โรงไฟฟ้าชีวมวลโต รับกระแส New Normal

คอลัมน์ ช่วยกันคิด
พงษ์ประภา นภาพฤกษ์ชาติ
ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS

ในภาวะที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก และยังมีความไม่แน่นอนว่าจะจบสิ้นลงเมื่อใด ทว่า กลับเป็นที่แน่ชัดว่าหลายธุรกิจต้องเร่งปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของโลกภายใต้วิถีชีวิตใหม่ (new normal) ที่ให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจแบบยั่งยืน (sustainable business)

ในบริบทของธุรกิจผลิตพลังงานไฟฟ้า “โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล” เป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตรับกระแสธุรกิจยั่งยืน เนื่องจากเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัตถุดิบเหลือใช้ทางการเกษตร สร้างรายได้ให้ชุมชนและลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ก๊าซธรรมชาติ

ภาครัฐก็เป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจโรงไฟฟ้าชีวมวล โดย ณ 31 ธันวาคม 2563 ทางกระทรวงพลังงานประกาศจะเร่งผลักดันโครงการด้านพลังงาน ในปี 2564 ด้วยเม็ดเงินลงทุนกว่า 127,932 ล้านบาท ในจำนวนนี้มีโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนที่ภาครัฐเริ่มนำร่อง โดยมีมูลค่าลงทุนรวม 27,000 ล้านบาท และมีกำลังการผลิตรวมที่ 150 เมกะวัตต์ ซึ่งมาจากโรงไฟฟ้าพลังงานก๊าซชีวภาพและชีวมวลประเภทละ 75 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ หลายท่านอาจสงสัยว่าประเทศไทยเหมาะแก่การลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลแบบไหน และพื้นที่ศักยภาพในการตั้งโรงงานอยู่ที่ไหน

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่า โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลใช้ผลพลอยได้จากผลผลิตทางการเกษตรมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งในปัจจุบันประเภทของโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลสามารถแบ่งออกตามชนิดของเชื้อเพลิงหลัก ๆ ได้ 2 ชนิด คือ ชานอ้อย และแกลบ (มีสัดส่วนรวมกันคิดเป็น 73% ของเชื้อเพลิงทั้งหมด) โดยเชื้อเพลิงที่มีการนำไปใช้มากที่สุด คือ ชานอ้อย คิดเป็น 61% รองลงมาคือ แกลบ คิดเป็น 12%

ส่วนที่เหลือมาจากทะลายปาล์ม ไม้สับ และเศษวัตถุดิบอื่น ๆ ซึ่งการพิจารณาพื้นที่ที่มีศักยภาพในการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลทั้ง 4 ประเภท จะขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของพืชพลังงานในแต่ละภูมิภาค

โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลจากชานอ้อย ควรจะเพิ่มกำลังการผลิตในภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีพื้นที่ที่ปลูกอ้อยจำนวนมาก ซึ่งทำให้มีชานอ้อยที่เกิดจากการแปรรูปในอุตสาหกรรมน้ำตาลปริมาณมากตาม โดยปัจจุบันโรงไฟฟ้าประเภทนี้ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ที่ภาคกลาง และตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น นครสวรรค์ สระบุรี สุพรรณบุรี นครราชสีมา และเลย

โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลจากแกลบ ควรจะเพิ่มกำลังการผลิตในภาคเหนือตอนล่าง เนื่องจากมีพื้นที่ปลูกข้าวจำนวนมาก ทำให้มีแกลบซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการแปรรูปของข้าวจำนวนมาก นอกจากนั้น ยังมีโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลในพื้นที่ดังกล่าวค่อนข้างน้อย จึงคาดว่าจะไม่เกิดการแย่งชิงแกลบ ซึ่งทำให้ราคาแกลบในภาคเหนือตอนล่างค่อนข้างอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่น โดยปัจจุบันโรงไฟฟ้าประเภทนี้ส่วนมากตั้งอยู่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และกลาง เช่น สุรินทร์ อุบลราชธานี พิจิตร และสุพรรณบุรี

โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลจากไม้สับ ควรจะเพิ่มกำลังการผลิตในภาคใต้ตอนบน เพราะพื้นที่ดังกล่าวปลูกยางพาราจำนวนมาก ทำให้มีปริมาณไม้สับมากตาม ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการแปรรูปของไม้ยางพารา โดยปัจจุบันโรงไฟฟ้าประเภทนี้ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ที่ภาคใต้ตอนล่าง เช่น สงขลา และนราธิวาส

โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลจากทะลายปาล์ม ควรจะเพิ่มกำลังการผลิตในภาคใต้ตอนบน เช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลจากไม้สับ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกต้นปาล์มจำนวนมาก ทำให้มีทะลายปาล์มซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการแปรรูปของผลปาล์มสดปริมาณมากด้วย นอกจากนั้น ทะลายปาล์มยังไม่ค่อยถูกใช้เป็นประโยชน์ไปต่อยอดในอุตสาหกรรมอื่น ๆ มากนัก ทำให้ไม่เกิดการแย่งชิงเชื้อเพลิง ราคาเชื้อเพลิงประเภทนี้จึงมักอยู่ในระดับต่ำ โดยปัจจุบันโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลจากทะลายปาล์มมีเพียงแค่แห่งเดียวในประเทศไทย ซึ่งตั้งอยู่ที่นครศรีธรรมราช

กระนั้นก็ดี การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวลมีอุปสรรคสำคัญนั่นคือ การขาดแคลนวัตถุดิบทางการเกษตรที่จะใช้เป็นเชื้อเพลิง เนื่องจากปริมาณผลผลิตเกษตรในแต่ละปีขึ้นอยู่กับสภาวะอากาศ ยกตัวอย่างเช่น ผลผลิตจากชานอ้อยที่เพียงพอต่อการผลิตไฟฟ้ามักมีเฉพาะในเดือน ธ.ค. และ ม.ค.-เม.ย.ของทุกปี อีกทั้งในบางปีอาจเผชิญปัญหาจากภาวะภัยแล้งที่รุนแรงเหมือนเช่นในปี 2563-2564 ทำให้ผลผลิตอ้อยมีน้อยกว่าปกติ

อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการมีทางออกในการแก้ pain point ประเด็นนี้ได้จากการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลเชื้อเพลิงผสม ซึ่งในปัจจุบันสามารถใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ อาทิ เตาเผาแบบฟลูอิไดซ์เบด มาใช้ในขั้นตอนการผลิตไฟฟ้าให้สามารถรองรับและสับเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงได้หลากหลายประเภท เช่น แกลบผสมชานอ้อย และไม้สับผสมชานอ้อย เป็นต้น

ในด้านผลตอบแทนจากการลงทุน โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลประเภทที่สร้างผลตอบแทนได้มากที่สุดและคืนทุนได้เร็วที่สุด คือ “โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลจากชานอ้อย” โดยมีอัตราผลตอบแทน (internal rate of return : IRR) เฉลี่ยอยู่ที่ 22.8% (ตลอดอายุสัญญาขายไฟ 20 ปี) และมีระยะเวลาในการคืนทุนที่ 4.9 ปี ภายใต้สมมุติฐานของการวิเคราะห์ ได้แก่ เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลที่มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 1 เมกะวัตต์ และมีอายุสัญญาขายไฟที่ 20 ปี

โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากต้นทุนเชื้อเพลิงจากชานอ้อยส่วนมากอยู่ในระดับต่ำ เพราะเป็นวัตถุดิบที่เหลือใช้จากโรงงานน้ำตาล ซึ่งโรงงานน้ำตาลก็มักต่อยอดธุรกิจไปยังโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลต่อ ส่วนชีวมวลชนิดอื่น ได้แก่ แกลบ ทะลายปาล์ม และไม้สับ โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลจากทะลายปาล์มและแกลบ มีอัตราผลตอบแทนต่ำลงมาโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 11.0% และ 10.4% ตามลำดับ และมีระยะเวลาในการคืนทุนที่ 8.6 และ 9.2 ปีตามลำดับ

สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลจากไม้สับ มีอัตราผลตอบแทนน้อยที่สุด โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 7.4% และมีระยะเวลาในการคืนทุนช้าสุดที่ 11.2 ปี เนื่องจากไม้สับมักมีความชื้นสูง ทำให้ต้องใช้เชื้อเพลิงจำนวนมากในการผลิตไฟฟ้า นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลจากไม้สับส่วนมากมีต้นทุนการก่อสร้างโดยรวมที่สูง เนื่องจากไม้สับมีขนาดใหญ่ทำให้ต้องผ่านกระบวนการย่อย ก่อนที่จะนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า จึงต้องลงทุนระบบย่อยเชื้อเพลิงเพิ่มเติม

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลโดยรวมเป็นโรงไฟฟ้าประเภทที่ภาครัฐกำลังส่งเสริมมากที่สุดในกลุ่มโรงไฟฟ้าทั้งหมด โดยตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 (PDP 2018) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ซึ่งประกาศใช้เมื่อ 20 ต.ค. 2563 มีเป้าหมายให้กลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลขยายกำลังการผลิตรวมเป็น 4,694 เมกะวัตต์ภายในปี 2580 จากปี 2563 ที่มีกำลังการผลิต 2,010 เมกะวัตต์ ซึ่งเติบโตอย่างก้าวกระโดดถึง 134% เทียบกับกำลังการผลิตรวมของโรงไฟฟ้าทุกประเภทในปี 2580 อยู่ที่ 77,211 เมกะวัตต์ จาก 51,462 เมกะวัตต์ ในปี 2563 หรือเพิ่มขึ้น 50% ซึ่งต่ำกว่าของโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล

สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลที่ภาครัฐกำลังส่งเสริมในช่วงปี 2563-2567 คือ “โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนและโรงไฟฟ้าประชารัฐ” ซึ่งทั้งสองโครงการนี้ภาครัฐมีแผนจะเพิ่มกำลังการผลิตใหม่รวมกันที่ 720 เมกะวัตต์ โดยมีเงื่อนไขที่กำหนดให้เป็นโรงไฟฟ้าที่มีขนาดกำลังการผลิตเล็กมากไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ (very small power producer : VSPP) และในช่วงปี 2573-2580 ภาครัฐมีแผนจะรับซื้อไฟจากโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลรอบใหม่อีก 2,780 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีรายละเอียดและเงื่อนไขของโครงการ

แต่คาดว่าจะเปิดโอกาสให้แก่โรงไฟฟ้าทุกขนาด หากไม่จำกัดขนาดของกำลังการผลิตต่อหนึ่งโรงไฟฟ้า ทั้งนี้ โดยปกติโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (independent power producer : IPP) มักมีกำลังการผลิตมากกว่า 90 เมกะวัตต์ ส่วนโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (small power producer : SPP) มักมีกำลังการผลิตที่ 10-90 เมกะวัตต์

โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลเป็นธุรกิจที่สามารถผลักดันให้ธุรกิจการเกษตรและชุมชนเติบโตได้อย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของธุรกิจในยุค new normal ในขณะเดียวกัน ในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกได้ให้การสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนชนิดอื่น เช่น พลังงานจากแสงอาทิตย์ พลังงานจากลม เพื่อทดแทนพลังงานฟอสซิล เนื่องจากตอบโจทย์เรื่อง green economy ของโลกที่มีเป้าหมายลด carbon footprint

นักลงทุนจึงควรติดตามแนวทางการสนับสนุนธุรกิจพลังงานหมุนเวียนของไทยอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่พลาดโอกาสในการเข้าสู่ธุรกิจที่น่าสนใจนี้