ตรวจชีพจรธุรกิจก่อสร้าง โอกาสทางธุรกิจใน New Normal

คอลัมน์ ระดมสมอง
ไตรวุฒิ นพรัตน์
ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS

ภาคการก่อสร้างมีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจ และครัวเรือน งานก่อสร้างใน segment ต่าง ๆ ทั้งงานโยธา งานอาคาร และงานเฉพาะด้าน มีความเกี่ยวเนื่องกับห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจ ตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ

ทั้งธุรกิจเหมืองแร่ งานออกแบบ การจัดหาแรงงาน/การจ้างงาน การผลิต/จำหน่ายวัสดุก่อสร้าง ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ รวมถึงสถาบันการเงิน เป็นต้น ขณะเดียวกันยังเป็นเครื่องมือสำคัญของภาครัฐเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

ในปี 2563 แม้ว่าการลงทุนก่อสร้างจะได้รับผลกระทบจากภาวะซบเซาของภาคอสังหาริมทรัพย์ และการแพร่ระบาดของ COVID-19 แต่ภาพรวมยังขยายตัวได้ 2.2% โดยมีมูลค่า 1.32 ล้านล้านบาท และมีสัดส่วนใน GDP สูงถึง 8.4%

แรงขับเคลื่อนหลักคือการก่อสร้างภาครัฐที่ยังเติบโตได้ 5.7% ขณะที่การก่อสร้างภาคเอกชนหดตัว 2.2% ซึ่งต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2558

โดยเฉพาะงานก่อสร้างอาคารภาคเอกชน ที่มีสัดส่วน 80% ของมูลค่างานก่อสร้างภาคเอกชน หดตัวมากถึง 6.1% ภาวะซบเซาของภาคอสังหาฯส่งผลให้งานก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยภาคเอกชนหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 2

ผลการดำเนินงานและความสามารถในการทำกำไรของผู้ประกอบการลดลง ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จำนวน 35 ราย มีรายได้รวม 2.06 แสนล้านบาทในปี 2563 ลดลง 6.6% (YOY)

ผู้ประกอบการ 74% ประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจ สะท้อนจากรายได้ที่ลดลง ผลกำไร/อัตรากำไรสุทธิที่ลดลง หรือมีผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิ

โดยรวมแล้ว ผู้ประกอบการที่มีผลการดำเนินงานขาดทุนมีสัดส่วนสูงถึง 37% เพิ่มขึ้นจาก 35% ในปี 2562 และอัตรากำไรสุทธิส่วนใหญ่แนวโน้มลดลง

ทั้งนี้ ด้วยเหตุที่ผลกระทบของ COVID-19 เกิดขึ้นในวงกว้าง จึงคาดว่าผลการดำเนินงานของกลุ่มผู้ประกอบการรายกลางและรายเล็กที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯก็คงประสบปัญหาไม่แตกต่างกัน

คุณภาพสินเชื่อของธุรกิจก่อสร้างจึงด้อยลงตามไปด้วย จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่า ณ สิ้นไตรมาส 4/2563 ยอดคงค้างเงินให้สินเชื่อธุรกิจก่อสร้างในระบบธนาคารพาณิชย์มีมูลค่ารวม 2.80 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.8% (YOY)

โดยเพิ่มขึ้นในกลุ่มงานโยธา และกลุ่มงานก่อสร้างเฉพาะด้าน ขณะที่กลุ่มงานก่อสร้างงานอาคาร หดตัวลงตามภาวะซบเซาของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

ซึ่งเมื่อพิจารณาด้านคุณภาพสินเชื่อพบว่า ธุรกิจก่อสร้างมีสัดส่วน nonperforming ratio อยู่ที่ระดับ 7.7% (เร่งตัวขึ้นจาก 6.9% ในไตรมาส 4/2562) สูงกว่าค่าเฉลี่ยของสินเชื่อธุรกิจโดยรวม (ไม่รวมสินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคล & กิจกรรมทางการเงิน และการประกันภัย) ในช่วงปี 2557-2563 ที่ระดับ 4.0% ส่วนใหญ่เกิดจากสินเชื่อผู้รับเหมางานอาคารและงานเฉพาะด้านที่เร่งตัวขึ้น

