องค์กรในฝัน 5 ปัจจัยสร้างความสุข = ความสมดุล

องค์กรในฝัน

ต้องยอมรับว่าโลกแห่งการทำงานเปลี่ยนแปลงอย่างมาก เนื่องจาก “มนุษย์เงินเดือน” ไม่เพียงแค่ต้องการความอยู่รอด หากพวกเขาต้องการเติบโต และพร้อมจะออกจากงานทันทีหากแนวทางการทำงานไม่ตอบสนองกับไลฟ์สไตล์การดำเนินชีวิต จนนำไปสู่ภาวะการขาดแคลนพนักงานที่มีทักษะเพิ่มขึ้น

ผลเช่นนี้จึงทำให้ “มนุษย์เงินเดือน” ไม่เพียงเลือกทำงานกับองค์กรมีชื่อเสียงเท่านั้น แต่องค์กรนั้น ๆ จะต้องสร้าง “ความสุข” ในที่ทำงาน และมอบ “ความสมดุล” ในการดำเนินชีวิตด้วย

ลิลลี่ งามตระกูลพานิช
ลิลลี่ งามตระกูลพานิช

“ลิลลี่ งามตระกูลพานิช” ผู้จัดการประจำประเทศไทย แมนพาวเวอร์กรุ๊ป เปิดเผยว่า ปัจจุบันการเติบโตในที่ทำงานของพนักงานคือการได้รับอำนาจ, การดูแลสภาวะจิตใจ และความเป็นอยู่ที่ดีทางร่างกาย ขณะเดียวกัน จะต้องมุ่งมั่นค้นหาความหมาย และเป้าหมายในการทำงานด้วย เพื่อสร้างความสำเร็จให้กับตนเอง

อันสอดคล้องกับผลสำรวจในหัวข้อ “ความต้องการของพนักงานในยุคนี้” ที่ “แมนพาวเวอร์ กรุ๊ป” ร่วมมือกับ “Thrive Global” บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำระดับโลก ศึกษาและวิจัยกลุ่มตัวอย่าง ประกอบด้วย พนักงานหน้างาน องค์กร และคอลเซ็นเตอร์กว่า 5,000 คน ตลอดจนผู้หางานใน 5 ประเทศ (ออสเตรเลีย, ฝรั่งเศส, อิตาลี, สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา)

พบว่ามี 5 ปัจจัยหลักในการออกแบบงานในฝันของพนักงาน ที่จะทำให้พนักงานรู้สึกถึงการเติบโตเจริญก้าวหน้า และมีสุขภาพจิตที่ดีในการทำงาน ได้แก่

หนึ่ง การสร้างความยืดหยุ่นสำหรับทุกคน (PUSHING THE FLEXIBILITY FRONTIER) การทำงานแบบไม่ต้องเข้าออฟฟิศ (remote work) หรือแบบไฮบริด คือการผสมทั้งเข้าและไม่เข้าออฟฟิศ โดยจากผลสำรวจพบว่า 93% ของพนักงานทั้งหมดมองว่าความยืดหยุ่นมีความสำคัญต่อชีวิตการทำงานของพวกเขา,

64% ต้องการเปลี่ยนไปทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ (ปริมาณงานเยอะขึ้น ชั่วโมงอัดแน่น ทำงานหนักเต็มที่ ได้ค่าจ้างเต็ม), 45% ต้องการสามารถกำหนดเวลาเข้างานและเลิกงานได้เอง, 35% ต้องการเลือกสถานที่ทำงาน (ที่ทำงานหรือที่บ้าน) ตามความต้องการในแต่ละวัน,

18% หรือเกือบ 1 ใน 5 ตัวอย่างสำรวจ ต้องการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ แบบปริมาณงานเท่าเดิม โดยยอมถูกลดค่าจ้าง แลกกับความสมดุลระหว่างชีวิต-งานที่ดีขึ้น

สอง การเปลี่ยนบทบาทผู้นำในยุคใหม่ (REWRITING THE RULES OF LEADERSHIP) โดยรายงานระบุว่าพนักงานต้องการทำงานกับคนที่เข้ากันได้ และไว้วางใจ (79%), มีหัวหน้าที่พร้อมคอยสนับสนุน (74%) และผู้นำที่เชื่อถือได้ (71%) หลายคนต้องการค้นหาความหมายของงานที่ตัวเองทำ (70%) ขณะที่บางคนอยากทำงานที่มีส่วนช่วยสังคมในเชิงบวก (64%)

ทั้งนี้ ผู้นำควรเป็นผู้เริ่มต้นสร้างวัฒนธรรมองค์กร และเป็นผู้เชื่อมโยงความสัมพันธ์อันดีระหว่างองค์กรกับพนักงาน เพื่อประสิทธิภาพการทำงานในอนาคต

