โครงการ Factory Sandbox

Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP
คอลัมน์ สามัญสำนึก
ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร

แม้ว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนสิงหาคมมีแนวโน้มที่จะลดลง “ต่ำกว่า” วันละ 20,000 คน (ณ วันที่ 24 สิงหาคม 2564 ติดเชื้อ 17,165 คน) แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อในจังหวัดรอบกรุงเทพฯที่เป็นพื้นที่สีแดงเข้ม

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สมุทรปราการ-สมุทรสาคร-ชลบุรี จำนวนผู้ติดเชื้อต่อวันยังอยู่ระหว่างตัวเลข 1,000-2,000 คนมาโดยตลอด และถ้าพิจารณาไปถึงจังหวัดที่อยู่วงรอบถัดไป ไม่ว่าจะเป็นปทุมธานี-นนทบุรี-พระนครศรีอยุธยา-ฉะเชิงเทรา ตัวเลขคนติดเชื้อก็ยังวิ่งอยู่ระหว่าง 100-500 คนต่อวันติดต่อกันมาเป็นเดือน ๆ

จากการสอบสวนการติดเชื้อโควิด-19 ในจังหวัดเหล่านี้พบเป็นการติดเชื้อในคลัสเตอร์ โรงงานอุตสาหกรรม แพร่เข้าสู่ ตลาดนัด-ชุมชนที่อยู่อาศัย เสียเป็นส่วนใหญ่ โดยพบข้อเท็จจริงว่า ส่วนใหญ่ของผู้ติดเชื้อเป็น แรงงานทั้งไทยและต่างด้าว และการติดเชื้อไม่ได้เพิ่งจะมาเริ่มต้นขึ้นในการระบาดรอบนี้

แต่เป็นมาโดยตลอดตั้งแต่การระบาดรอบ 2 ยกตัวอย่างที่จังหวัดสมุทรสาคร ยังไม่มีช่วงเวลาใดที่บ่งชี้ว่า จังหวัดนี้ปลอดจากการระบาดของโควิด-19

แน่นอนว่า การล็อกดาวน์ประเทศอย่างยาวนาน แม้ว่าจะมีการผ่อนคลายเป็นระยะ ๆ เมื่อตัวเลขการติดเชื้อลดต่ำลงนั้น ได้ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนและที่สำคัญก็คือ การส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของประเทศ ซึ่งจัดเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพียงกิจกรรมเดียวที่ขับเคลื่อนประเทศไทย

จนกลายมาเป็นโจทย์สำคัญของประเทศที่ว่า ทำอย่างไรจะให้ภาคการส่งออกดำเนินต่อไปควบคู่ไปกับทำอย่างไรจะทำให้จำนวนคนติดเชื้อภายในประเทศลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะนำไปสู่การเปิดประเทศเพื่อขับเคลื่อนภาคการผลิตอื่น ๆ อาทิ ภาคการท่องเที่ยว ได้ต่อไป

ทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาของข้อเสนอจากภาครัฐในการจัดทำ โครงการนำร่องการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดในโรงงาน หรือ Factory Sandbox ควบคู่ไปกับการจัดทำ มาตรการป้องกันควบคุมในพื้นที่เฉพาะ หรือ Bubble & Seal

ภายใต้หลักการที่ว่า เป็นการป้องกันโรคก่อนที่จะเกิดการระบาดและควบคุมโรคเมื่อเกิดการระบาด โดย Factory Sandbox จะแบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรก 4 จังหวัด ได้แก่ นนทบุรี-ปทุมธานี-สมุทรสาคร และชลบุรี

มีจำนวนโรงงานที่สนใจเข้าร่วมโครงการ 60 แห่ง จำนวนลูกจ้าง 138,395 คน กับ ระยะที่ 2 ใน 3 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา-ฉะเชิงเทรา-สมุทรปราการ

โครงการ Factory Sandbox แม้จะเป็นโครงการ “โดยสมัครใจ” แต่มีเงื่อนไขประกอบไปด้วย 1) เป็นโรงงานผลิตเพื่อการส่งออกที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป 2) มีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในพื้นที่ของโรงงาน หรือ Factory Accommodation Isolation (FAI) ไม่ต่ำกว่าร้อยละห้า

3) มีการทำ Bubble and Seal 4) มีการตรวจหาเชื้อแบบ RT-PCR จำนวน 1 ครั้ง ให้กับลูกจ้างทั้งหมด และตรวจแบบ Seaf-ATK ทุก 7 วัน และ 5) มีการฉีดวัคซีนให้ลูกจ้างที่ตรวจ Swab Test ทุกคนด้วย

ปรากฏผู้ประกอบการทุกรายบอกว่า โครงการ Factory Sandbox เป็นโครงการที่ดีมาก เนื่องจากเป็นการ “การันตี” ว่า ผู้เข้าร่วมโครงการจะไม่ถูกคำสั่ง “ปิดโรงงาน” ซึ่งเจ้าของกิจการส่งออก โดยเฉพาะโรงงานขนาดใหญ่ทุกโรงกลัวมากที่สุด

แต่เนื่องจากโครงการนำร่องกำหนดเงื่อนไขให้ผู้เข้าร่วมต้องมีแรงงานตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป ซึ่งครอบคลุมโรงงานขนาดกลางขึ้นไป ดังนั้นปัญหาจึงเกิดขึ้นมาทันทีในเรื่องของ “ค่าใช้จ่าย”

ในการทำ Factory Sandbox ที่โรงงานขนาดกลางไม่สามารถ “แบกรับ” ภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ เมื่อเทียบกับโรงงานขนาดใหญ่ที่พร้อมจะทุ่มเงินลงทุนเพื่อทำ Sandbox

ยังไม่รวมไปถึงข้อกังวลที่ว่า แม้จะทำ Sandbox ควบคู่ไปกับ Bubble and Seal แต่ข้อเท็จจริงที่เจ้าของโรงงานทราบดีว่า ในปัจจุบันการฉีดวัคซีนให้กับแรงงานยังเป็นเรื่องที่ยากมาก แม้โรงงานจะดำเนินการตรวจหาเชื้อ แยกผู้ป่วย ส่งเข้าโรงพยาบาลสนาม

แต่การติดเชื้อในโรงงานก็ยังไม่หมดไป โควิด-19 สามารถกลับมาระบาดใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น “วัคซีน” จึงกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการชี้ว่า Factory Sandbox จะสำเร็จหรือล้มเหลว