ส่องอนาคตอุตฯ ถุงมือยางไทย Post COVID-19 ตลาดแข่งขันสูง

มองข้ามชอต
กัญญารัตน์ กาญจนวิสุทธิ์ (EIC) ธ.ไทยพาณิชย์

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกตั้งแต่ต้นปี 2020 ส่งผลให้ปริมาณการส่งออกถุงมือยางไทยในปี 2020 แตะระดับ 49,806 ล้านชิ้น ขยายตัว 35% จากปีก่อนหน้า และหนุนให้มูลค่าการส่งออกถุงมือยางไทยในปี 2020 พุ่งสูงขึ้นมาอยู่ที่ 2,345 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวถึง 95% จากปีก่อนหน้า

ขณะที่การแพร่ระบาดที่ยังคงอยู่ในหลายภูมิภาคในปัจจุบัน จะส่งผลให้ความต้องการใช้ถุงมือยางของโลกในปีนี้ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับที่ Malaysian Ruber Glove Manufacturers Association (MARGMA) คาดการณ์ว่า ความต้องการใช้ถุงมือยางของโลกในปี 2021 จะอยู่ที่ 420,000 ล้านชิ้น ขยายตัว 17% จากปีก่อนหน้า ซึ่งสะท้อนถึงโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการผลิตและส่งออกถุงมือยางไปยังตลาดโลกในปีนี้

ในปี 2020 ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการถุงมือยางรายใหญ่ของไทยเร่งขยายกำลังการผลิต เพื่อรองรับความต้องการใช้ถุงมือยางที่เพิ่มสูงขึ้นมาก และสำหรับในปีนี้ก็ยังคงขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ จุดแข็งของไทยในการเป็นแหล่งผลิตน้ำยางข้น ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตถุงมือยาง ประกอบกับการส่งเสริมการลงทุนจากภาครัฐ โดยกำหนดให้การผลิตถุงมือยางอยู่ในกลุ่มกิจการผลิต ผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติ ซึ่งได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี ดึงดูดให้มีผู้ประกอบการรายใหม่ ทั้งไทยและต่างชาติ เช่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี จีน เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น ส่งผลให้ในปี 2021 นี้ กำลังการผลิตถุงมือยางของไทยโดยรวมจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านชิ้น

ขณะเดียวกันบริษัท Top Glove ซึ่งเป็นผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่อันดับ 1 ของมาเลเซียและของโลก ก็ขยายกำลังการผลิตถุงมือยางในมาเลเซียอย่างต่อเนื่อง โดยวางแผนเพิ่มกำลังการผลิตถุงมือยางอีก 19,000 ล้านชิ้นในปีนี้ คิดเป็นกำลังการผลิตรวม 110,000 ล้านชิ้น ขยายตัว 21% จากปี 2020 เช่นเดียวกับ Hartalega ซึ่งเป็นผู้ผลิตถุงมือยางรายใหญ่อันดับ 2 ของมาเลเซีย ที่วางแผนเพิ่มกำลังการผลิตถุงมือยางอีก 19,000 ล้านชิ้นในปีนี้ ซึ่งจะทำให้มีกำลังการผลิตรวม 63,000 ล้านชิ้น ขยายตัว 43% จากปีก่อนหน้า

การขยายกำลังการผลิตของผู้เล่นหลักดังกล่าว จะส่งผลให้กำลังการผลิตถุงมือยางของมาเลเซียโดยรวมในปี 2021 ไม่ต่ำกว่า 250,000 ล้านชิ้น คิดเป็นสัดส่วนกว่า 60% ของความต้องการใช้ถุงมือยางทั่วโลกในปี 2021

EIC มองว่า แม้ว่าความต้องการใช้ถุงมือยางของโลกยังคงขยายตัวในระยะยาว ตามการเพิ่มขึ้นของประชากร การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น อาหาร อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีการใช้ถุงมือยาง รวมไปถึงการยกระดับบริการภาคสาธารณสุขทั่วโลก แต่หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่น่าจะมีแนวโน้มบรรเทาลง เนื่องจากมีการเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของหลายประเทศในปีนี้ อาจส่งผลให้ความต้องการใช้ถุงมือยางของโลกในปี 2022 มีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอลงจากปี 2020 และ 2021 ซึ่งอยู่ที่ 20% และ 17% ตามลำดับ

โดยความต้องการใช้ถุงมือยางสำหรับรักษาผู้ป่วยโควิด-19 มีแนวโน้มชะลอลง และจะเป็นการใช้ถุงมือยางสำหรับการฉีดวัคซีน และตรวจหาผู้ติดเชื้อแทน สถานการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลให้อุตสาหกรรมถุงมือยางไทยเผชิญภาวะกำลังการผลิตถุงมือยางสูงเกินความต้องการมาก รวมถึงการส่งออกถุงมือยางไทยมีแนวโน้มเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นในระยะต่อไป โดยเป็นผลมาจากปริมาณการผลิตถุงมือยางของโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาก จากการเร่งขยายกำลังการผลิตของผู้ประกอบการไทยและมาเลเซียในปัจจุบัน

ขณะเดียวกัน การบริหารจัดการต้นทุนวัตถุดิบและราคาขายก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายในระยะข้างหน้า เนื่องจากแนวโน้มการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ จะทำให้มีการนำน้ำยางสดไปแปรรูปเป็นยางแผ่นและยางแท่งมากขึ้น และอาจเกิดภาวะขาดแคลนน้ำยางสดสำหรับแปรรูปเป็นน้ำยางข้นเพื่อผลิตถุงมือยางตามมา

ยิ่งไปกว่านั้น ภาวะ climate change ในไทยที่มีความถี่และรุนแรงมากขึ้น ทั้งภัยแล้งซึ่งทำให้ผลผลิตน้ำยางสดลดลง และฝนตกหนักซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการกรีดยาง จะยิ่งซ้ำเติมให้การขาดแคลนน้ำยางสดรุนแรงขึ้น และดันให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่มีผลผลิตออกมาน้อย ซึ่งจะทำให้ต้นทุนวัตถุดิบในการผลิตถุงมือยางพุ่งสูงขึ้นตามไปด้วย

ขณะที่การปรับราคาขายตามต้นทุนวัตถุดิบที่แพงขึ้นน่าจะทำได้ค่อนข้างยาก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปริมาณการผลิตถุงมือยางของโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาก ข้อจำกัดดังกล่าวจะทำให้อัตรากำไรของผู้ประกอบการถุงมือยางลดลง แตกต่างจากสถานการณ์ในช่วงปลายปี 2020 ซึ่งแม้ราคาน้ำยางสดปรับตัวพุ่งสูงขึ้น แต่ก็ยังเป็นตลาดของผู้ประกอบการ (seller’s market) โดยผู้ประกอบการถุงมือยางไทยและมาเลเซีย สามารถปรับเพิ่มราคาถุงมือยางตามต้นทุนวัตถุดิบที่พุ่งสูงขึ้น และรักษาอัตรากำไรไว้ได้ เนื่องจากตลาดโลกยังมีความต้องการใช้ถุงมือยางปริมาณมากจากการแพร่ระบาดของโควิด-19

อีกทั้งหากการแข่งขันส่งออกถุงมือยางในตลาดโลกรุนแรงมากขึ้นในระดับที่เกิดภาวะการแข่งขันด้านราคาในระยะต่อไป แนวโน้มการแข็งค่าของเงินบาทก็อาจยิ่งซ้ำเติมให้ถุงมือยางไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคา และสูญเสียส่วนแบ่งตลาดส่งออกถุงมือยางให้กับมาเลเซียได้ โดยค่าเงินริงกิตมาเลเซียเทียบกับดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าสะสมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2015 เป็นต้นมา นับเป็นความท้าทายต่อการส่งออกถุงมือยางไทยที่สำคัญในระยะข้างหน้าด้วยเช่นกัน

EIC มองว่า การลงทุนหรือการขยายกำลังการผลิตถุงมือยางของผู้ประกอบการไทยควรเป็นไปอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้มีกำลังการผลิตส่วนเกินมากเกินไปหากสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยผู้ประกอบการที่เข้ามาในอุตสาหกรรมถุงมือยางอาจกระจายความเสี่ยงด้วยการผลิตถุงมือยางประเภทอื่น ๆ เช่น ถุงมือยางสำหรับภาคอุตสาหกรรม ถุงมือยางสำหรับใช้ในครัวเรือน นอกเหนือไปจากถุงมือยางทางการแพทย์

รวมถึงการพัฒนาคุณสมบัติถุงมือยางให้ดียิ่งขึ้น เช่น น้ำหนักเบา ยืดหยุ่น ทนความร้อนหรือสารเคมีได้ดีขึ้น ลดความอับชื้นระหว่างสวมใส่ หรือแม้แต่การปรับสูตรการผลิตเพื่อตอบโจทย์ผู้ที่แพ้สารโปรตีนในน้ำยางธรรมชาติ ก็จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับถุงมือยางได้

นอกจากนี้ มาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (nontariff barriers : NTBs) ซึ่งประเทศคู่ค้าอาจยกมาเป็นเงื่อนไขทางการค้าในอนาคต ก็เป็นประเด็นที่ผู้ประกอบการถุงมือยางไทยต้องเตรียมพร้อมรับมือ เช่น เรื่องสวัสดิการแรงงาน ที่สหรัฐอเมริกาได้ยกขึ้นมาเป็นข้ออ้างในการแบนการนำเข้าถุงมือยางจากผู้ประกอบการบางรายในมาเลเซียแล้ว

รวมถึงมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศพัฒนาแล้ว ก็เป็นแรงผลักให้ผู้ประกอบการถุงมือยางไทยต้องเร่งพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตถุงมือยางที่ย่อยสลายง่าย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันให้อุตสาหกรรมถุงมือยางไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน