ปีใหม่ลดเจ็บ-ตาย ต่ำกว่า 3 ปีย้อนหลัง

คอลัมน์สามัญสำนึก

โดย ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร

ถือเป็นงาน “รูทีน (routine)” ไปแล้วสำหรับการเตรียมแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ปี 2561 โดยปีนี้ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) ได้จัดรณรงค์ภายใต้ชื่อว่า “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” โดยมีเป้าหมาย 4 ประการด้วยกัน คือ

1) เพื่อให้ประชาชนเดินทางสัญจรปลอดภัยและมีความสุขในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2) สถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนน จำนวนผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บ (admit) ต้องลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเทศกาลปีใหม่ย้อนหลัง 3 ปี 3) กำหนดให้แต่ละจังหวัดเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ลดจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีข้อหาดื่มแล้วขับ-ขับรถเร็วเกินกว่าที่ กม.กำหนด-ไม่สวมหมวกนิรภัย 4) เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการปฏิบัติตามกฎหมาย และวินัยจราจรอย่างเคร่งครัด

ด้วยการกำหนดมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน 6 มาตรการ (1) ลดปัจจัยเสี่ยงด้านคน (2) ลดปัจจัยเสี่ยงด้านถนนและสภาพแวดล้อม (3) ลดปัจจัยเสี่ยงด้านยานพาหนะ (4) ดูแลความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยว (5) ความปลอดภัยทางน้ำ (6) การช่วยเหลือหลังเกิดอุบัติเหตุ

โดย ศปถ.เน้นย้ำที่การบริหารจัดการในลักษณะ “ยึดพื้นที่เป็นตัวตั้ง” และ “บูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วน” ทั้งภาครัฐ เอกชน หน่วยทหารในพื้นที่ และภาคประชาสังคม พร้อมดึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน หมู่บ้าน อาสาสมัคร และประชาชน เข้ามามีส่วนร่วม ที่สำคัญคือ ให้หน่วยงาน/องค์กร/ชุมชนเหล่านี้เป็น “เจ้าภาพ” ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในพื้นที่ของตนเอง และมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เคร่งครัด และต่อเนื่อง

Advertisment

ที่ว่า “เสี่ยง” นั้น มีปัจจัยอย่างไร ด้านคน พฤติกรรมเสี่ยงของผู้ใช้รถใช้ถนน จากสภาพความพร้อมของร่างกาย/ไม่ชำนาญเส้นทาง/ไม่เคารพกฎจราจร/ไม่มีวินัย ด้านยานพาหนะ ขาดความพร้อมด้านอุปกรณ์พื้นฐานในรถยนต์ อุปกรณ์ด้านความปลอดภัย สภาพการบรรทุก ด้านถนนไม่สมบูรณ์-ชำรุด-การจราจรหนาแน่น ป้ายเตือนชำรุด จุดเสี่ยงบนเส้นทาง จุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อย ๆ และด้านสิ่งแวดล้อม ไฟฟ้าส่องสว่างชำรุด-ไม่เพียงพอ มีสิ่งกีดขวางตกหล่นบนช่องทางจราจร สิ่งกีดขวางทัศนวิสัย ลักษณะภูมิอากาศ

ทั้งหมดนี้ถ้ามีการยึดพื้นที่เป็นตัวตั้งและบูรณาการร่วมกันทุกภาคส่วนเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุในพื้นที่ลงได้ก็จะสามารถบรรลุเป้าหมายในการ “ลด” อุบัติเหตุทางถนน ผู้บาดเจ็บ และที่สำคัญอย่างยิ่งก็คือ จำนวนผู้เสียชีวิตในช่วงเทศกาลปีใหม่ลงเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี (2558-2560) จากสาเหตุหลักที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลยนั้นก็คือ เมาสุรา กับขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ด้วยยานพาหนะยอดฮิตที่นำไปสู่ความตายอันดับ 1 ก็คือ รถจักรยานยนต์ รองลงมาเป็นรถปิกอัพ

Advertisment

คิดคำนวณง่าย ๆ เฉลี่ย 3 ปี จำนวนการเกิดอุบัติเหตุเฉลี่ยวันละ 490 ครั้ง ผู้บาดเจ็บเฉลี่ยวันละ 512 คน และผู้เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 57 ราย เฉพาะสถิติปี 2560 ในช่วง 7 วันอันตรายที่ผ่านมาเกิดอุบัติเหตุทั้งหมด 3,919 ครั้ง บาดเจ็บ 4,128 คน และเสียชีวิตถึง 478 ราย

หากพิจารณาจากจำนวนผู้เสียชีวิตย้อนหลัง จะพบตัวเลขที่น่าตกใจว่า ในทุก ๆ เทศกาลปีใหม่มีจำนวนคนตายจากอุบัติเหตุทางถนนเพิ่มขึ้น ๆ ทุก ๆ ปี โดยปี 2558 มีผู้เสียชีวิต 341 คน บาดเจ็บ 2,998 คน ปี 2559 เพิ่มขึ้นเป็น 380 คน บาดเจ็บ 3,505 คน และปีล่าสุด 2560 เสียชีวิตทะลุหลัก 400 คน หรือ 478 คนทีเดียว ส่วนผู้บาดเจ็บตัวเลขอยู่ที่ 4,128 คน

เท่ากับเฉลี่ย 3 ปีในปีใหม่ปีนี้ “ต้อง” ไม่มีผู้เสียชีวิตเกิน 399 คน และผู้บาดเจ็บต้องไม่เกิน 3,543 คน จึงจะถือว่าแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนของรัฐบาลปีนี้มีการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ แม้ในสภาพความเป็นจริงตัวเลขคนเจ็บ-คนตายในช่วงเทศกาลของประเทศนี้ไม่มีทางที่จะเป็นศูนย์ไปได้อย่างแน่นอน