ถอดแนวคิด ชัชชาติ สร้างศักยภาพกรุงเทพฯให้เป็นจริง

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

ภายในงานสัมมนา “ESG Forum จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจไทย” ที่หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจจัดขึ้นเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา นอกจากจะมี “ผู้นำ” องค์กรของหลายภาคธุรกิจมาแลกเปลี่ยนมุมมองในเรื่องของการนำแนวคิดเรื่องการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม (environment) สังคม (social) และธรรมาภิบาล (governance) หรือ “ESG” มาเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างยั่งยืนแล้ว

หากยังมี “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่ากรุงเทพมหานครมาปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “สร้างศักยภาพใหม่ให้เป็นจริง” ด้วย

เจียระไนกรุงเทพฯเป็นเพชรเม็ดงาม

เบื้องต้น “ชัชชาติ” กล่าวภายในงานสัมมนาว่า ผมเป็นผู้ว่าฯมา 3 เดือน เห็นศักยภาพกรุงเทพฯมากพอสมควร แต่กรุงเทพฯยังมีคุณสมบัติแฝงที่ไม่ได้ถูกใช้อย่างเต็มศักยภาพ ก็เหมือนกับเพชรที่ยังไม่ได้เจียระไน ถ้าเจียระไนให้ดีจะเปล่งประกายไม่แพ้เมืองหลวงอื่น ๆ ในโลก เพราะศักยภาพที่แท้จริงของกรุงเทพฯคือ “คน”

อันสอดคล้องกับที่ “วิลเลียม เชกสเปียร์” กล่าวว่า…What is the city but the people ? (เมืองไม่ใช่สิ่งก่อสร้าง แต่เมืองคือคน) พูดง่าย ๆ คือ เมืองไม่มีทางดีกว่าคนที่มีอยู่ในเมืองนั้นได้ ถ้าเราสร้างแรงบันดาลใจให้คนได้ ก็จะมีพลังมหาศาลในการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กรุงเทพฯ

แต่อุปสรรคในการเจียระไนเมือง และเจียระไนคนของประเทศไทย มี 11 ข้อหลัก ๆ ได้แก่ ภาวะความเป็นผู้นำ, การให้อำนาจ, การมีส่วนร่วม, ความคิดสร้างสรรค์, ความไว้วางใจ, การให้โอกาส, ประชาชนเป็นศูนย์กลาง, ความโปร่งใส, ความร่วมมือร่วมใจ, ความเท่าเทียมกัน และความยุติธรรม

“ที่ผ่านมารัฐยังหวงอำนาจ ไม่กระจายอำนาจให้ประชาชนตัดสินใจ ทำให้ประชาชนขาดการมีส่วนร่วม และรัฐยังใช้ความคิดสร้างสรรค์ของประชาชนมาเป็นคำตอบในการพัฒนากรุงเทพฯไม่มากพอ นอกจากนั้น ยังขาด trust (ความไว้ใจ) ซึ่งที่ผ่านมาคนและรัฐต่างไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน”

สะท้อนจุดอ่อน-ปัญหากรุงเทพฯ

“ชัชชาติ” กล่าวต่อว่า จุดอ่อนของไทยมีหลายประเด็น เช่น เรื่องคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นตัวที่กัดกร่อนประเทศไทย ยกตัวอย่าง การซื้อขายตำแหน่ง คนเก่งไม่มีโอกาสได้ขึ้น เพราะมีคนที่คอยจะซื้อตำแหน่งอยู่ และคนที่ซื้อตำแหน่งนั้นก็อาจต้องไปหาเงินมาจ่ายด้วยวิธีคอร์รัปชั่น สุดท้ายกลายเป็นวงจรอุบาทว์ ถ้าไม่แก้ ก็วางแผนอนาคตให้ประเทศไม่ได้ นอกจากนั้น ยังขาดความสะดวกในการทำธุรกิจ เพราะกฎหมายต่าง ๆ ยังมีความล้าสมัย

ขณะที่ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษของคนไทยอยู่ในลำดับต่ำมาก ติดอันดับ 100 จาก 112 ประเทศ ส่วนคะแนน PISA (การประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล) อยู่ในอันดับ 60 จาก 77 ประเทศ อีกทั้งโรงเรียนสังกัด กทม. ยังได้คะแนน PISA เฉลี่ยต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศอีกด้วย สิ่งเหล่านี้คือปัญหาระบบการศึกษาที่ต้องแก้

