เข้า-ไม่เข้า CPTPP (อีกรอบ)

ส่งออกข้าว
ชั้น 5 ประชาชาติ
กษมา ประชาชาติ

 

พอหยิบยกประเด็นปัญหากรณีที่ไทยตัดสินใจไม่ได้ว่าจะสมัครเข้าร่วมเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) หลังจาก “จีน” ดีหรือไม่มาหารือ

ก็จะมีอีกฝั่งที่แสดงความห่วงใยปัญหาของเกษตรกรว่าต้องซื้อเมล็ดพันธุ์แพง ๆ เพราะหากเราเข้าร่วมความตกลง CPTPP จะต้องถูกบังคับให้เข้าภาคีอนุสัญญา UPOV

จริงอยู่ในอดีต คำว่าความตกลงการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ แค่ได้ยินคนก็ขยาดเหมือน “ผีหลอก” ยิ่งเอฟทีเอกับสหรัฐ ทั้งน่าเกลียดน่ากลัว ว่าไทยจะเสียเปรียบเรื่องการคุ้มครอง “ทรัพย์สินทางปัญญา” (IP) เช่น สิทธิบัตรยา พันธุ์พืชต่าง ๆ

ดังนั้น ในสมัยที่มีการเจรจาที่ นายนิตย์ พิบูลย์สงคราม เป็นหัวหน้าคณะเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐ ที่เชียงใหม่ เมื่อราวปี 2547-48 จึงเกิดการประท้วงคัดค้าน จนการเจรจาต้องยุติไป

ต่อมาสมัยเริ่มต้น TPP (Trans Pacific Partnership) สหรัฐ คือ แกนนำรวมกลุ่ม 12 ประเทศ ผูกพันธมิตรสกัดจีน แต่สิ่งที่หลอกหลอนเรามาคือ สหรัฐต้องยกเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาตามมาด้วยแน่ ๆ

แต่ยุคนี้บริบทแวดล้อมทุกอย่างมันเปลี่ยนไปแล้ว และใน CPTPP ก็ไม่มีสหรัฐแล้ว แถมมี “จีน” โดดเข้าไปเสียเอง ทำให้ CPTPP มันกลายเป็นความตกลงที่ครองการค้าโลกประมาณ 1 ใน 4 ในนั้นมีคู่แข่งของเราอย่างเวียดนาม มาเลเซีย และมีคู่ค้าของเราอย่างญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์

ตอนนี้มีข้อมูลจากเอกชนระบุว่า เวียดนามทำเอฟทีเอกับทุกประเทศ ไม่ใช่แค่ CPTPP ยังทำกับ EU UK ภาพรวมการส่งออกเวียดนามพุ่งกระฉูดใช้ตู้คอนเทนเนอร์ปีละ 13 ล้านตู้ ขณะที่ไทยใช้แค่ 10 ล้านตู้ แถมเวียดนามตั้งเป้าเป็นประเทศที่มีระดับรายได้สูงในปี 2030 เขาเลยจุดที่จะแข่งขันกับไทยไปแล้ว (จ้า)

ยิ่งกว่านั้น ภาพรวมการลงทุนของเวียดนาม 7 เดือนแรก มีนักลงทุนไทยถึง 23 โครงการ จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมี 19 โครงการ มูลค่าการลงทุน 238 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งนักลงทุนไทยเข้าไปช่วยสร้างจีดีพีให้เวียดนาม 4% จ้างงาน 9 หมื่นตำแหน่ง

นักลงทุนไทยยังไปเวียดนามเลย เพราะมองถึงปัจจัยต่าง ๆ เช่น ค่าแรงงานถูกกว่า การส่งเสริมการลงทุนเยอะ และมีตลาดส่งออกที่ได้รับการลดภาษีตามความตกลงเอฟทีเอเพียบ เช่น การผลิตเสื้อจากเวียดนามไปยุโรปไม่มีภาษี แต่ผลิตจากไทยส่งไปยุโรปต้องเสียภาษี 10% กว่า แล้วอย่างนี้ ถ้าเราเป็นเอกชนจะต้องเลือกลงทุนตั้งฐานผลิตที่ไหน ?

ประเด็นที่สอง หากมาว่ากันด้วยเรื่องเมล็ดพันธุ์

คำถามอย่างแรกเลย คือ ทั้ง 11 ประเทศที่ร่วม CPTPP โดยเฉพาะ “เวียดนาม” ที่เขากล้าเข้าไปเจรจา นี่บ้านเขาไม่เกษตรกร ไม่มีเมล็ดพันธุ์พืชต้องปกป้องดูแลเลยเหรอ ?

