57 ใบอนุญาตออนไลน์ รัฐเร่งสปีด e-Service

คอลัมน์ สามัญสำนึก
โดย พิเชษฐ์ ณ นคร

คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติตั้งแต่ 2 ต.ค. 2561 เห็นชอบในหลักการมาตรการอำนวยความสะดวกและลดภาระประชาชน กำหนดแนวปฏิบัติให้หน่วยงานรัฐ ไม่เรียกสำเนาเอกสารที่ทางราชการออกให้ รวม 3 ระยะ ระยะสั้นที่ต้องแล้วเสร็จภายใน 5 พ.ย. 2561 อาทิ ไม่เรียกสำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน การจ่ายเงินและสวัสดิการผ่านระบบ national e-Payment ระยะกลาง การเชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐ ภายในปี 2562

และระยะยาว ให้หน่วยงานรัฐทุกหน่วยงานให้บริการ e-Service ยกเลิกการใช้กระดาษภายในปี 2563 แต่จะขยายเวลาเป็นรายกรณีหากหน่วยงานใดยังไม่พร้อม โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ สพร. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินการ

อย่างไรก็ตาม หลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ครม.มีมติเมื่อ 31 มี.ค. 2563 ให้ปรับเปลี่ยนการให้บริการงานที่เกี่ยวข้องกับการอนุมัติ อนุญาต รับรอง จดแจ้ง หรือจดทะเบียนตามกฎหมาย โดยให้ดำเนินการผ่านระบบ e-Service โดยเร็ว เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ

โควิดจึงเป็นตัวเร่งให้บริการภาครัฐ ยกระดับสู่การบริการภาครัฐไทยในยุคดิจิทัล ตาม พ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ 2558 เร็วขึ้น ทั้งนี้ ข้อมูลจาก ก.พ.ร. เดือน มิ.ย. 2563 ระบุว่า ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2562-ม.ค. 2563 มีส่วนราชการให้บริการผ่านระบบดิจิทัลของหน่วยงานนำร่อง 20 หน่วยงาน รวม 57 ใบอนุญาต

ขณะเดียวกันได้สรุปสถานะการพัฒนาออกเอกสารราชการผ่านระบบดิจิทัล 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 พร้อมดำเนินการทันที และเป็นต้นแบบให้กับหน่วยงานอื่น 7 หน่วยงาน 14 ใบอนุญาต ได้แก่ ใบอนุญาตของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กรมสรรพากร กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมประมง และกรมสรรพสามิต

กลุ่มที่ 2 ปรับมาตรฐานการออกเอกสารราชการผ่านระบบดิจิทัล 8 หน่วยงาน 13 ใบอนุญาต ได้แก่ กรมปศุสัตว์ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมเจ้าท่า กรมการท่องเที่ยว สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) สำนักงานประกันสังคม กรมการขนส่งทางบก กรมสรรพสามิต

กลุ่มที่ 3 อยู่ระหว่างพัฒนาการออกเอกสารราชการผ่านระบบดิจิทัล 10 หน่วยงาน 30 ใบอนุญาต ได้แก่ ใบอนุญาตของกรมปศุสัตว์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สำนักงาน กสทช. กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมวิชาการเกษตร กรมคุมประพฤติ กรมการท่องเที่ยว กรมประมง กรมธุรกิจพลังงาน และแพทยสภา

ผลดำเนินการที่ผ่านมาน่าพอใจ แม้จะมีปัญหาอุปสรรคช่วงเปลี่ยนผ่าน อาทิ การลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ต้องมีการระบุยืนยันตัวตนค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ระเบียบกฎหมายของหน่วยงานส่วนใหญ่ยังไม่เอื้อต่อการให้บริการแบบดิจิทัล ปัญหาด้านการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปัญหาด้านงบประมาณ และด้านบุคลากร เป็นต้น

นอกจากนี้ ได้กำหนดแนวปฏิบัติในการรับ-ส่งหนังสือราชการอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างส่วนราชการที่เป็นนิติบุคคล คือ กระทรวง กรม จังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) เมืองพัทยา โดยไม่ต้องจัดส่งหนังสือในรูปแบบกระดาษอีก (paperless) เว้นแต่กรณีการส่งหนังสือที่ต้องสงวนเป็นหนังสือลับ ให้จัดทำในรูปแบบกระดาษ และจัดส่งทางไปรษณีย์ตามระเบียบสำนักนายกฯ

เป้าหมายดำเนินการในระยะต่อไป สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับ สพร. และ สพธอ. อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการอนุมัติ อนุญาตทางอิเล็กทรอนิกส์แบบรวมศูนย์ ให้ผู้มีอำนาจในการอนุมัติ อนุญาตเพียงคนเดียว ตามนโยบายการพัฒนาระบบราชการ เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน หรือ good government for better life