รวมทั้งทักษะการทำงานเพื่ออนาคตของคนไทยยังไม่สูง เช่น ทักษะ creative thinking (การคิดสร้างสรรค์) และ critical thinking (การคิดเชิงวิพากษ์) ยังต่ำมาก เพราะคนไทยถูกสอนให้ท่องจำ แต่ให้คิดวิเคราะห์ทำได้ไม่ดี

สำหรับปัญหาสิ่งแวดล้อม เรื่องอากาศ PM 2.5 กรุงเทพฯมีวันที่มีอากาศดีแค่ 25% ทั้งยังมีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 53 ล้านตันต่อปี ซึ่งผลกระทบจากก๊าซเรือนกระจกรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน โดยเฉพาะน้ำท่วมก็คือปัญหาอย่างหนึ่งที่มาจากผลของก๊าซเรือนกระจก

“ที่น่าเป็นห่วงคือ กรุงเทพฯติดอันดับ 9 ของโลกที่มีความเสี่ยงจาก climate change (การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ) ถ้าไม่ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหานี้จะเป็นปัญหาระยะยาว นอกจากนั้น คนใช้เวลา 71 ชั่วโมงต่อปีบนถนนในกรุงเทพฯ และสัดส่วนพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพฯค่อนข้างต่ำ โดยเมืองที่ดีต้องมีอย่างน้อย 9 ตารางเมตรต่อคน แต่พื้นที่สีเขียวของเราที่วัดได้จริงมีแค่ 0.92 ตารางเมตรต่อคนเท่านั้น”

ทำกรุงเทพฯติด 50 เมืองน่าอยู่ของโลก

สำหรับจุดแข็งของกรุงเทพฯคือเป็นเมืองหัวโต เพราะ GDP ส่วนใหญ่มาจากกรุงเทพฯ 40% ความเจริญทั้งหลายอยู่ที่กรุงเทพฯ ส่วนค่าครองชีพปานกลาง ทั้งยังถูกกว่าประเทศฮ่องกงและสิงโปร์ ทำให้เราสามารถแข่งขันกับเมืองอื่นได้ นอกจากนั้น กรุงเทพฯเริ่มมีโครงสร้างพื้นฐานที่ครบมากขึ้น

อีกทั้งประเทศไทยมีประวัติศาสตร์ที่ลึก ซึ่งหลายเมืองในภูมิภาคยังสู้ไม่ได้ และเรามีความเป็นพหุวัฒนธรรม มีความกลมกลืนกันของหลายศาสนา ยินดีต้อนรับคนทั้งโลก จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนชอบมาเที่ยวเมืองไทย

“ตอนนี้ประเทศไทยติดอันดับประเทศน่าท่องเที่ยวอันดับ 1 แต่กลับเป็นประเทศที่น่าอยู่อันดับ 98 ของโลก เพราะคนมาเที่ยวแล้วสนุก แต่การใช้ชีวิตจริงคงต้องเหนื่อยกับปัญหารถติดและมลพิษ ซึ่งผมอยากให้เราตั้งเป้าพัฒนาประเทศ ภายในปี 2570 กรุงเทพฯจะต้องติด 1 ใน 50 อันดับแรกเมืองที่น่าอยู่ของโลก”

นำ ESG ขับเคลื่อนช่วยเมืองหลวง

นอกจากนั้น “ชัชชาติ” ยังพูดถึงปัญหาเส้นเลือดฝอย ถ้าเปรียบกรุงเทพฯเหมือนร่างกายคน ก็จะมีทั้งเส้นเลือดใหญ่และเส้นเลือดฝอย ซึ่งเส้นเลือดฝอยคือตัวเชื่อมเส้นเลือดใหญ่ แต่เราไปลงทุนกับเส้นเลือดใหญ่เยอะ และละเลยเส้นเลือดฝอย ซึ่งทำให้เมืองพัง ยกตัวอย่าง เรามีรถไฟฟ้าดีที่ลงทุนเป็นแสนแสนล้านบาท แต่ซอยต่าง ๆ ยังมีการเข้าถึงบ้านยากลำบาก, มีโรงเผาขยะขนาดใหญ่

