เงินเฟ้อสูง…กระทบใคร ?

เงินบาท
คอลัมน์ : นอกรอบ

KKP Research โดย “กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร” วิเคราะห์สถานการณ์ “เงินเฟ้อ” ที่คนไทยกำลังเผชิญภาวะ “ค่าครองชีพ” ที่พุ่งสูงขึ้นจากปัจจัยต่าง ๆ ในขณะที่รายได้ของคนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้เพิ่มขึ้น

เงินเฟ้อไทยสูงสุดในรอบ 11 ปี

KKP Research ประเมินว่า ปรับประมาณการตัวเลขเงินเฟ้อเฉลี่ยปี 2022 เพิ่มเป็น 2.3% โดยเงินเฟ้อในไตรมาสแรกอาจปรับตัวสูงขึ้น 3.5% เป็นระดับสูงสุดในรอบ 11 ปี เกิดจาก 3 สาเหตุหลัก

1) ราคาพลังงานโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง จากทั้งปัจจัยด้านอุปสงค์ที่ฟื้นตัว และการลดการลงทุนด้านพลังงานจากความกังวลเรื่องโลกร้อน และปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์โลก โดย KKP Research ประเมินว่า ราคาน้ำมันมีโอกาสพุ่งสูงขึ้นเกิน 100 เหรียญต่อบาร์เรล ในช่วงไตรมาส 2 ปีนี้ จะส่งผลให้ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศทั้งเบนซิน และดีเซลอาจปรับสูงขึ้นได้มาก

2) ราคาเนื้อหมูปรับตัวสูงขึ้นมากและอาจส่งผ่านไปสู่ราคาอาหารชนิดอื่น ๆ ปัจจุบันราคาขายปลีกหมูปรับตัวสูงขึ้นแล้วกว่า 40% ราคาอาหารที่สูงขึ้นจะทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นเฉลี่ยเดือนละประมาณ 1% โดยอัตราเงินเฟ้ออาจสูงแตะระดับ 4% ในช่วงเดือน ก.พ. และ มี.ค. และคาดว่าจะค่อย ๆ ปรับลดลงในช่วงปลายปี อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงสำคัญ คือ ราคาหมูมีแนวโน้มสูงยืดเยื้อไปจนถึงปลายปี และในกรณีเลวร้ายที่ราคาหมูยัง
เร่งตัวขึ้นต่อเนื่องอาจส่งผลให้ราคาอาหารอื่น ๆ เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย และอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีอาจปรับสูงขึ้นแตะระดับ 3% ได้

3) มาตรการรัฐในการช่วยเหลือค่าน้ำค่าไฟปี 2021 ทำให้ฐานของราคาในปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับต่ำ โดยค่าสาธารณูปโภคลดลงไปประมาณ 20% ในเดือนที่มีการช่วยเหลือ เมื่อมาตรการช่วยเหลือหมดลงในปีนี้ส่งผลให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นมากโดยกลับเข้าสู่ระดับปกติ

เงินเฟ้อสูง…กระทบใคร ?

อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นในรอบปัจจุบัน อาจส่งผลกระทบในสองมิติ โดย KKP Research ประเมินว่า “คนรายได้น้อย” และ “ธุรกิจขนาดเล็ก” จะมีแนวโน้มเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบมากกว่า เนื่องจาก 1) ตะกร้าสินค้าที่แตกต่างกันของคนรายได้สูงและคนรายได้น้อย ทำให้ราคาอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้นกระทบคนรายได้ต่ำมากกว่า เนื่องจากกลุ่มคนรายได้น้อยมักจะมีสัดส่วนการบริโภคในกลุ่มสินค้าจำเป็นเกือบทั้งหมดของเงิน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “ค่าอาหาร” และ “พลังงาน”

ขณะที่กลุ่มคนรายได้สูงจะใช้จ่ายกับค่าอาหารในสัดส่วนที่ต่ำกว่า เนื่องจากมีการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยและอื่น ๆ ด้วย

นอกจากนี้ ราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นยังเป็น “ราคาอาหารสดในตลาด” และ “อาหารตามสั่งริมทาง” ขณะที่ราคาอาหารในห้างสรรพสินค้าไม่เพิ่มขึ้นมาก

2) ธุรกิจหลายแห่งโดยเฉพาะขนาดเล็ก มีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น แต่ส่งผ่านราคาไม่ได้

เมื่อพิจารณาการเติบโตของดัชนีราคาผู้ผลิตและดัชนีราคาผู้บริโภคในช่วงที่ผ่านมาจะพบว่า ดัชนีราคาผู้ผลิตเพิ่มสูงขึ้นเร็วกว่ามาก สะท้อนความสามารถในการส่งผ่านราคาที่ทำได้น้อยในภาวะที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว โดยกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและเล็กที่มีอำนาจตลาดไม่มากมีแนวโน้มได้รับผลกระทบมากกว่า

