องค์กร 2 ผู้นำ บริหารโลกใหม่…เป้าหมายเดียวกัน

อริญญา เถลิงศรี-บุณย์ญานุช บุญบำรุงทรัพย์
อริญญา เถลิงศรี-บุณย์ญานุช บุญบำรุงทรัพย์

“สองหัวดีกว่าหัวเดียว” คือสำนวนคุ้นเคย และกำลังเป็นแนวคิดที่องค์กรยักษ์ใหญ่นำมาใช้ในการบริหารธุรกิจ โดย Harvard Business Review (HBR) ตีพิมพ์ผลงานวิจัยระบุว่า กว่า 87 บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกากำลังใช้รูปแบบ “ผู้นำสองคน” (Co-MD) เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ (major transformation) และบริษัทเหล่านั้นมีแนวโน้มที่จะสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าบริษัทระดับเดียวกันที่มีผู้นำเพียงคนเดียว

SEAC (ซีแอค) หนึ่งในองค์กรที่มุ่งมั่นปรับตัว และต้องการเสริมสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่องค์กรต่าง ๆ และบุคคล จึงเล็งเห็นถึงข้อได้เปรียบในการแข่งขัน กระทั่งนำแนวทาง “ผู้นำสองคน” มาใช้ โดยเบื้องต้น “อริญญา เถลิงศรี” กรรมการผู้จัดการ และผู้ก่อตั้ง SEAC ผู้มีบทบาทอย่างยิ่งในการออกแบบโซลูชั่นให้กับองค์กรต่าง ๆ เพื่อสร้างการทรานส์ฟอร์เมชั่น และพลิกโฉมองค์กรตลอดช่วงผ่านมา

จึงได้เชิญชวน “บุณย์ญานุช บุญบํารุงทรัพย์” ผู้นำรุ่นใหม่มาเป็น Co-MD ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ YourNextU : School of Life ศูนย์รวมวิชาชีวิต ที่เน้นด้านการสร้างทักษะที่จะเปลี่ยนชีวิตของผู้คนทุกช่วงวัยในสังคม ไม่ว่าจะเป็นการงาน หรือชีวิตส่วนตัว

อริญญา เถลิงศรี
อริญญา เถลิงศรี

“อริญญา” กล่าวว่า จุดเปลี่ยนที่ทำให้หลาย ๆ บริษัทระดับโลกเริ่มมีผู้นำสองคนในองค์กรมี 3 ประเด็นคือ หนึ่ง เมื่อองค์กรเริ่มมีการขยายภารกิจที่มากกว่าขอบเขตของอุตสาหกรรมตนเอง สอง ต้องการได้รับผลลัพธ์ในแง่ของการจัดการ และอิมแพ็กต่างจากบริษัทอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน ซึ่งการจะสร้างความแตกต่างมาก ๆ การมีผู้บริหารหนึ่งคนอาจไม่พอ และสาม การเห็นถึงความจำเป็นในการสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ขององค์กร

“Harvard Business Review ตีพิมพ์ผลงานวิจัยเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 ระบุถึงสิ่งสำคัญในการมี Co-MD คือผู้บริหารหลักต้องยอมรับว่าไม่มีใครในโลกที่จะมีชุดทักษะครบ (skill set) แม้จะมีโค้ชมาสอนส่วนตัวก็ยังไม่พอ

และการมี Co-MD นั้นไม่ควรหาคนที่เหมือนกันมาอยู่คู่กัน แต่ควรที่จะหาคนที่มีทักษะต่างกัน และเอื้อต่อกันมาทำงานด้วยกัน แต่ทั้งคู่จะต้องมีความต้องการที่จะเรียนรู้จากกันและกัน หรือที่เรียกว่า willing participant”

“ดังนั้น skill set ต่างกันไม่พอ คนสองคนจะต้องมีความต้องการที่จะนำจุดแข็งของทั้งคู่มาเติมเต็มซึ่งกันและกัน แต่ข้อควรระวังคือความขัดแย้ง (conflict) เพราะแน่นอนว่าเมื่อคนมีความต่างกันมาก ก็จะต้องมีความคิดเห็นที่ต่างกัน แต่เราต้องมีคำตอบร่วมกันได้ คิดต่างได้ แต่ต้องแน่ใจว่ามีวิธีการที่จะทำให้เสียงต่างออกมาเป็นเสียงเดียว