ยกตัวอย่างอีกข้อที่ต้องรู้ คือ วันนี้เวียดนามมีการพัฒนาการผลิตเมล็ดข้าวพันธุ์ใหม่นับ 10 พันธุ์ จนทำให้ต้นทุนการผลิตถูก ขายแซงไทยไปนานแล้ว

ตอนนี้ไทยตกอันดับส่งออกจากเบอร์ 1 เป็นเบอร์ 3 เวียดนามแซงขึ้นไปเป็นผู้ส่งออกเบอร์ 2 รองจากอินเดีย

ดังนั้น ปัญหาเรื่องความสามารถในการแข่งขัน “เมล็ดพันธุ์” ต้นทุนชาวนา มันจึงไม่ได้เกิดจากการเจรจา CPTPP แต่เราคงต้องไปดูว่า “กระทรวงเกษตรเวียดนาม” เขาทำงานกันอย่างไร ?

ส่วนตัวมองว่า “การคุ้มครองเมล็ดพันธุ์พื้นเมืองสำคัญพอ ๆ กับการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ใหม่” เพราะเราจะกอดเก็บเมล็ดพันธุ์เดิมไว้ไปตลอดชีวิตไม่ได้ เมื่อเราไม่พัฒนามัน มันก็อาจจะกลายพันธุ์เองตามธรรมชาติ เช่น ลมปลิวไปผสมกับเมล็ดพันธุ์ไร่ข้าง ๆ ตามกาลเวลา

คำหลอนอีกคำ คือ “UPOV” เวอร์ชั่น 1991 อนุสัญญาการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ เขาว่าด้วย คุ้มครองเมล็ดพันธุ์ใหม่ ไม่แตะเมล็ดพันธุ์ดั้งเดิม นั่นหมายความว่าเกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์ดั้งเดิมไว้ใช้ได้ แต่คนที่พัฒนาพันธุ์ใหม่จะได้รับความคุ้มครอง ในฐานะที่เขาลงทุนพัฒนา ซึ่งคนที่พัฒนาจะเป็นใครก็ได้ จะเป็นบริษัทเมล็ดพันธุ์เอกชนรายใหญ่ก็ได้ จะเป็นนักพัฒนาพันธุ์บ้าน ๆ ก็ได้ แต่ต้องพิสูจน์ว่าพัฒนาพันธุ์ได้จริง ๆ ผู้ที่จะนำเมล็ดพันธุ์ใหม่ไปใช้ก็ต้องให้ค่าแบ่งปันผลประโยชน์กับผู้พัฒนาพันธุ์

คำถามคือ แล้วไม่ดีเหรอ ถ้าหากคุณเป็นนักพัฒนาเมล็ดพันธุ์ใหม่ คุณก็จะได้รับความคุ้มครองนะ ของเก่าก็ยังใช้ได้

ทางออกของความขัดแย้ง CPTPP ?

คำตอบ คือ มีทางออกที่เป็นรูปธรรม 1) ถ้าเข้าไปเจรจา เบื้องต้นเราต้องแจ้งเขาว่าอะไรที่เราทำได้ หรือทำไม่ได้ เช่น เรื่องเมล็ดพันธุ์ ทรัพย์สินทางปัญญา เป็นเรื่องอ่อนไหว “ยกเว้น” ไม่เจรจาเรื่องนี้ หรือเราขอเวลาผ่อนผันไม่เปิดตลาด เพื่อให้ได้มีเวลาปรับตัว 15-20 ปี ได้ไหม แล้วก็รอดูว่า สมาชิกเขาจะยอมไหม หรือจะขออะไรแลกเปลี่ยน

ซึ่งมันมีเคส “นิวซีแลนด์” ขอเจรจา CPTPP แต่ไม่เข้า UPOV เพราะมีกฎหมายภายในประเทศที่ให้ความคุ้มครอง

หรือสุดท้าย มาตรการภายในประเทศ ทั้งการตั้งกองทุนเอฟทีเอเยียวยาผลกระทบผู้เดือดร้อนซึ่งก็มีแล้ว และการใช้มาตรการของภาครัฐเข้าไปกำกับดูแลการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ในราคาที่เหมาะสม

ทางออกเหล่านี้ “ไทย” ต้องเข้มแข็ง เพราะเราต้องทำเอง


สิ่งสำคัญ หากเรามัวแต่กลัวแค่ “ไขกุญแจ” ยังไม่ทันเปิดประตูเลย เราก็จะไม่มีทางรู้เลยว่าอีกห้องมีอะไร อย่าว่าแต่จะได้ต่อรองแค่มองยังไม่เห็น และที่แย่ที่สุด คือ ในอนาคตเราอาจถูก “บังคับ” ให้ยอมรับกฎกติกาที่เขาเจรจากัน เพราะกติกานั้นมันจะถูกยกระดับไปเป็นกติกาโลก