สาม ความเจริญรุ่งเรือง และวิธีการก้าวสู่ความสำเร็จ (THRIVING-THE HOW TO) การระบาดของโควิด-19 ครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อชีวิตการทำงานของผู้หญิงเป็นอย่างมาก ซึ่งพบว่าผู้หญิงมีภาวะหมดไฟในการทำงานสูงกว่าผู้ชาย

หลายองค์กรสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ มีการเสนอโอกาสที่ดีกว่าให้กับกลุ่มผู้มีความสามารถที่กว้างขึ้น โดยไม่จำกัดเพศ และบริษัทที่มีผู้หญิงมีบทบาทเป็นผู้นำมากขึ้นก็มีผลงานดีขึ้นเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ความต้องการของผู้หญิงและผู้ชายยังมีความแตกต่างกัน โดย 5 อันดับแรกที่ผู้หญิงและผู้ชายต้องการจากที่ทำงานมากที่สุดคือ การทำงานกับเพื่อนร่วมงานที่พวกเขาไว้วางใจ (ผู้หญิง 82%-ผู้ชาย 77%), มีหัวหน้าที่พร้อมช่วยเหลือ (ผู้หญิง 77%-ผู้ชาย 71%),

การได้ทำงานที่มีคุณค่า (ผู้หญิง 73%-ผู้ชาย 69%), การทำงานให้กับองค์กรที่มีค่านิยมหรือวิสัยทัศน์ตรงกับตน (ผู้หญิง 69%-ผู้ชาย 65%) และการดูแลสุขภาพจิต (ผู้หญิง 60%-ผู้ชาย 54%)

สี่ การสร้างอนาคตที่เป็นมิตรกับครอบครัว (FORGING A FAMILY FRIENDLY FUTURE) ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หลังจากประสบปัญหาการงาน การเรียน และการใช้ชีวิตที่บ้าน หลายคนประเมินชีวิต และลำดับความสำคัญของตนเองใหม่อีกครั้ง และต้องการการเปลี่ยนแปลง

สิ่งที่พนักงานที่เป็นคุณพ่อคุณแม่ต้องดูแลลูกเล็ก หรือพนักงานที่มีภาระต้องดูแลญาติผู้สูงอายุ (พวกเขามักจะออกจากงานมากกว่าพนักงานอื่นทั่วไป) โดยจากผลสำรวจปรากฏว่าพวกเขาต้องการจากนายจ้างมากเพื่อโอกาสก้าวหน้าในอาชีพ (75%), งานที่มีความหมาย (74%), การสนับสนุนให้มีสุขภาพแข็งแรง (56%) และการสนับสนุนการออกกำลังกายเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น (54%)

ห้า การต่อสู้กับความเหนื่อยหน่าย และการสร้างสุขภาพจิตที่ดี (FIGHTING BURNOUT, BUILDING MENTAL FITNESS) องค์กรตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันภาวะหมดไฟในการทำงาน ควบคู่กับการส่งเสริม และสร้างสุขภาพจิตที่ดี

ปัจจุบันพนักงานมีความเครียด (38%), ความเครียดก่อนเกิดโรคระบาด (32%) และมีความเครียดในช่วงที่ระบาดสูงสุดอยู่ที่ (42%) ทั้งนี้ พนักงาน 1 ใน 4 (25%) ต้องการความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น เพื่อป้องกันภาวะหมดไฟในการทำงาน โดยเฉพาะพนักงานวัยหนุ่มสาวที่กำลังประสบกับความรู้สึกวิตกกังวลมากขึ้นถึง 42%

“ลิลลี่” กล่าวต่อว่า การทำงานในโลกยุคปัจจุบัน และกฎเกณฑ์ทางธุรกิจเปลี่ยนไป องค์กรต่าง ๆ จำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีคิด และปรับพฤติกรรมภายในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความยืดหยุ่น, บทบาทใหม่ของผู้นำ, ความเจริญรุ่งเรือง, การสร้างอนาคตที่เป็นมิตรกับครอบครัว, การต่อสู้กับภาวะหมดไฟ, สร้างสุขภาพจิตที่ดีเพื่อให้สามารถบริหาร จัดระเบียบ กระตุ้น จัดการ สร้าง และปรับสมดุลระหว่างองค์กร งาน และพนักงานได้อย่างลงตัว

“ทั้งยังจะต้องมีการสร้างการมีส่วนร่วมของพนักงานให้ได้ เพราะสิ่งเหล่านี้จะช่วยดึงดูด หล่อเลี้ยง และรักษาพนักงานที่มีทักษะความสามารถดีที่สุดไว้ และจะสามารถพิชิตชัยชนะในตลาดแรงงานที่มีการแข่งขันสูงที่สุดอย่างแน่นอน”