“อุตสาหกรรมหนังจีน” วิกฤต โควิดทำพิษ…ปิดต่อไม่มีกำหนด

คอลัมน์ Market Move

ในขณะที่ธุรกิจภาพยนตร์ในหลายประเทศรวมถึงไทยเริ่มจะกลับมาเดินหน้าได้อีกครั้ง แต่ธุรกิจภาพยนตร์ในจีนซึ่งมีมูลค่ากว่า 9.2พันล้านเหรียญสหรัฐ สูงเป็นอันดับ 2 ของโลก กลับต้องฝันสลายเมื่อรัฐบาลจีนกลับลำประกาศให้โรงภาพยนตร์ปิดทำการต่อไป แม้ก่อนหน้านี้จะอนุญาตให้เปิดทำการภายใต้มาตรการป้องกันโรคแล้วก็ตาม

โดยเป็นผลจากการพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ในกรุงปักกิ่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งความเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลให้การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมอาจต้องใช้เวลามากกว่า 6 เดือน

สำนักข่าว “นิกเคอิ เอเชียน รีวิว” รายงานว่า บรรดาผู้ประกอบการในวงการภาพยนตร์จีนต่างต้องดีใจเก้อ เมื่อรัฐบาลยกเลิกคำสั่งอนุญาตให้สถานบันเทิงรวมถึงโรงภาพยนตร์เปิดทำการได้ที่ออกมาเมื่อเดือนพฤษภาคม พร้อมสั่งให้ปิดทำการอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ในปักกิ่งช่วงต้นเดือน

ทั้งนี้ แม้จะมีประกาศให้เปิดทำการได้มาตั้งแต่เดือนพฤษภาค แต่ในทางปฏิบัตินั้นช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาโรงภาพยนตร์จำนวนมากยังไม่ได้เปิดให้บริการ เพราะต้องรอคำอนุญาตจากหน่วยงานท้องถิ่นก่อน

หากนับถึงปัจจุบันโรงภาพยนตร์ในแดนมังกรก็ปิดทำการกันมานานถึง5 เดือนติดต่อกันแล้ว พลาดโอกาสสำคัญอย่างช่วงวันหยุดตรุษจีน ซึ่งถือเป็นช่วงโอกาสทองที่ธุรกิจภาพยนตร์จะโกยเม็ดเงินมหาศาล จากจำนวนผู้ชมที่หลั่งไหลเข้ามาใช้บริการในช่วงของวันหยุดยาว

สมาคมภาพยนตร์ประเทศจีนระบุว่า มูลค่าบอกซ์ออฟฟิศช่วงไตรมาสแรกหดตัวไปแล้วถึง 88% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ในขณะที่ฟีดแบ็กจากผู้ประกอบการโรงภาพยนตร์ยังน่าเป็นห่วง โดย 42% ของผู้ประกอบการในเมืองระดับเทียร์ 2-3 ตกอยู่ในสภาพใกล้จะล้มละลาย

“เจีย จางเคอ” หนึ่งในผู้กำกับภาพยนตร์มือทองของจีน ซึ่งมีผลงานเรื่อง “A Touch of Sin” และ “Xiao Wu” โพสต์ข้อความบนโซเชียลมีเดีย ระบุว่าเงินทุนของผู้ประกอบการในวงการภาพยนตร์ใกล้จะหมดลงเต็มทีแล้วบางบริษัทมีรายจ่ายถึง 1.4 แสนเหรียญสหรัฐต่อวัน ดังนั้นต้องรีบทำให้บรรดาพนักงาน-ลูกจ้างสามารถกลับมาทำงานได้เร็วที่สุด

ทั้งนี้ แม้อุตสาหกรรรมจะกลับมาเดินหน้าได้อีกครั้ง อาจต้องใช้เวลานานมากในการฟื้นตัว ซึ่งผลสำรวจของสมาคมภาพยนตร์ฯพบว่า ครึ่งหนึ่งของผู้ประกอบการคาดว่าต้องใช้เวลา3-6 เดือน รายได้จึงจะกลับมาอยู่ในระดับปกติ ส่วนอีก 37% ระบุว่า อาจต้องใช้เวลามากกว่า 6 เดือน นอกจากนี้อาจต้องเลิกจ้างหรือให้พนักงานหยุดโดยไม่รับเงินเดือนเพื่อคุมค่าใช้จ่ายอีกด้วย

และเช่นเดียวกับในประเทศตะวันตกที่การนำภาพยนตร์ออกเผยแพร่ผ่านออนไลน์ไม่ใช่ตัวเลือกในการรับมือกับปัญหานี้ เนื่องจากผู้ผลิตหลายรายลงทุนด้านการตลาดสำหรับการเปิดฉายในโรงจำนวนมาก โดยแหล่งข่าวรายหนึ่งในวงการอธิบายว่า ช่วงล็อกดาวน์ที่ผ่านมาบริษัทลองเสนอแผนเผยแพร่ภาพยนตร์ผ่านออนไลน์ไปบ้างแล้ว แต่ผู้ผลิตเลือกรอให้โรงภาพยนตร์กลับมาเปิดมากกว่า เพราะต่างลงทุนโปรโมตไปค่อนข้างมาก การปรับช่องทางอาจทำให้ขาดทุนมากกว่าเดิม

การฉายผ่านออนไลน์นั้นเหมาะกับภาพยนตร์ต่างประเทศที่มีงบฯการตลาดและการจัดจำหน่ายที่จำกัด หรือเข้าโรงฉายในต่างประเทศมาแล้ว อย่างเช่นเรื่อง “สี่ดรุณี” (Little Women) ซึ่งฉายในต่างประเทศมาระยะหนึ่งแล้ว และมีไฟล์ละเมิดลิขสิทธิ์แจกจ่ายบนอินเทอร์เน็ต ทำให้ชาวจีนไม่สนใจเข้าชมในโรงมากนัก

อย่างไรก็ตาม วงการภาพยนตร์แดนมังกรยังมีความหวังอยู่บ้าง เนื่องจากผู้ชมจำนวนไม่น้อยตั้งตารอประสบการณ์การชมภาพยนตร์ในโรงอีกครั้งอยู่ ตามผลสำรวจของ “เมายัน” ผู้จัดจำหน่ายบัตรชมภาพยนตร์รายใหญ่ ที่พบว่ากลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งสนใจชมภาพยนตร์ในโรง เมื่อกลับมาเปิดให้บริการ และ 1 ใน 3 อยากเข้าชมเร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ขณะเดียวกันกระทรวงการคลังยังออกมาตรการทางภาษีมาช่วยอุ้มอุตสาหกรรมนี้ด้วย


ทั้งนี้เมื่อสามารถกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง อาจต้องเพิ่มจุดขายด้านความสะอาด และการเว้นระยะห่างหรือลดจำนวนลูกค้า เพราะผู้ชมชาวจีนยังคงกังวลกับปัจจัยเหล่านี้อยู่ ซึ่งอาจส่งผลให้รับผู้ชมได้น้อยลงตามไปด้วย จึงต้องรอดูในระยะยาวว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์แดนมังกรจะแก้โจทย์นี้อย่างไร