สวน 60 ปี ไทยออยล์ แลนด์มาร์กใหม่นครแหลมฉบัง

ไทยออยล์

ไม่นานผ่านมา บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับเทศบาลนครแหลมฉบัง เปิดสวน 60 ปี ไทยออยล์-นครแหลมฉบัง ตำบลทุ่งสุขลา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นบริเวณใกล้เคียงกับโรงกลั่นไทยออยล์

ด้วยการปรับปรุงพื้นที่ลานจอดรถของโรงพยาบาลแหลมฉบัง ซึ่งเดิมทีเป็นพื้นที่โล่ง และไม่ได้ใช้งานเท่าไหร่นัก จึงผุดไอเดียด้วยการปั้นให้เป็นสวนสีเขียวเพื่อเป็น “แลนด์มาร์กชุมชน” เพื่อให้ชาวบ้านที่อยู่รอบ ๆ บริเวณใช้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลังกาย และจัดกิจกรรมต่าง ๆ

“วิโรจน์ มีนะพันธ์” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านกำกับองค์กรและกิจการสัมพันธ์ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงที่มาสวน 60 ปีว่า มาจากความต้องการที่จะพัฒนา และเติบโตของธุรกิจควบคู่กับสังคมรอบข้าง เราจึงเลือกสร้างสวนสาธารณะ

เพราะเล็งเห็นว่าปัจจุบันนครแหลมฉบังเริ่มมีความเป็นสังคมเมืองมากขึ้น เนื่องจากเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม ทั้งยังเป็นสถานที่ตั้งของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา จึงทำให้มีคนรุ่นใหม่อาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก

วิโรจน์ มีนะพันธ์
วิโรจน์ มีนะพันธ์

ขณะเดียวกัน พื้นที่สีเขียวก็ลดน้อยลงเรื่อย ๆ ประชาชนไม่ค่อยมีพื้นที่ทำกิจกรรมเพื่อสุขภาพมากนัก เราจึงหารือกับเทศบาลนครแหลมฉบังว่า อยากทำพื้นที่ว่างเปล่าให้เป็นสวนสาธารณะ ผลสรุปคือ เราได้พื้นที่ลานจอดรถเดิมของโรงพยาบาลแหลมฉบังประมาณ 9 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เทศบาลดูแลอยู่

หลังจากปรึกษาหารือกันเรียบร้อยจึงลงมือออกแบบ โดยเราให้ผู้เชี่ยวชาญจากสวนนงนุชเข้ามาช่วย ซึ่งการสร้างสวนไม่ใช่แค่การนำต้นไม้มาปลูก เราต้องมีการออกแบบโครงสร้าง ปรับปรุงดิน วางระบบท่อน้ำเพื่อกระจายน้ำต่าง ๆ ด้วย

 

“สวนนงนุชช่วยเหลือเราตรงนี้ พร้อมกับจัดหาต้นไม้นานาชนิดมาปลูก โดยทางสวนนงนุชจะช่วยดูว่าพันธุ์ไหนเหมาะสม โดยเราให้โจทย์ไปว่าต้องการพันธุ์ไม้ที่หลากหลาย ทำให้เยาวชนได้เห็นต้นไม้ที่ไม่เคยเห็น จึงเลือกใช้ไม้พื้นถิ่นมาผสมผสานด้วยพรรณไม้นานาชนิด กระจายทั่วพื้นที่

เป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในแนวคิด Forest Carbon ซึ่งใช้พรรณไม้ที่ลดคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน และมีอายุยืนยาว มีทั้งหมดกว่า 40 สายพันธุ์ เช่น ยางนา, ประดู่ป่า, สัก, มะฮอกกานี, อินทนิล, ไทร, นนทรี เป็นต้น”

การเลือกต้นไม้มาปลูก ส่วนใหญ่จะเพาะจากเมล็ดพันธุ์ โดยใช้ทฤษฎีปลูกต้นไม้โตเร็วที่ให้ความร่มรื่น ดังนั้น ทางผู้ออกแบบจึงจัดทำในรูปแบบของสวนป่านิเวศ โดยนำหลักทฤษฎีของ “ศาสตราจารย์ ดร.อาคิระ มิยาวากิ” ซึ่งเป็นการปลูกเลียนแบบโครงสร้างป่าธรรมชาติ

ด้วยการปลูกทั้งพืชคลุมดิน ไม้พุ่ม ไม้ยืนต้น คละชนิดพันธุ์ไม้บางประเภท จนทำให้ต้นไม้สามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าป่าทั่ว ๆ ไป นอกจากนี้ ในเรื่องของการวางระบบน้ำรดต้นไม้ ก็ใช้ระบบสปริงเกลอร์ตั้งเวลาเพื่อประหยัดน้ำ

ที่สำคัญ ภายในสวนยังมีเครื่องเล่น ทั้งสำหรับเด็กและผู้สูงวัย มีศาลาสำหรับพักผ่อนหย่อนใจ รวมถึงมีการติดตั้งโซลาร์เซลล์ และมีระบบคัดแยกขยะอีกด้วย

“วิโรจน์” กล่าวต่อว่า เรายังมีอีกหลายโครงการที่ตั้งใจอยากจะทำ ด้วยความที่พื้นที่ติดกับโรงพยาบาลแหลมฉบัง, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และในพื้นที่ของเทศบาลเองก็มีศาลาประชาคม, ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก, สนามฟุตซอล และห้องสมุด

ในส่วนเหล่านี้เรากำลังคิดว่า ในอนาคตถ้ามีโอกาสเราอาจพัฒนาพื้นที่ให้มีความทันสมัย และน่าใช้งานมากขึ้น ซึ่งสิ่งที่ไทยออยล์ต้องการทำคือ พัฒนาชุมชนให้เติบโตไปพร้อม ๆ กับไทยออยล์ในเชิงธุรกิจ

