ความท้าทายจากตัวเลขผู้สูงอายุไทย

คอลัมน์ นอกรอบ

โดย ถนอมศรี ฟองอรุณรุ่ง

เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา “ไอเอ็มเอฟ” หรือ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund-IMF) จัดทำบทวิเคราะห์เชิงลึกเกี่ยวกับการเข้าสู่ สังคมผู้สูงอายุ ของทวีปเอเชีย ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาค ต้อง ปรับลดลง จากเดิมอย่างมีนัยสำคัญภายใน 30 ปีข้างหน้า เพราะประชากรในวัยแรงงานลดลง ในขณะที่ประชากรวัยผู้สูงอายุ (อายุ 65 ปีหรือมากกว่า) อาจปรับเพิ่มขึ้นถึง 2.5 เท่าตัว ในปี ค.ศ. 2050 จากจำนวนประชากรผู้สูงอายุในขณะนี้

ปัจจุบันทวีปเอเชียมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่โดดเด่น กล่าวคือไอเอ็มเอฟ คาดว่าจีดีพีขยายตัว 5.5% ในปี ค.ศ. 2017 และ 5.4% ในปี ค.ศ. 2018 สูงกว่าการขยายตัวของจีดีพีของโลกโดยรวม ที่ 3.5% และ 3.6% ตามลำดับ

แต่หากเอเชียไม่สามารถบริหารจัดการภาวะการแก่ตัวลงของประชากรได้อย่างมีประสิทธิผล ก็ต้องเผชิญกับปัญหา “แก่ก่อนรวย”

ไอเอ็มเอฟเน้นว่าประเทศที่ต้องเผชิญความท้าทายมากที่สุดในเอเชียในอีก 30 ปีข้างหน้า ได้แก่ จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไทย เพราะเงื่อนไขดังต่อไป 1.ประชากรในวัยทำงานนั้น นอกจากจะลดลงเมื่อคิดเป็นสัดส่วนของประชากรโดยรวมแล้ว ยังลดลงในเชิงของจำนวนประชากรอีกด้วย 2.สัดส่วนของประชากรที่พึ่งพาประชากรในวัยทำงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ในอีกด้านหนึ่งประเทศที่ได้รับอานิสงส์ในเชิงบวก เพราะประชากรที่อยู่ในวัยทำงานจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในอีก 30 ปีข้างหน้า คือ อินเดีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ทั้งนี้ในภาพรวมนั้น ไอเอ็มเอฟ คาดการณ์ว่าประชากรของเอเชียโดยรวมจะหยุดขยายตัวในปี ค.ศ. 2050

ในส่วนของผลกระทบต่อเศรษฐกิจของเอเชียนั้น ไอเอ็มเอฟประเมินว่าใน 30 ปีข้างหน้า การแก่ตัวของประชากรจะทำให้การขยายตัวของจีดีพีของญี่ปุ่นจะลดลงประมาณ 1% ต่อปี การขยายตัวของจีดีพีของจีน ฮ่องกง เกาหลีใต้ และไทย จะลดลง 0.5-0.75% ต่อปี กำลังซื้อในประเทศจะขยายตัวช้าลง ทำให้การลงทุนในประเทศชะลอลงตามไปด้วย

ผลคืออัตราดอกเบี้ยจริงและผลตอบแทนจากการลงทุน ปรับตัวลง ซึ่งจะยิ่งลดประสิทธิภาพนโยบายการเงินลงไปอีก

สำหรับการคาดการณ์ประชากรของไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งกำลังจัดทำแผนพัฒนาประเทศระยะยาว 20 ปี ค.ศ. 2017-2036 จะเห็นถึงความท้าทายด้านประชากรของไทยชัดเจนยิ่งขึ้น ดังปรากฏในตาราง

จากตารางจะเห็นได้ว่า ประชากรของไทยโดยรวมยังจะเพิ่มขึ้นปีละกว่า 1 แสนคนใน 5 ปีข้างหน้า แต่จากนั้นจะขยายตัวน้อยมากและน่าจะถึงจุดสูงสุดภายใน 10 ปีข้างหน้า เป็น 66.37 ล้านคน มากกว่าปัจจุบัน (65.52 ล้านคน) อีกเพียง 850,000 คน แปลว่า กำลังซื้อในประเทศโดยรวมในอีก 10 ปีข้างหน้าคงจะขยายตัวได้ไม่มาก

หลังจากนั้นอีก 10 ปี ประชากรโดยรวมจะลดลง 1.27 ล้านคน ทำให้กำลังซื้อในประเทศยิ่งจะขยายตัวได้อย่างเชื่องช้าลงไปอีก เพราะประชากรใน 20 ปีข้างหน้าของประเทศไทย (65.10 ล้านคน) จะน้อยกว่าประชากรในปี ค.ศ. 2017 นี้ด้วยซ้ำ

จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นอีก 8.4 ล้านคนใน 20 ปีข้างหน้า กล่าวคือจาก 11.4 ล้านคนในปี ค.ศ. 2017 เป็น 15.93 ล้านคนในอีก 10 ปีข้างหน้า เพิ่มขึ้นมากถึง 4.79 ล้านคนใน 10 ปีข้างหน้า แต่จะทุเลาลงในช่วงปี ค.ศ. 2026-2036 ซึ่งจำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นอีก 3.6 ล้านคน จาก 15.93 ล้านคนเป็น 19.53 ล้านคน

ดังนั้น ประเทศไทยจึงต้องเตรียมตัวรับการแก่ตัวลงของประชากรอย่างเร่งรีบที่สุด จำนวนประชากรในวัยทำงานถึงจุดสูงสุดแล้วในปีปัจจุบัน ที่ 42.59 ล้านคน

แต่การปรับลดลงในช่วง 4 ปีข้างหน้านั้น ยังเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป คือลดลงเหลือ 42.31 ล้านคน ในปี ค.ศ. 2021(ลดลง 280,000 คน หรือลดลง 70,000 คนต่อปี) แต่จากปี ค.ศ. 2021 เป็นต้นไป จำนวนคนในวัยทำงาน (ซึ่งเป็นวัยที่มีกำลังเสียภาษีมากที่สุดด้วย) จะลดลงอย่างรวดเร็ว จาก 42.31 ล้านคน

ในปี ค.ศ. 2021 เหลือเพียง 36.46 ล้านคนในปี ค.ศ. 2036 (แรงงานของประเทศไทยลดลงเฉลี่ย 390,000 คนต่อปี ในช่วงปี ค.ศ. 2021-2036)

ดังนั้น การขาดแคลนแรงงานของไทยจะรุนแรงยิ่งขึ้นไปกว่าปัจจุบันเป็นอย่างมาก กล่าวคือตั้งแต่ปี ค.ศ. 2021 เป็นต้นไป