ความร่วมมือ ‘แม่โขง-ล้านช้าง’ เชื่อมเศรษฐกิจข้ามพรมแดน 6 ประเทศ

แม่น้ำโขง
คอลัมน์ แตกประเด็น
อรมน ทรัพย์ทวีธรรม

ความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง เป็นหนึ่งในกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่สมาชิกมีความเชื่อมโยงผ่านแม่น้ำสายเดียวกัน โดยช่วงที่ไหลผ่านมณฑลยูนนานของจีน จะคุ้นเคยกันในชื่อ “หลานชาง” หรือ “ล้านช้าง” เมื่อไหลผ่านลาว เมียนมา ไทย กัมพูชา ก่อนสู่ทะเลจีนใต้ที่เวียดนาม จะคุ้นเคยกันในชื่อ “แม่โขง” ความร่วมมือนี้พัฒนามาจากข้อริเริ่มของไทยในปี 2555 ต่อมาได้จัดตั้งกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้างเป็นทางการในเดือนพฤศจิกายน 2558 ประกอบด้วยสมาชิก 6 ประเทศ คือ กัมพูชา ลาว เมียนมา ไทย เวียดนาม และจีน

เน้นพัฒนาความร่วมมือ 3 เสาหลัก (1) การเมืองและความมั่นคง (2) เศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน (3) สังคมและวัฒนธรรม โดยจัดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนความร่วมมือ 6 ด้าน (1) ความเชื่อมโยง (2) ศักยภาพในการผลิต (3) เศรษฐกิจข้ามพรมแดน (4) ทรัพยากรน้ำ (5) การเกษตร และ (6) การขจัดความยากจน

คณะทำงานความร่วมมือด้านเศรษฐกิจข้ามพรมแดนอยู่ระหว่างจัดทำแผนปฏิบัติการ มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และอุตสาหกรรมระหว่างประเทศสมาชิก โดยเฉพาะในสาขา เช่น เกษตรและเกษตรแปรรูป พลังงาน การท่องเที่ยว เทคโนโลยีสารสนเทศ อุตสาหกรรมการผลิต

ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษข้ามพรมแดนระหว่างสมาชิก การจัดตั้งสภาธุรกิจแม่โขง-ล้านช้าง การจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้า การจัดตั้งเครือข่ายทางการค้าระหว่างสมาชิกแม่โขง-ล้านช้าง เป็นต้น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้รับมอบให้เป็นหน่วยประสานหลักของไทยในเรื่องนี้

จีนเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง โดยได้ตั้งกองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง กว่า 300 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้สมาชิกใช้ดำเนินโครงการความร่วมมือต่าง ๆ และผลักดันข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative : BRI) เชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่งกับประเทศคู่ค้า

ปี 2561 ไทยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง 4 โครงการ ซึ่งได้มอบให้สถาบันความร่วมมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจลุ่มน้ำโขงเป็นผู้ดำเนินโครงการ ได้แก่ (1) โครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษข้ามพรมแดน โดยนำแนวคิดการทำโมเดลเขตเศรษฐกิจพิเศษและเขตการค้าเสรี เช่น เขตการค้าเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Pilot Trade Zone) เป็นต้นแบบ จะเสร็จในเดือนธันวาคม 2564

(2) โครงการพัฒนาการอำนวยความสะดวกตามแนวชายแดน เช่น พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า จะช่วยให้การปล่อยสินค้าคล่องตัว ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริการด้านโลจิสติกส์ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตแก่ผู้ประกอบการ จะเสร็จเดือนธันวาคม 2564

(3) โครงการจัดกิจกรรมเวทีภาคธุรกิจแม่โขง-ล้านช้าง เพื่อสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการแม่โขง-ล้านช้าง อาทิ การจัดงานแสดงสินค้า จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ กิจกรรมจับคู่ทางธุรกิจ จะเสร็จปี 2566 (4) โครงการพัฒนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในเขตชนบท ซึ่งจะช่วยให้ SMEs ในชนบทได้เข้าถึงตลาดการค้าในระดับประเทและระดับสากล ซึ่งดำเนินงานเสร็จแล้ว

ปลายปี 2563 ไทยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง เพิ่มเติม ดำเนินโครงการ “สร้างโอกาสสำหรับการค้าข้ามพรมแดนในกลุ่มประเทศสมาชิกแม่โขง-ล้านช้าง จากการพัฒนาเส้นทาง R3A และโครงข่ายรถไฟ China-Pan Asia”

ซึ่งกระทรวงพาณิชย์มอบให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้ดำเนินโครงการเป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อศึกษาโอกาสและการใช้ประโยชน์จากเส้นทาง R3A ที่เชื่อมระหว่างจีน ลาว และไทย ผ่านจุดพรมแดนและเมืองสำคัญ เช่น อ.เชียงของ (จ.เชียงราย) บ้านห้วยทราย (ลาว) บ่อเต็น (ลาว) บ่อหาน (จีน) และคุนหมิง (จีน)

รวมทั้งศึกษากฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับนโยบายพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน (Cross Border e-Commerce : CBEC) เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเชียงของ ให้เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของ CBEC ส่งเสริมการส่งออกสินค้าไทยและอาเซียนผ่านเส้นทาง R3A และเขตการค้าเสรีคุนหมิง

ตลอดจนเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการโลจิสติกส์ไทยผ่านเส้นทาง R3A และโครงข่ายรถไฟของจีนที่สร้างเชื่อมต่อจากคุนหมิงถึงบ่อหาน เพื่อยกระดับสู่การเชื่อมโยงพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศสมาชิกแม่โขง-ล้านช้าง อาเซียน จีน และยุโรป ในอนาคต

หากสามารถผลักดันโครงการเศรษฐกิจพิเศษเชียงของเชื่อมกับเขตเศรษฐกิจพิเศษบ่อหาน-บ่อเต็น ได้สำเร็จ และพัฒนาเชียงของให้มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานสำหรับ CBEC ทั้งระบบสาธารณูปโภค ศูนย์เปลี่ยนถ่ายการขนส่งสินค้า และคลังสินค้าทัณฑ์บน

ในอนาคตผู้ประกอบการไทยจะได้รับสิทธิประโยชน์ด้านภาษีสำหรับสินค้าที่อยู่ในรายการที่จีนกำหนดให้สามารถขอรับสิทธิพิเศษสำหรับ CBEC ได้ (Positive Lists for CBEC) อาทิผลไม้อบแห้ง ชา กาแฟ เครื่องสำอางซึ่งจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีศุลกากร และเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีสรรพสามิตในอัตราร้อยละ 70 ของอัตราภาษีปกติ และสามารถเชื่อมโยงเชียงของเป็นเส้นทางการค้าสู่จีน และยุโรป


ในขณะเดียวกัน จีนก็สามารถใช้เชียงของเป็นประตูเชื่อมโยงการค้าในรูปแบบ CBEC กับอาเซียน ซึ่งจะเป็นการขยายโอกาสการค้าของไทย ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นของเชียงของให้เติบโตต่อไป ทั้งนี้ ในปี 2563 การค้าระหว่างไทยกับสมาชิกแม่โขง-ล้านช้าง มีมูลค่า 116,390 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการส่งออกมูลค่า 54,164 ล้านเหรียญสหรัฐ และการนำเข้ามูลค่า 62,225 ล้านเหรียญสหรัฐ