รถไฟฟ้าจีน-ลาว กับผลกระทบเชิงบวกและลบ เอสเอ็มอีไทย

คอลัมน์ : แตกประเด็น
ผู้เขียน : แสงชัย ธีรกุลวาณิช
ประธานสมาพันธ์ SME ไทย

เส้นทางรถไฟฟ้าจีน-ลาว 1,035 กิโลเมตร เชื่อมคุนหมิงกับเวียงจันทน์ ใช้เวลาเดินทางราว 10 ชั่วโมง มูลค่าเกือบ 2 แสนล้านบาท กับอนาคตเอสเอ็มอีไทยที่ต้องเร่งเพิ่มขีดความสามารถผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้รองรับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึงในไม่ช้านี้

เมื่อรถไฟฟ้าจีน-ลาว เข้ามาสู่แผ่นดินไทย ซึ่งส่งผลกระทบทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบที่ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ต้องร่วมกันศึกษาและบริหารจัดการยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ต่าง ๆ ระบบนิเวศทางเศรษฐกิจที่จะมีความใกล้ชิดกันมากขึ้น

ประเทศจีนซึ่งมีประชากรกว่า 1,400 ล้านคน และเฉพาะมณฑลยูนนานมีประชากรราว 50 ล้านคน ขณะที่เมืองเอก คือ คุนหมิง และมีอีก 7 เมือง 8 เขตปกครองตนเองของชนกลุ่มน้อย และมีมูลค่าเศรษฐกิจ( GDP) 510,777 ล้านหยวน

โดยมณฑลยูนนานมีการส่งออก 17,600 ล้านหยวน นำเข้า 29,050 ล้านหยวน ซึ่งน่าจะเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยในอนาคต

ปัจจัยเชิงบวกกับเอสเอ็มอีไทย

1.เส้นทางการขนส่งกระจายสินค้า และบริการใหม่ ต้นทุนที่ต่ำลงจากทางถนนถึง 2 เท่า และระยะเวลารวดเร็วขึ้น

โดยจากคุนหมิงมาถึงจังหวัดหนองคายใช้เวลาไม่เกิน 15 ชั่วโมง จากเดิม 2 วัน ซึ่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยจะได้ประโยชน์จากต้นทุนการขนส่งที่ลดลง ทำให้ต้นทุนสินค้าต่ำลงและขนส่งได้เร็วขึ้น

2.ภาคการค้า ช่องทางการตลาดใหม่ของเอสเอ็มอีไทยตามแนวรถไฟฟ้ากว่า 45 สถานี ในพื้นที่จีน-ลาว

ที่จะเป็นฐานลูกค้าใหม่ของสินค้าและบริการจากประเทศไทย รวมถึงช่องทางการนำไปขยายตลาดในภาคอื่น ๆ ของจีนและลาว

3.ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยในภาคการท่องเที่ยว และภาคการบริการ การคมนาคมเดินทาง จะเป็นโอกาสเปิดช่องทางการท่องเที่ยวมูลค่าเพิ่มใหม่ ๆ

รวมถึงการให้บริการด้านการแพทย์และสุขภาพครบวงจรในประเทศไทย และลาว รวมทั้งจีน ที่สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

และมีโอกาสเพิ่มรายได้จากการดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวจีน ลาว และประเทศอื่น ๆ ให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์

รวมถึงการทำธุรกิจติดต่อค้าขายกับประเทศไทยได้ง่ายดายขึ้น โดยมณฑลยูนนานมีเศรษฐกิจภาคการบริการขนาดใหญ่ มูลค่า 300,767 ล้านหยวน

4.เอสเอ็มอีไทยภาคธุรกิจเกษตรกับการเชื่อมโยงตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนผลผลิตภาคการเกษตรของมณฑลยูนนานที่มีมูลค่าถึง 49,176 ล้านหยวน

5.เอสเอ็มอีไทยที่อยู่ในภาคการผลิตกับการเป็น supply chain ที่สำคัญมากขึ้นในภาคอุตสาหกรรมของมลฑลยูนนาน ที่มีมูลค่าถึง 160,834 ล้านหยวน

ปัจจัยเชิงลบกับเอสเอ็มอีไทย

1.การรุกคืบของจีน ซึ่งเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมือง มีความเสี่ยงต่อการเข้ามามีบทบาททางการค้า การลงทุน การใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ของประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มมากขึ้น

2.ประเทศลาว สร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษรองรับอุตสาหกรรมการผลิตและการบริการในแนวเส้นทางรถไฟฟ้า ซึ่งอาจดึงดูดนักลงทุนจากจีนที่ลงทุนในลาวอยู่แล้วเพิ่มจำนวนมากขึ้น

รวมทั้งนักลงทุนจากประเทศต่าง ๆ ที่อาจได้สิทธิประโยชน์ทางการค้าในการลงทุนที่ประเทศลาว

3.การปกป้องอาชีพคนไทย แรงงานไทย การกว้านซื้อผลผลิตการเกษตร รวมถึงปัญหากดราคาสินค้าเกษตรของไทยที่ภาครัฐต้องมีความชัดเจนในการออกกฎหมายคุ้มครอง และบังคับใช้เพื่อให้เกษตรกร และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ และไม่ได้รับประโยชน์เท่าที่ควรจากการเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งสายนี้

สิ่งที่เอสเอ็มอีไทยคาดหวังจากโอกาสรถไฟฟ้าจีน-ลาว เส้นทางนี้คือ การส่งเสริม สนับสนุนอย่างจริงจังของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ที่ต้องมีสิทธิประโยชน์ทั้งที่เป็นด้านภาษีและไม่ใช่ด้านภาษี

การจับคู่เชื่อมโยงธุรกิจ เพื่อสร้างโอกาสให้เอสเอ็มอีไทยให้มีความพร้อมจะเติบโตขยายการค้า การลงทุน การตลาด การสื่อสารภาษา และการยกระดับขีดความสามารถผู้ประกอบการ แรงงาน รวมทั้งจัดหาช่องทางแหล่งทุนต้นทุนต่ำที่จะเป็นแต้มต่อให้สามารถแข่งขันได้

“เราต้องทำโอกาสของเอสเอ็มอีไทยให้จับต้องได้ ไม่ใช่โอกาสที่เป็นอากาศ”