ปั่นราคา ‘กัญชา’ โอเวอร์ ใบสด ‘แม่โจ้’ ขายกิโลละพัน

กัญชา
FILE PHOTO : Lillian SUWANRUMPHA / AFP
คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติธุรกิจ
กฤษณา ไพฑูรย์

วันนี้หากใครไม่เอ่ยถึงเรื่อง “กัญชา” พืชเศรษฐกิจตัวใหม่ ที่กำลังมาแรงแซงทางโค้ง ดูเหมือนจะกลายเป็นคนตกกระแส

ภายหลังประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2563 ปลดล็อกให้ทุกส่วนของกัญชาและกัญชงไม่เป็นยาเสพติด ยกเว้น ช่อดอก ใบที่ติดกับช่อดอก และเมล็ดกัญชา ยังเป็นยาเสพติดอยู่

โดยเฉพาะธุรกิจในแวดวงอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง และยา ทั้งรายเล็ก รายใหญ่ต่างโดดออกมาเกาะกระแส “กัญชาฟีเวอร์”

ขณะที่ร้านอาหารต่างนำเสนอเมนูสารพัดที่มีส่วนผสมของใบกัญชา เพื่อหวังเรียกแขกเข้าร้าน

การปลดล็อกของกระทรวงสาธารณสุขหลังจากรอคอยกันมานาน ส่งผลให้ประชาชนสามารถปลูกกัญชา และกัญชงได้ แต่ก็ไม่ง่ายนัก เริ่มจากรวมกลุ่มคนในชุมชนไม่น้อยกว่า 7 คน แต่ต้องไม่อยู่ในครอบครัวเดียวกัน และไม่มีชื่อในทะเบียนบ้านเดียวกัน เมื่อจดทะเบียนเป็น “วิสาหกิจชุมชน” แล้ว

การขออนุญาตปลูกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ภายใต้กฎหมายพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (พ.ร.บ.) ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2562 วิสาหกิจชุมชนนั้น ๆ ต้องไปทำสัญญาปลูกร่วมกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือหน่วยงานภาครัฐ หรือหน่วยงานสาธารณสุข

เพราะเมื่อต้นเติบโต ใบ ต้น รากกัญชาสามารถนำไปขายหารายได้ แต่ช่อดอก ใบรองดอกหรือใบที่ติดกับช่อดอก และเมล็ดกัญชา ยังเป็นยาเสพติดอยู่ ต้องนำส่งให้ รพ.สต.คู่สัญญา เพื่อนำไปผลิตเป็นยา

ตอนนี้ชาวบ้านหลายจังหวัดไปจดทะเบียนปลูกกัญชากันคึกคักทีเดียว เช่น จังหวัดบุรีรัมย์ สกลนคร อุดรธานี พิษณุโลก นครราชสีมา เชียงใหม่ เป็นต้น โดยเฉพาะโครงการนำร่อง ทดลองปลูกกัญชาบ้านละ 6 ต้น ผ่าน “โนนมาลัยโมเดล” อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ ที่วิสาหกิจชุมชนทำสัญญาร่วมกับ รพ.สต.บ้านโนนมาลัย ที่ทำเอาหลายจังหวัดอยากเดินตามรอย

ขณะที่บรรดามหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั้งรัฐ และเอกชนต่างถูกภาคธุรกิจรุมทึ้ง นำเสนอทุนสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์กัญชากันอย่างถ้วนหน้า ด้วยหวังนำผลวิจัยไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ และส่งออกไปขายในตลาดต่างประเทศได้ราคา

โดยเฉพาะ “มหาวิทยาลัยแม่โจ้” จังหวัดเชียงใหม่ ถือเป็นสถาบันการศึกษาเบอร์ 1 ในอาเซียน ที่สามารถปลูกกัญชาระบบอินทรีย์ และมีจำนวนต้นกัญชามากที่สุด ส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจกว่า 100 ราย แห่กันอยากทำ MOU กับแม่โจ้ด้วย

