหนังคนละม้วน ไวรัสโควิดแผลงฤทธิ์ไม่เว้นแต่ละวัน มีผู้ป่วยตายเป็นเบือ

สถานการณ์ในประเทศไทย สิ่งที่เรารับมือได้ดีคือผู้ติดเชื้อในประเทศเป็น 0 ราย นี่คือผลงานชิ้นโบแดงในด้านสาธารณสุข

ส่วนด้านเศรษฐกิจและสังคมยังเป็นภาระหนักอึ้งที่รัฐบาลและประชาชนแบกภาระไว้เต็มบ่าร่วมกัน

ภาพแม็คโครรัฐบาลอาจปิดหีบงบประมาณปี 2563 ในช่วง 3 เดือนสุดท้าย (กรกฎาคม-กันยายน 2563) ไม่ลงเพราะทุ่มเทสรรพกำลังต่อสู้กับการล็อกดาวน์ประเทศ

กรอบวงเงินกู้ 4 แสนล้านบาทต้องขยับขยายขอเพิ่มอีกสัก 1-2 แสนล้าน เป็นไปตามสัจธรรม เพราะทุกอย่างในโลกนี้ไม่มีอะไรฟรี

ล่าสุด “ดร.โจ-ประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ” เอ็มดี LPN Wisdom บริษัทลูกในเครือ LPN รับจ็อบงานวิจัยบิ๊กดาต้า+ที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์ เพิ่งสรุปข้อมูล 5 เดือนแรกในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล

ซัพพลายสะสมที่รอการขายเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สวนทางกับอัตราการขายได้ที่หายไปกว่าครึ่ง

สรุปแบบรัว ๆ หน่วยคงค้างหรือสต๊อกรอขายในภาพรวมณ ปี 2560 อยู่ที่ 1.89 แสนหน่วย ปี 2561 เพิ่มเป็น 1.94 แสนหน่วย ปี 2562 เพิ่มเป็น 2.14 แสนหน่วย

คาดการณ์ ณ สิ้นปี 2563 ยังเพิ่มได้อีกเป็น 2.4 แสนหน่วย ทั้ง ๆ ที่ดีเวลอปเปอร์ในเมืองกรุงเปิดศึกโปรโมชั่นเทกระจาดสต๊อกขนานใหญ่ แต่ซัพพลายรวมก็ไม่ได้ลดลง

ข้อมูลที่เห็นแล้วอย่าเพิ่งใจเสีย ยอดขายหรืออัตราการขายได้ต่อเดือน สาละวันเตี้ยลง

ปี 2560 เคยมีสถิติขายได้เฉลี่ยต่อเดือน 8.5 พันหน่วย ปี 2561 เฉลี่ย 9.9 พันหน่วย ปี 2562 เฉลี่ย 8.2 พันหน่วย

ไตรมาส 1/63 เฉลี่ยดิ่งวูบเหลือ 4.4 พันหน่วย แนวโน้ม 2563 ทั้งปีเหลือค่าเฉลี่ยขายได้เดือนละ 5-6 พันหน่วย

ระยะเวลาที่คาดว่าจะขายได้หมด คำนวณบนสมมุติฐานในกรณีไม่มีโครงการเปิดขายใหม่ ซึ่งเป็นไปไม่ได้โดยสิ้นเชิง เพราะธุรกิจยังต้องดำเนินต่อไป

ช่วงปี 2560-2562 ซัพพลายตลาดรวมจะเป็นยังไงก็ตามแต่ยังมีสภาพคล่องเพราะคนยังซื้อยังโอนได้ ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 19-26 เดือนจะเกลี้ยงตลาด

ช่วงโควิดกำลังพีก ๆ ปลายมีนาคม-เมษายน สถิติเหมือนตกหลุมดำเพราะเพิ่มเวลาระบายสต๊อกเป็น 46-49 เดือน แนวโน้ม 2563 ทั้งปีคาดว่าใช้เวลาขายให้หมด 40-48 เดือน

แปลว่ายังเป็นปีที่ยากลำบากของคนขายบ้าน และเป็นปีที่ยากลำบากของคนซื้อบ้าน

อันที่จริงแบงก์ชาติกับนายแบงก์เอกชนมีแพ็กเกจสารพัดออกมาช่วยเหลือมนุษย์เงินกู้ โฟกัสสินเชื่อที่อยู่อาศัยเฉพาะแบงก์รัฐอย่าง “ธอส.-ธนาคารอาคารสงเคราะห์” มีตั้ง 8-9 มาตรการ

เอาเข้าจริง ๆ ต้องกราบเรียนว่าหัวอกลูกหนี้จะมีกี่มาตรการก็ไม่พอหรอกถ้าไม่ลดดอกเบี้ยให้เลยสักบาท (ฮา)

ล่าสุด “ผู้ช่วยธัญญนิตย์ นิยมการ” ผู้ช่วยผู้ว่าการสายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย ตั้งโต๊ะแถลงก๊อก 2 ช่วยลูกหนี้สถาบันการเงินเพิ่มเติมในส่วนลูกหนี้บัตรเครดิต-สินเชื่อรถยนต์

มีการหยอดข่าวดี คนผ่อนบ้านทั้งหลายถ้าประวัติจ่ายเงินกู้ไม่มีอะไรด่างพร้อยอาจได้รับ incentive ตามสมควร แต่ก็เป็นดุลพินิจของแบงก์เจ้าหนี้อยู่ดี

โรคระบาดใหม่เราเพิ่งอยู่กับโควิดในครึ่งปีแรก สงครามราคาของภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์น่าจะเป็นนาทีทองสำหรับคนซื้อบ้าน

แต่ทำไมตลาดแมสราคา 1-3 ล้านยังไปไม่สุดทาง เพราะซื้อบ้านได้แต่ไม่มีปัญญาโอนเพราะกู้ไม่ผ่าน


ครึ่งปีหลัง 2563 ขอให้มีปาฏิหาริย์โอบอุ้มคนอยากมีบ้านด้วยเถอะ โอมเพี้ยง