ลดความเสี่ยงจากโควิด-19 โดยการดูแลสุขภาพตัวเอง

เครดิตภาพ : pixabay.com/th
Healthy aglng
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ในขณะที่คนไทยกำลังเครียดมากขึ้นกับการระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์เดลต้า การเข้าไม่ถึงวัคซีนและการพะวงหา antigen rapid test นั้น อีกทางหนึ่งที่จะลดทอนความเสี่ยงของตัวเองจากการป่วยและเสียชีวิตจาก COVID-19 คือ การดูแลสุขภาพตัวเองให้แข็งแรง คือการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและการควบคุมน้ำหนักของตัวเองให้อยู่ในเกณฑ์ไม่อ้วนเกินไปและไม่ผอมเกินไป ซึ่งมีงานวิจัยยืนยันความสำคัญของการดูแลสุขภาพในสองประเด็นหลักดังกล่าวว่ามีประโยชน์อย่างมากในการลดความเสี่ยงจากการป่วยหนักและเสียชีวิตจากการเป็น COVID-19

สำหรับการพิสูจน์ว่า การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อดูแลสุขภาพให้แข็งแรงจะลดทอนความเสี่ยงของตัวเองจากการป่วยและเสียชีวิตจาก COVID-19 นั้นข้อมูลค่อนข้างจะหาได้ยาก แต่ก็ได้มีการทำวิจัยจากข้อมูลพฤติกรรมเกี่ยวกับการออกกำลังกายของลูกค้าของบริษัทประกันสุขภาพก่อนหน้าการระบาดของ COVID-19 จำนวน 48,440 คน ที่ต่อมาติด COVID-19

ซึ่งสามารถสรุปได้ดังปรากฏในตาราง (ท่านที่ต้องการอ่านงานวิจัยดังกล่าวสามารถหาได้จากวารสารBritish Journal of Sports Medicine วันที่ 13 เมษายน 2021 “Physical inactivity is associated with a high risk of severe COVID-19 outcomes : a study in 48,440 adult patients”

ข้อมูลข้างต้นมีข้อสรุปดังนี้

1.คนส่วนใหญ่ออกกำลังเป็นครั้งคราวไม่เพียงพอตามมาตรฐานที่กำหนดเอาไว้ โดยองค์การอนามัยโลกคือการออกกำลังกาย เช่น การเดินเร็วสัปดาห์ละ 150 นาที กล่าวคือในจำนวนคนติด COVID-19 ในงานวิจัยนี้ 48,440 คนนั้น มีจำนวนคนอยู่ในข่ายออกกำลังกายไม่เพียงพอถึง 38,338 คน หรือ 79.1% ทำให้เดาได้ว่าหลายท่านที่อ่านบทความนี้น่าจะออกกำลังกายไม่เพียงพอเช่นกัน

2.คนออกกำลังกายเพียงพอนั้นมีอยู่เพียง 3,118 คน หรือเพียง 6.4% แต่เป็นกลุ่มที่ได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าอย่างมาก เพราะมีเพียง 3.2% ที่ป่วยจนต้องเข้าไปรักษาตัวที่โรงพยาบาล เพียง 1% ที่ต้องเข้าห้อง ICU และเพียง 0.4% หรือ 11 คนเท่านั้นที่เสียชีวิต จะเห็นได้ว่าความเสี่ยงของคนกลุ่มนี้ลดลงประมาณ 1-2 เท่าตัวเมื่อเทียบกับคนที่ออกกำลังกายเป็นครั้งคราว

3.คนที่แทบจะไม่ออกกำลังกายเลยนั้นมีความเสี่ยงสูงขึ้นอย่างมาก เช่น มากถึง 10.5% ต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาล และ 2.8% หรือ 195 คนต้องเข้าห้อง ICU ซึ่งจะเห็นได้ว่าจากจำนวนดังกล่าวมีจำนวนผู้เสียชีวิตมากถึง 2.4% หรือ 170 คน แปลว่าคนที่ต้องเข้าห้อง ICU มีรอดชีวิตออกมาได้เพียง 25 คนเท่านั้น แต่สำหรับคนที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอตามเกณฑ์ที่ต้องเข้าห้อง ICU 32 คนนั้น เพียง 11 คน หรือ 1/3 ต้องเสียชีวิตลง

อีกด้านหนึ่งของการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง คือ การควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้เกินเกณฑ์ คือ BMI อยู่ระหว่าง 18.5-24.9 (สูตร BMI คือน้ำหนัก (กิโลกรัม) หารด้วยความสูงเป็นเมตรยกกำลัง 2) เช่นหากความสูงเท่ากับ 170 เซนติเมตร น้ำหนักตัวควรอยู่ระหว่าง53.5 กิโลกรัม ถึง 72 กิโลกรัม เป็นต้น ในส่วนนี้มีงานวิจัยมากมาย เช่น ที่ประเทศจีน สหรัฐ อังกฤษ สเปน ฝรั่งเศส สวีเดน อิตาลี สวิตเซอร์แลนด์ คูเวต บราซิลและเม็กซิโก (ครอบคลุมคนครบทุกเชื้อชาติ) โดยมีข้อสรุปเหมือนกันคือคนที่น้ำหนักเกินและ/หรือเป็นโรคอ้วนมีความเสี่ยงมากกว่าคนที่น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติในการที่จะป่วยหนักหรือเสียชีวิต

แต่งานวิจัยล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคม 2021 ที่รวบรวมข้อมูลจากกว่า 160 ประเทศ พบว่าในประเทศที่มีสัดส่วนประชาชนที่น้ำหนักเกินกว่าเกณฑ์ (คนอ้วน) มากกว่า 50% ของประชากรทั้งหมดนั้น มีประชากรเสียชีวิตเพราะ COVID-19 มากถึง 2.2 ล้านคน ในขณะที่ประเทศที่ประชากรมีสัดส่วนคนอ้วนต่ำกว่า 50% ของประชากรทั้งหมด มีจำนวนผู้เสียชีวิตเพียง 3 แสนคน กล่าวคือประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นคนอ้วนนั้น มีจำนวนผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 มากกว่าประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่อ้วนเกือบ 10 เท่าตัว

ทั้งนี้เมื่อปรับปัจจัยอื่น ๆ ที่สำคัญ เช่น อายุและความร่ำรวยออกไปแล้ว ก็ยังมีข้อสรุปเช่นเดิม คือ ความอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีนัยสำคัญในการทำให้เสียชีวิตจาก COVID-19 ซึ่งหากจะรับรู้ข้อมูลในรายละเอียดก็สามารถสรุปได้จากตาราง

จะเห็นได้จากตารางข้างบนว่า ในประเทศที่ประชาชนน้อยกว่า 30% มีน้ำหนักตัวสูงเกินกว่าเกณฑ์นั้น มีจำนวนผู้ที่เสียชีวิตจาก COVID-19 เพียง 6.6 คน จากประชากร 100,000 คน ซึ่งเมื่อดูเป็นรายประเทศนั้น ผมขอยกตัวอย่างเพียง 3 ประเทศ คือ


ในส่วนของตัวเลขของประเทศไทยนั้น ผมได้นำเอาตัวเลขผู้ที่เสียชีวิตล่าสุดรวมทั้งสิ้น 3,341 คน ซึ่งเป็นตัวเลขถึงวันที่ 17 กรกฎาคมครับ