นอกจากนั้น ผู้บริหารทั้งสองคนต้องชัดเจนในบทบาทหน้าที่ ขณะเดียวกัน ต้องร่วมรับผิดชอบในผลลัพธ์ และเป้าหมายเดียวกัน แต่จะต้องไม่แยกกันเป็น silo (ต่างฝ่ายในองค์กรทำงานแบบตัวใครตัวมัน)”

“อริญญา” อธิบายต่อว่า ในกรณีของซีแอค เรามองว่าธุรกิจการศึกษาในเมืองไทยกำลังมีปัญหา จึงต้องการที่จะทรานส์ฟอร์มธุรกิจการศึกษา และดิฉันตระหนักว่าตนเองไม่มีชุดทักษะอะไรบ้าง ซึ่งตนเองเป็นสายวิชาการ และจำเป็นที่จะต้องมองหาคนมาร่วมบริหารที่มีต่างกันออกไป

การทำงานร่วมกับ “คุณบุณย์ญานุช” ในตอนแรกเป็นการดึงมาเป็นที่ปรึกษาให้กับ YourNextU และร่วมกันทำโปรเจ็กต์หนึ่งเท่านั้น ไม่ได้มองในเรื่องของการมี Co-MD แต่หลังจากมีการคุยกันบ่อย ๆ สัมผัสได้ถึงความมี willing participant สนใจฟัง และอยากเรียนรู้ทักษะที่ต่างกันซึ่งกันและกัน

“นอกจากนั้น เรายังมีสามเหลี่ยมที่ตรงกัน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในการจะมีผู้นำเบอร์ 1 สองคนได้ โดยสามเหลี่ยมของแต่ละองค์กรต่างกันไป อาจจะเป็นในด้านกระบวนคิด พฤติกรรม และผลลัพธ์ ซึ่งขึ้นอยู่กับทิศทางขององค์กร

และหลังจากที่ร่วมงานกันมาสักระยะหนึ่งแล้ว จนถึงวันนี้ยังไม่มีความขัดแย้งที่สร้างปัญหาเลย เพราะเราฟังกันและกัน ขณะที่คนทำงานสามารถดึงข้อดีของความต่างนี้ออกมาในการทำงานได้ จนทำให้เราเห็นโอกาสในการสร้างโมเดลการบริหารใหม่ ๆ”

“สำหรับ SEAC และ YourNextU จะไม่ได้แยกขาดกัน เพราะทั้งคู่เป็นอะไรที่ต้องมีการทำงานร่วมกัน (synergy) มาก ๆ ถ้าเปรียบเทียบก็เหมือนอยู่ในสนามบอลเดียวกัน แต่ว่าฝ่ายหนึ่งอาจเป็นกองหน้า และอีกฝ่ายเป็นกองหลัง และกองกลาง แต่เราจะมีโค้ชทีมนี้ด้วยกันสองคน และดีกว่ามากที่โค้ชทั้งสองคนมีทักษะและเทคนิคที่จะนำพาให้ผู้เล่นในทีมตามเกมได้ดี”

บุณย์ญานุช บุญบำรุงทรัพย์
บุณย์ญานุช บุญบำรุงทรัพย์

“บุณย์ญานุช” กล่าวเสริมว่า ที่มาของคำว่าสามเหลี่ยมตรงกัน มาจากเครื่องมือของ Outward Mindset ซึ่งเป็นหนึ่งในคอร์สไฮไลต์ของซีแอค โดยทิศทางของยอดสามเหลี่ยมเปรียบเทียบกับเป้าหมายในองค์กร ถ้าสามเหลี่ยมของทุกคนชี้เข้าหาตัวเอง คือทุกคนทำเพื่อตัวเองหมด ดังนั้น จำเป็นที่จะต้องทำให้สามเหลี่ยมของทุกคนชี้มาที่ตรงกลาง คือมีเป้าหมายร่วมกัน และเวลาที่ทำอะไรจะต้องนำเป้าหมายร่วมกันนี้มาเป็นตัวตั้ง

“ดิฉันกับคุณอริญญาไม่มีอะไรเหมือนกันเลย นอกจากมีค่านิยมและเป้าหมายเดียวกัน โดยเราทั้งคู่ต้องการให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในการศึกษาของประเทศไทย และจุดหนึ่งที่ดีมากในการทำงานร่วมกันคือ เราเชื่อใจกัน และเคารพซึ่งกันและกัน เพราะการจะมีผู้นำ 2 คนในองค์กร ต้องยอมรับก่อนว่าเราเก่งเรื่องอะไร และโง่เรื่องอะไร