แต่การเก็บขยะต้นทางยังเป็นการทิ้งรวมกัน, มีอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ แต่ยังมีขยะอุดตันเต็มไปหมด, มีโรงพยาบาลขนาดใหญ่ และศูนย์สุขภาพชุมชนหลายแห่ง แต่ศูนย์สุขภาพชุมชนไม่มียารักษาและพนักงานเพียงพอ ก็จะทำให้คนไปกระจุกตัวที่โรงพยาบาลใหญ่ ๆ อยู่ดี

หรือเรามีมหาวิทยาลัยติดป้ายโชว์ ranking ติดอันดับโลก แต่โรงเรียนเด็กเล็กยังไม่มีค่าอาหารกลางวันเพียงพอ, กทม.ไม่มีอำนาจเต็มรูปแบบ เช่น การบริหารจัดการจราจรมีตั้ง 37 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกัน แต่ กทม.ไม่มีอำนาจไปกดไฟสัญญาณจราจร เป็นต้น

“ผมมองว่าการจะสร้างศักยภาพใหม่ให้เป็นจริงได้ โดยรวมแล้วคงเกี่ยวกับ ESG ซึ่งกรุงเทพฯมีนโยบาย 9 ด้านที่สอดคล้องกับ ESG คือ สิ่งแวดล้อมดี, สุขภาพดี, เดินทางดี, ปลอดภัยดี, บริหารจัดการดี, โครงสร้างดี, เศรษฐกิจดี, สร้างสรรค์ดี และเรียนดี”

สร้างศักยภาพกรุงเทพฯให้เป็นจริง

ดังนั้น ถ้าจะสร้างศักยภาพใหม่ให้เป็นจริงตามหัวข้อสัมมนา “ชัชชาติ” บอกว่าต้องสร้างเมืองให้เป็นตลาดแรงงานที่มีงานที่ดี ซึ่งกรุงเทพฯมี 7 ศักยภาพที่สร้างเศรษฐกิจและงานได้ ประกอบด้วย 1.เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ตอนนี้สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 1,500 ล้านบาท

2.การท่องเที่ยว ที่ผ่านมาสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB) จัด 8 งาน และมีนิทรรศการต่าง ๆ ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 7,000 ล้านบาท เก็บภาษีได้ 800 ล้านบาท และสร้างงานกว่า 4 หมื่นตำแหน่ง 3.ธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพ กรุงเทพฯต้องเน้นสร้างบุคลากรที่เกี่ยวข้องให้เข้มแข็งขึ้น เพื่อรองรับ medical tourism

4.อัญมณี เรามีมูลค่าส่งออก 3 แสนล้านบาท ซึ่งกรุงเทพฯสามารถเป็นศูนย์กลาง sourcing อัญมณีระดับโลกได้ เพราะเรามีแรงงานที่มีฝีมือ 5.ธุรกิจไมซ์ (MICE) ก่อนเกิดโควิด-19 ธุรกิจไมซ์สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 5.6 แสนล้านบาท แต่ตอนช่วงมีโควิด-19 เหลือเพียง 3 หมื่นล้านบาท เชื่อว่าในอนาคตจะเติบโตแน่

6.ศูนย์กลางของบริษัทข้ามชาติ เนื่องจากกรุงเทพฯมีพื้นที่เช่าสำนักงาน 10 ล้านตารางเมตร ตอนนี้มีพื้นที่ว่าง 20% และมีราคาเช่าที่ไม่แพง และ 7.การขยาย EEC โดยมีโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน จะดึงนักลงทุนชาวต่างชาติได้

“ผมว่าเราต้องดึงศักยภาพคนมาร่วมกันทำกรุงเทพฯให้ดีขึ้น ตอนนี้มีการร่วมมือกันแบบจตุรภาคี 4 คือ รัฐบาล, นักวิชาการ, ภาคเอกชน และประชาชน ผมได้พูดกับสภากรุงเทพมหานครหลายครั้งว่า 10 ปีที่ผ่านมาคนหมดหวังกับระบอบประชาธิปไตย เราต้องสร้างความมั่นใจกลับคืนมาสู่ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง และต้องสร้างความหวังให้กับประชาชนว่าระบอบนี้ยังเป็นระบอบดีที่สุดอยู่ ที่สามารถเลือกผู้แทน เลือกคนดีที่พร้อมจะทำให้เมืองดีขึ้นได้”