แต่แม่โจ้ได้ทำการคัดเลือก และทำ MOU เพียงกว่า 30 บริษัท ซึ่งเป็นความตกลงในการศึกษาวิจัยกัญชา (R&D) ร่วมกัน โดยมหาวิทยาลัยแม่โจ้นำสารสกัดไปทำสินค้าต้นแบบให้

ศาสตราจารย์ ดร.อานัฐ ตันโช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ แม่ทัพใหญ่ผู้รับผิดชอบโครงการกัญชา ได้เล่าให้ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ประจำจังหวัดเชียงใหม่ ฟังว่า หลังจากกระทรวงสาธารณสุขไฟเขียวอนุมัติให้มหาวิทยาลัยแม่โจ้ทดลองปลูกกัญชาในปี 2562 เริ่มปลูกเพียง 100 ต้น บนพื้นที่ 5 ไร่ ต.ป่าไผ่ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ตอนนี้ แม่โจ้มีกัญชา 67,700 ต้น และคาดว่ากลางปี 2564 จะเพิ่ม 70,000 ต้น

ส่วนผลผลิตกัญชาในส่วนของช่อดอก รัฐบาลยังไม่ปลดล็อก แม่โจ้ส่งมอบให้กรมการแพทย์ และองค์การเภสัชกรรม นำไปผลิตน้ำมันกัญชา ส่วนใบ ต้น และราก นำไปขาย โดยต้องสั่งซื้อล่วงหน้า ใบสด กิโลกรัมละ 1,000 บาท ต้น (แห้ง) กิโลกรัมละ 1,000 บาท ราก (สด) กิโลกรัมละ 2,000 บาท ราก (แห้ง) กิโลกรัมละ 5,000 บาท

ถือเป็นราคาที่ถูกกว่าท้องตลาดที่ “ปั่นราคา” ขึ้นไป เฉพาะใบกัญชาสดราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 15,000 บาท ใบกัญชาแห้งจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 40,000 บาท ส่วนลำต้นกัญชาจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 15,000 บาท และรากกัญชาอยู่ที่กิโลกรัมละ 45,000 บาท

อาจารย์อานัฐบอกว่า “คนที่ซื้อใบกัญชาสดนำไปปรุงอาหาร แนะนำว่า เมนูอาหาร 1 จาน ให้ใช้ใบกัญชาสดเพียง 1 ใบ เป็นปริมาณที่เหมาะสม”

อย่างไรก็ตาม อ.อานัฐชี้ทิศทางธุรกิจกัญชาด้วยว่า แนวโน้มธุรกิจแปรรูปผลิตภัณฑ์กัญชาของไทยจะเติบโตเร็วมากในอนาคต โดยเฉพาะการแปรรูปผลิตภัณฑ์กัญชาในระดับอุตสาหกรรม เพราะความต้องการของตลาดมีสูงมาก แต่ต้องมีการจัดการที่ดี โดยเฉพาะการตั้งกฎเกณฑ์-กติกาของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่ยังดำเนินการไม่เสร็จ

พร้อมกับแนะนำว่า รัฐบาลไทย “ไม่ควรเปิดเสรีกัญชา” ทั้งหมด ส่วนไหนใช้ได้ต้องมีกฎหมายควบคุมให้ชัดเจน

อย่างไรก็ตาม กระแสฟีเวอร์ของกัญชา และราคาที่เย้ายวน ทำให้เกษตรกรหลายจังหวัดดิ้นรนจดทะเบียนเป็น “วิสาหกิจชุมชน” เพื่อหวังกอบโกย เหมือนกับการปลูกพืชเศรษฐกิจทั่วไป เวลาเห็นอะไรราคาดีจะแห่กันปลูก ทำให้ผลผลิตล้นตลาดจนราคาตกต่ำ มีบทเรียนให้เห็นนับครั้งไม่ถ้วน

ดังนั้น ก่อนลงทุน ก้าวทีละขั้น ศึกษาข้อมูลให้ดีกับหน่วยงานที่ “น่าเชื่อถือ” โดยเฉพาะเรื่องสายพันธุ์ และวิธีดูแลให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาด ไม่จำเป็นต้องไปซื้ออุปกรณ์ โรงเรือน ปุ๋ย ยาราคาแพง ๆ