โดยเฉพาะกลุ่มผู้รับเหมางานอาคารที่มีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้สูงที่สุดในกลุ่ม จากภาวะตลาดที่หดตัวต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

ขณะเดียวกันในปี 2563 nonperforming ratio งานโยธาก็เร่งตัวขึ้นสูง (เฉลี่ย 7.1%) ใกล้เคียงงานเฉพาะด้าน เทียบกับช่วงก่อนหน้า (ปี 2557-2561) ที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับต่ำกว่า 2% และต่ำที่สุดในกลุ่มก่อสร้าง

สำหรับในปี 2564 การลงทุนก่อสร้างมีแนวโน้มขยายตัวประมาณ 4.9% เร่งตัวขึ้นตามการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจในประเทศ โดยเพิ่มขึ้นจากการก่อสร้างภาครัฐ ซึ่งส่วนใหญ่การก่อสร้างต่อเนื่องในพื้นที่ EEC รวมทั้งการพัฒนาด้านการคมนาคมในภูมิภาค และงานก่อสร้างที่อยู่อาศัยแนวราบในภูมิภาคของภาคเอกชน

เนื่องจาก developer ส่วนใหญ่หันไปพัฒนาบ้านจัดสรรกันมากขึ้น ด้วยข้อจำกัดด้านพื้นที่และราคาที่ดินมีไม่มากเท่ากรุงเทพฯและปริมณฑล รวมทั้งโครงการคอนโดมิเนียมบริเวณแนวสถานีรถไฟฟ้าบางส่วนที่เลื่อนการก่อสร้างมาจากปี 2563

Krungthai COMPASS ประเมินว่า งานก่อสร้างภาครัฐยังเป็นเป้าหมายหลักของผู้รับเหมา เนื่องจากยังมีแนวโน้มเติบโตตามการเพิ่มขึ้นของรายจ่ายลงทุนของงบประมาณประจำปี 2564 ซึ่งคาดว่าจะสนับสนุนให้
การลงทุนก่อสร้างภาครัฐเพิ่มขึ้น 7.0%

อย่างไรก็ดี segment นี้อาจจะต้องมองหาลู่ทางเพื่อกระจายความเสี่ยงในการพึ่งพางานก่อสร้างภาครัฐเพียงด้านเดียว เพราะงานภาครัฐก็มีความเสี่ยงจากความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณ ซึ่งสร้างความไม่แน่นอนให้กับกระแสเงินสด

อย่างไรก็ดี มองว่างานก่อสร้างภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างเปราะบาง คาดว่าเติบโตได้ประมาณ 3.0% ในปี 2564 โดยยังมีมูลค่าต่ำเมื่อเทียบกับปี 2561-2562 เพราะธุรกิจที่อยู่อาศัยภาคเอกชนซึ่งเป็น driver หลักต้องใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัว ซึ่งจำเป็นต้องรอแรงหนุนจากมาตรการภาครัฐที่จะช่วยฟื้นฟูภาคอสังหาริมทรัพย์

นอกจากนี้ หากภายในประเทยังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาด COVID-19 ได้ ธุรกิจก่อสร้างยังคงปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่อเนื่อง

อีกทั้งแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบโดยเฉพาะกลุ่มเหล็กในปี 2564 ที่เร่งตัวสูงขึ้นอย่างมาก จะกลายเป็นปัญหาใหม่ของผู้รับเหมาภาคเอกชนในปีนี้

เนื่องจากพบว่าราคาเหล็กเส้นและเหล็กแผ่น ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้เร่งตัวขึ้น 42-48% แล้ว รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของราคาโลหะอุตสาหกรรม (industrial metals) อื่น ที่เป็นวัตถุดิบของการก่อสร้าง เช่น อะลูมิเนียม สังกะสี เป็นต้น