เงินเฟ้อไทยเทียบกับโลก

เศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวได้ช้าประกอบกับเงินเฟ้อโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่งผ่านมาถึงไทยสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและประชาชนหลายกลุ่ม และเรียกว่าไทยเริ่มเข้าสู่ภาวะ stagflation แล้ว

แม้ว่าตัวเลขเงินเฟ้อรวมที่รายงานจะยังไม่ได้แสดงถึงเงินเฟ้อที่รุนแรงมากนัก แต่สิ่งที่ต้องจับตามองและเป็นสถานการณ์ที่นักเศรษฐศาสตร์กังวลมากที่สุด คือ การเพิ่มขึ้นของ “เงินเฟ้อแบบคุมไม่อยู่” (runaway inflation) ที่อาจได้เกิดจากการที่แรงงานและผู้ประกอบการเริ่มมีคาดการณ์เงินเฟ้อที่สูงขึ้น และเริ่มปรับราคา ค่าเช่า และค่าแรงงานสูงขึ้นตามคาดการณ์เงินเฟ้อ ซึ่งมีความเสี่ยงมากขึ้นเรื่อย ๆ ในระดับโลก

สำหรับประเทศไทยความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้อไทยจะสูงขึ้นแบบควบคุมไม่ได้ยังมีน้อย และการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อยังกระจุกตัวอยู่ใน “ฝั่งต้นทุน” โดยเฉพาะราคาพลังงานและอาหารเท่านั้น

สาเหตุสำคัญเกิดจากเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวได้ช้าและยังต่ำกว่าระดับศักยภาพค่อนข้างมาก ทำให้เงินเฟ้อไม่มีปัจจัยกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ ต่างจากเงินเฟ้อในสหรัฐที่เศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวได้เร็ว เมื่อนับรวมกับปัญหาการขาดแคลนอุปทาน จึงส่งผลให้ราคาสินค้ามีการปรับตัวสูงขึ้นในแทบทุกกลุ่ม จึงประเมินว่า เงินเฟ้อไทยในปี 2022 จะอยู่ในระดับสูงในช่วงต้นปี ก่อนจะค่อย ๆ ปรับตัวลงตามราคาพลังงานโลกที่คาดว่าจะปรับตัวลดลงปลายปี

ความเสี่ยงเงินเฟ้อไทยยืดเยื้อ

แม้ว่าความเสี่ยงที่ “เงินเฟ้อแบบยืดเยื้อ” กรณีของไทยจะอยู่ในระดับต่ำ แต่ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเงินเฟ้อไทยอาจสูงขึ้นต่อเนื่อง จากปัจจัยอื่น ๆ ที่น่ากังวล คือ

1) การตึงตัวของตลาดแรงงาน เพราะจำนวนแรงงานของไทยที่ลดลงต่อเนื่องจากปัญหาสังคมสูงอายุ การย้ายกลับประเทศของแรงงานต่างด้าวในช่วงโควิด และการเร่งกลับมาเปิดเมืองในปีนี้ที่อาจทำให้ความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นแบบรวดเร็ว

ขณะที่อุปทานของแรงงานอาจไม่สามารถกลับมาได้เร็ว จะสร้างแรงกดดันสำคัญต่อค่าแรงและอัตราเงินเฟ้อ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในหลายประเทศ

นอกจากนี้เมื่อการท่องเที่ยวเริ่มกลับมาอีกครั้ง อาจมีความต้องการแรงงานสูงขึ้น และแรงกดดันต่อค่าจ้างแรงงานได้

และ 2) เงินเฟ้อโลกและราคาพลังงานที่สูงขึ้นมากกว่าที่คาด อาจส่งผลให้คาดการณ์เงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น เพราะความสัมพันธ์ระหว่างเงินเฟ้อไทยและโลกในอดีตจะพบว่ามีการเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันมาตลอด ซึ่งไม่น่าแปลกใจนัก ในฐานะที่ไทยเป็นประเทศเล็กและเปิด

แม้ว่าปัจจุบันเศรษฐกิจไทยจะยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ แต่หากอัตราเงินเฟ้อโลกสูงขึ้นต่อเนื่องก็อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ต้นทุนราคาสินค้าในไทยสูงขึ้นตามไปด้วย เพราะการบริโภคครัวเรือนเฉลี่ยจะมีการบริโภคสินค้านำเข้าประมาณ 20% ของมูลค่าทั้งหมด