 

ตอนนี้ไทยออยล์คิดไว้แล้วหลายโครงการ อาทิ ดนตรีในสวน เพราะนิสิต ม.เกษตรฯ วิทยาเขตศรีราชา มีความสามารถในการเล่นดนตรี ตรงนี้จึงเป็นโอกาสที่จะเปิดพื้นที่ให้พวกเขามาแสดง และประชาชนก็จะได้พักผ่อนหย่อนใจไปในตัว พนักงานไทยออยล์เองก็เล่นดนตรีเก่งหลายคน ฉะนั้น ในทุกวันศุกร์, เสาร์, อาทิตย์ ก็อาจมีกิจกรรมเหล่านี้เข้าไปเสริม

นอกจากนี้ ยังมีการคุยกับ “คุณจินดา ถนอมรอด” นายกเทศมนตรีนครแหลมฉบัง ว่าอาจมีตลาดที่ให้ชาวบ้านนำผลิตภัณฑ์ของชุมชนเข้ามาขายโดยไม่คิดค่าเช่าที่ ซึ่งสวนนี้เป็นแค่จุดเริ่มต้น ผมคิดว่าจะมีกิจกรรมหรือโครงการต่าง ๆ ต่อเนื่องตามมาอย่างแน่นอน

“เพราะหัวใจหลักที่จะทำให้การสร้างสวนเกิดขึ้นและยั่งยืน จะต้องเกิดจากการทำงานร่วมกันโดยใช้โมเดล 3 ประสานคือ ไทยออยล์, ประชาชน และหน่วยงานภาครัฐ ทั้งสามขานี้จะขาดขาใดขาหนึ่งไม่ได้ เพราะจะไม่เกิดความยั่งยืน

ที่ผ่านมาเราใช้แนวคิดนี้กับทุก ๆ โครงการอยู่แล้ว ไทยออยล์มีทุน ก็จะเป็นผู้สนับสนุนทุน และบุคลากรเป็นหลัก อย่างสวนนี้เราใช้งบประมาณในการสร้างราว 60 ล้านบาท ก็ครอบคลุมทั้งการออกแบบ วางระบบ การนำต้นไม้มาปลูก แล้วก็การดูแลขั้นตอนต่อไป”

ส่วนภาครัฐจะดูเรื่องของการใช้กฎหมาย ผมคุยกับท่านนายกเทศมนตรี ท่านบอกว่ารับมอบเสร็จก็จะนำเรื่องไปแจ้งในสภาเทศบาล ก็จะมีกลไกต่อไปเข้าในระบบภาครัฐ และให้ภาครัฐอย่างเทศบาลนครแหลมฉบังมาช่วยดูแลต่อไป ประชาชนก็จะเป็นส่วนหนึ่งเข้ามามีส่วนร่วม ถ้า 3 ปาร์ตี้เห็นพ้องต้องกัน ผมมองเห็นความยั่งยืน ตอบโจทย์เป้าหมายที่เราอยากให้เป็น

“วิโรจน์” บอกอีกว่า ในโอกาสครบ 60 ปี สำหรับไทยออยล์ไม่ได้มีแต่เรื่องสบาย ๆ ผ่านมามีขึ้นมีลง แต่ตอนนี้ถึงเวลาที่ต้องคิดเรื่องตอบแทนสังคมด้วย บริษัทต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อจะก้าวเข้าสู่ปีต่อ ๆ ไปได้ ที่สำคัญ ต้องมองสังคมเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจ เราไม่เอาเปรียบสังคม ไม่นำทรัพยากรมาใช้อย่างฟุ่มเฟือย ในวาระโอกาสพิเศษแบบนี้ จึงอยากทำโครงการที่เป็นรูปธรรม โดยนำสังคมเป็นศูนย์กลาง

ไม่เพียงแต่การสร้างสวนสาธารณะเท่านั้น กลุ่มไทยออยล์ยังใช้ความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม รวมถึงประสบการณ์ด้านการจัดการพลังงานมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินโครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) ให้กับโรงพยาบาล

เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงการใช้พลังงานทางเลือก ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้า ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยในปี 2564 ที่ผ่านมา โรงพยาบาลแหลมฉบัง (อาคารไทยออยล์) ประหยัดค่าไฟฟ้าประมาณปีละ 400,000 บาท

“สำหรับโครงการที่จะตามมาคือ เรื่องของโซลาร์เซลล์ โดยเราติดตั้งให้กับโรงพยาบาลหลาย ๆ แห่ง เพราะจากการสำรวจพบว่าโรงพยาบาลบางแห่งไม่ได้ต้องการโซลาร์เซลล์เพื่อประหยัดไฟเพียงอย่างเดียว เราพบว่าบางแห่งมีไฟฟ้าใช้ไม่เพียงพอด้วยซ้ำ

ฉะนั้น ต้องไม่มองเพียงมิติของการประหยัดอย่างเดียว แต่ต้องมองถึงการเข้าถึงแหล่งพลังงานที่มั่นคง มองถึงการช่วยโรงพยาบาลเพื่อให้ผู้ป่วยดีมากขึ้น อย่างที่เราเคยไปทำ ที่ผ่านมาคือโรงพยาบาลธัญญารักษ์ จ.แม่ฮ่องสอน”

นอกจากนั้น ยังดูในเรื่องปลูกป่าเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก เพราะหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ลดน้อยลง คงน่าจะเป็นโอกาสให้ “ไทยออยล์” ดำเนินการอะไรได้มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม