เศรษฐา ทวีสิน : เมื่อสงครามยูเครนกระทบ ถึงข้าวไก่กะเพราของชาวบ้าน

คอลัมน์ : นอกรอบ
ผู้เขียน : เศรษฐา ทวีสิน

เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่เกิดขึ้นอีกฟากโลกหนึ่งส่งผลกระทบต่อดัชนีราคาอาหาร ทั่วโลก ทุกคนได้ผลกระทบไปกันหมด จากรายงานขององค์การอาหารและการเกษตร แห่งสหประชาชาติ หรือ FAO บอกว่าราคาสินค้าโภคภัณฑ์อาหารโลกพุ่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในเดือนมีนาคม แตะระดับสูงสุดเท่าที่เคยมีมา (FAO ก่อตั้งและเริ่มเก็บตัวเลขในปี 1990)

เพราะรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ผลิตข้าวสาลีกำส่วนแบ่ง 28% ของตลาดโลก ซึ่งหมายถึงวัตถุดิบที่นำมาทำขนมปัง แป้งโรตี แป้งนาน ฯลฯ ที่เป็นอาหารพื้นฐานของคนทั่วโลกขาดตลาด สำหรับน้ำมันดอกทานตะวันซึ่งเป็นน้ำมันพืชชนิดหนึ่งที่ทั่วโลกนิยมใช้ปรุงอาหาร

เฉพาะยูเครนเองนั้นก็มีส่วนแบ่งการส่งออกสู่ตลาดโลกถึง 37% แล้ว ถ้านับรวมรัสเซียที่มีส่วนแบ่ง 26% เข้าไปเกือบ 3 ใน 4 ของผลผลิตโลกแล้ว การที่เกิดสงครามหมายถึงการผลิตและการส่งออกที่ชะงัก การขาดตลาดของน้ำมันดอกทานตะวันในตลาดโลกก็เลยผลักให้น้ำมันพืชชนิดอื่นต้องถูกนำมาใช้ทดแทนและราคาถีบตัวขึ้นสูง

ตัวเลขของ FAO บอกว่าราคาน้ำมันพืชพุ่งขึ้นไปแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และปรับขึ้นอีก 23% ในเดือนมีนาคม ขณะที่ข้อมูลจากธนาคารโลกก็บอกว่าราคาน้ำมันถั่วเหลืองขยับขึ้นมาแตะเกือบ 2,000 ดอลลาร์ต่อตันแล้วจากที่เคยอยู่ที่ระดับ 765 ดอลลาร์ต่อตันเมื่อปี 2019 เห็นชัดเจนหรือยังครับว่าสงครามครั้งนี้กำลังส่งผลกระทบชัดเจนให้ราคาผลิตภัณฑ์พื้นฐานบนโต๊ะอาหารของทุกคนถีบตัวสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ

อย่าลืมนะครับว่าในมุมมองของผู้บริโภคอย่างเรา ๆ เมื่อน้ำมันพืชที่เป็นวัตถุดิบพื้นฐานในการปรุงอาหารขึ้นราคาอาหารพื้นฐานอย่างแค่ข้าวไข่เจียวหรือข้าวกะเพราไก่ไข่ดาวก็โดนผลกระทบไปด้วย ไม่ใช่แค่นั้นครับ แต่เรากำลังพูดถึงต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นของอุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูปด้วยนะครับ เพราะน้ำมันพืชและแป้งสาลีล้วนแล้วแต่เป็นวัตถุดิบของอาหารสำเร็จรูปหลาย ๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นบะหมี่สำเร็จรูป บิสกิต คุกกี้ ฯลฯ มากมาย

มองดูดัชนีการขึ้นราคาของวัตถุดิบและอาหารอาจจะยังไม่เห็นภาพ แต่ลองเปรียบเทียบสัดส่วนค่าใช้จ่ายครัวเรือนสำหรับแต่ละประเทศเราจะเห็นความน่าวิตกที่ชัดเจนขึ้นครับ โดยเฉพาะประเทศกลุ่มที่กำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนา ยกตัวอย่างแคนาดา อาหารคิดเป็นสัดส่วนค่าใช้จ่ายครัวเรือนแค่ 10% เท่านั้น

ในขณะที่ประเทศอย่างไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 40% ของค่าใช้จ่ายครัวเรือน นั่นหมายความว่าในสถานการณ์ที่ต้นทุนอาหารสูงขึ้นครอบครัวในแคนาดาสามารถเจียดเงินที่ใช้ในเรื่องอื่นอีกกว่า 90% มาชดเชยได้ในขณะที่ครัวเรือนไทยเรามีค่าใช้จ่ายส่วนอื่นแค่ 60% ที่เจียดมาชดเชยได้

ยิ่งมองลึกลงไปในกลุ่มที่มีความอ่อนไหวทางเศรษฐกิจแล้วผมว่าน่าวิตกครับ จากผลกระทบโควิดที่ผ่านมา 2 ปีกลุ่มผู้มีรายได้น้อยได้รับผลกระทบสูงและเผลอ ๆ อาจจะคุมค่าใช้จ่ายในส่วน 60% ดังกล่าวไม่อยู่เสียด้วยซ้ำ

ไหนจะค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมโดยเฉพาะด้านเวชภัณฑ์เพื่อป้องกันตนเองในช่วงการแพร่ระบาด ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา อุปกรณ์การเรียนที่ต้องซื้อเพื่อให้เด็กสามารถเรียนออนไลน์ได้ ค่าใช้จ่ายในการเดินทางก็กระทบเพราะน้ำมันขึ้นราคาแถมลักษณะการประกอบอาชีพของกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ไม่สามารถทำงานที่บ้านได้ นี่ยังไม่นับดอกเบี้ยโดยเฉพาะจากการกู้ยืมเงินนอกระบบทบเข้ามาอีก


สำหรับคนที่มีอันจะกิน ไม่มีดอกเบี้ยต้องจ่าย และไม่อ่อนไหวทางเศรษฐกิจ การตัดค่าใช้จ่ายรายเดือนก็ไม่ยากเท่าไหร่ สิ่งที่เคยเป็นของฟุ่มเฟือย เกินความจำเป็นเพื่อสร้างความรื่นรมย์ให้กับชีวิตก็ตัดออกไป แต่สำหรับชาวบ้านและกลุ่มคนที่เปราะบางทางเศรษฐกิจแล้วในทางปฏิบัติถือว่ายากมากเพราะค่าใช้จ่ายเกือบทุกรายการล้วนแต่มีความจำเป็นทั้งเพื่อการดำรงชีวิตสำหรับพวกเขาทั้งสิ้น ถ้าอาหารพื้นฐานอย่างข้าวกะเพราไก่ไข่ดาวยังราคาขึ้น นี่สิครับปัญหาใหญ่