ตรงนี้เป็นอะไรที่สำคัญมาก เพราะ self-awareness คือการไม่ลืมตัว บางคนยิ่งสูงเหมือนจะหูดับ ตาบอด จนส่งผลในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่ดี ดิฉันมีความสุขมากที่มาทำงานที่นี่ เพราะตนเองเป็นคนมีสมองซีกขวา และได้ทำงานกับคนมีสมองซีกซ้ายที่มาเติมเต็มตัวเรา”

“ปัจจุบัน ดิฉันมีทิศทางในการสร้างแบรนด์ YourNextU พร้อมกับวางแผนกลยุทธ์บ้างแล้ว แต่กระนั้น จะต้องทำให้คนเข้าใจก่อนว่า YourNextU เป็นศูนย์รวมวิชาชีวิตที่ครบวงจรที่สุดในประเทศไทย ดังนั้น จึงสำคัญมากที่ผู้นำทั้ง 2 คน และคนในองค์กรจะต้องมองเห็นวิสัยทัศน์ร่วมกัน เพราะการเป็นผู้นำที่ดีต้องบอกทีมได้ว่าองค์กรกำลังจะไปไหน และดึงให้คนไปด้วยกัน เพื่อให้พวกเขาเห็นภาพว่าเราไปฉลองความสำเร็จด้วยกัน”

“ซึ่งในทีมจะมีคนหลายประเภท เช่น คนบางคนพร้อมที่จะไป หรือคนบางคนอยากไป แต่ต้องการคำแนะนำในการฝึกฝนตัวเองเพื่อจะไปถึงจุดนั้น หรือคนอีกกลุ่มหนึ่งที่อยากจะไป แต่ยังขาดความมั่นใจ ซึ่งคนเหล่านี้อาจต้องได้รับการผลักดันมากหน่อย และจะมีอีกกลุ่มที่ไม่อยากไป ซึ่งก็ต้องหาวิธีจัดการอีกรูปแบบหนึ่ง”

“บุณย์ญานุช” บอกด้วยว่าปัจจุบันธุรกิจการศึกษาของซีแอคถูกขับเคลื่อนด้วยโมเดลแบบ B2B เป็นหลัก ซึ่ง YourNextU ต้องการเจาะตลาด B2C โดยมีเป้าหมายเพื่อให้คนไทยมีโอกาสเรียนรู้เนื้อหาที่ทันสมัย โดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูง ดังนั้น จึงมีการออกแบบการทำ 5 วิชาชีวิตออกมา ที่ปกติแล้วคอร์สหนึ่งสนนราคากว่า 3 หมื่นบาท แต่เราทำคอร์สนี้ด้วยราคา 999 บาท เพื่อให้คนเข้าถึงมากขึ้น อาทิ

หนึ่ง Outward Mindset อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ มองตัวเอง และผู้อื่นอย่างเท่าเทียม

สอง Growth Mindset ปลดล็อกศักยภาพตัวเอง ด้วยวิธีคิดแบบพลิกชีวิต

สาม The Four Houses of DISC อ่านคนให้ออก โน้มน้าวคนให้เป็น

สี่ Self-Leadership ปลุกภาวะผู้นำตัวเอง มุ่งสู่เป้าหมาย โดยไม่ต้องรอคำสั่ง

ห้า Emotional Intelligence ใช้อารมณ์ อย่างฉลาด“เราตั้งเป้าว่าอีก 3 ปีจะเป็นแบรนด์ที่มีสมาชิกกว่า 500,000 คน ในทุกช่องทาง สำหรับเหตุผลที่ตั้งเป้าแบบนี้ เพราะเราเป็นธุรกิจที่ไม่ใช่ปัจจัย 4 ดังนั้น ต้องทำให้คนเข้าใจก่อนว่าเราคือใคร

และทำอย่างไรให้คนได้ทดลองใช้ซ้ำ เพื่อเกิดพฤติกรรมใหม่ ซึ่งตอนนี้เรามีฐานแฟนคลับอยู่เกือบ 50,000 คน ซึ่งมีทั้งลูกค้า B2B และ B2C และอนาคตทุกคนอาจได้เห็นโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ จาก YourNextU”

นับว่าการมีผู้นำ 2 คนในแต่ละองค์กร ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ความมุ่งมั่นของผู้นำทั้งสอง ชุดทักษะ และความรับผิดชอบที่ชัดเจนและสิทธิในการตัดสินใจ