Krungthai COMPASS มองโอกาสทางธุรกิจใน new normal ของก่อสร้าง ต้องตอบโจทย์ green economy, health/aging society และวิถี work from home (WFH) นอกจากการปรับตัวของผู้รับเหมาก่อสร้างเพื่อกระจายความเสี่ยงไปสู่ธุรกิจอื่นแล้ว จากนี้ไปจะเกิดโอกาสใหม่ที่เป็น new normal ของธุรกิจก่อสร้าง ใน segment ที่สามารถตอบสนอง green economy, health/aging society และวิถี WFH เป็นต้น ดังนี้

(1) งานก่อสร้างที่สามารถสนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียว จะเป็นที่ต้องการในอนาคต เช่น งานออกแบบ/ติดตั้งระบบพลังงานไฟฟ้า solar rooftop

และงานก่อสร้างภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการลดก๊าซ CO2 /การสนับสนุนให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศ งานออกแบบ/ติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสีย/ขยะ และรวมไปถึงการผลิต/ใช้วัสดุก่อสร้างที่ประหยัดพลังงาน หรือเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

(2) การก่อสร้างหรือวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับ health/aging society จะเป็นที่สนใจของ developer และครัวเรือนมากขึ้น เช่น การสร้าง/ปรับปรุงอาคารที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ วัสดุ/อุปกรณ์ก่อสร้าง

และการติดตั้งระบบ automation ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพ/การป้องกันเชื้อโรค และรวมไปถึงงานออกแบบที่สามารถตอบโจทย์การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ของประเทศไทยในปี 2564 นี้

(3) นอกจากงานปรับปรุงอาคารสำนักงานเพื่อลดความสำคัญของการทำงานที่ office ลง แล้ว งานปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้เป็น home office เพื่อรองรับวิถี WFM ก็จะตามมามากขึ้น รวมทั้งงานก่อสร้าง/ตกแต่งอาคารประเภท coworking space ที่สามารถตอบโจทย์ในยุคปัจจุบัน

(4) แนวโน้มงานก่อสร้างที่อยู่อาศัยแนวราบในต่างจังหวัดมีโอกาสขยายตัว เนื่องจากยังมีปัจจัยหนุนด้านราคาที่ดิน และแนวโน้มมการขยายตัวของ urbanization ที่ได้แรงหนุนจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภูมิภาค ตลอดจนการออกไปรับงานในประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศที่ไม่มีประเด็นด้านการเมือง โดยเฉพาะงานก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคและด้านพลังงาน

ชีพจรของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่ปรากฏผ่านเครื่องตรวจวัดด้านผลการดำเนินงาน และคุณภาพหนี้ ทำให้พบว่าการพึ่งพาธุรกิจเพียงด้านเดียวอาจไม่สามารถสร้างผลประกอบการที่ดีอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีประสบการณ์ที่ยาวนาน

โดยเฉพาะการพึ่งพาเฉพาะโครงการภาครัฐ หรือ focus เฉพาะพื้นที่ หรือการรับงาน/ใช้เทคโนโลยีแบบเดิม ๆ โดยไม่ปรับตัวให้สอดรับกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงหรือความต้องการในอนาคต

ด้านการตลาด จากนี้ไปผู้รับเหมาต้องเพิ่มศักยภาพเพื่อไปรับงานต่างพื้นที่หรือต่างประเทศมากขึ้น รวมถึงงานก่อสร้างและการใช้วัสดุก่อสร้างให้สอดรับกับความต้องการใหม่ ๆ ทั้ง green economy, health/aging society และ WFH

ในส่วนขององค์กร เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาก ทั้งในส่วนของการใช้พลังงาน การปล่อยก๊าซ CO2 เสียง ฝุ่น ขยะ/สิ่งของที่เกิดจากการก่อสร้าง

ทำให้นอกเหนือจากต้องสามารถส่งมอบงานตรงเวลา ตรงตาม spec และเป็นไปตามระเบียบของทางการแล้ว ยังต้องครอบคลุมไปถึงความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย


โดยเฉพาะประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสุขภาพ ด้านความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน รวมไปถึงบรรษัทภิบาล เพื่อให้องค์กรเป็นที่ยอมรับของสังคม