ESG นำมาสู่จุดเปลี่ยน กทม. ทัดเทียมมหานครอื่นในโลก

“เมืองไม่มีทางดีกว่าคนที่มีอยู่ในเมืองได้ รัฐต้องกระจายอำนาจให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการหาคำตอบพัฒนากรุงเทพฯ และสร้างความโปร่งใส ซึ่งทางออกทั้งหมดเกี่ยวข้องกับ ESG”

วันที่ 21 กันยายน 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวในงานสัมมนา “ESG Forum จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจไทย” ในหัวข้อ “สร้างศักยภาพใหม่ให้เป็นจริง” ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า

การพัฒนาศักยภาพให้กรุงเทพฯมีศักยภาพทัดเทียมมหานครของโลกอื่น ๆ ของโลก ต้องเริ่มจากการให้ประชาชนมีส่วนร่วม และใช้ความคิดสร้างสรรค์ของพวกเขามาเป็นคำตอบในการพัฒนาเมือง ถึงจะช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ สอดคล้องกับที่ “วิลเลียม เชกสเปียร์” เคยกล่าวไว้ว่า “What is the city but the people ?” ซึ่งหมายถึง เมืองไม่มีทางดีกว่าคนที่มีอยู่ในเมืองนั้นได้

“ศักยภาพที่แท้จริงของกรุงเทพฯคือ คน ไม่มีทางที่เมืองจะประสบความสำเร็จได้โดยไม่มีคนเก่งอยู่ในเมือง ถ้าคนเก่งออกจากเมืองไปหมด เราจะตายแน่นอน ดังนั้น ต้องสร้างแรงบรรดาลใจให้คน ผมเชื่อว่าคนมีพลังมหาศาลที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กรุงเทพฯ แต่มีอุปสรรคที่ทำให้ไม่สามารถเจียรนัยคนได้ เช่น เรื่องการกระจายอำนาจ

ซึ่งที่ผ่านมารัฐยังหวงอำนาจ ไม่ให้ประชาชนมีอำนาจในการตัดสินใจ ประชาชนยังขาดการมีส่วนร่วม และรัฐยังไม่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ของพวกเขามาเป็นคำตอบพัฒนากรุงเทพฯเพียงพอ ซึ่งคนกับรัฐยังต่างฝ่ายต่างไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน

หลายครั้งเราพูดถึงอนาคตของประเทศ แต่มักลืมมองว่าปัจุบันอยู่ที่ไหน ซึ่งการจะเดินหน้าพัฒนาสิ่งใดต้องดูปัจจุบันก่อน การจะวางแผนพัฒนาเมืองก็ต้องรู้ว่าเราจุดไหน และต้องยอมรับความจริงว่า เราดีหรือชั่วอย่างไร ถึงจะแก้ไขปัญหาได้”

นายชัชชาติกล่าวด้วยว่า ประเทศไทยติดอันดับน่าท่องเที่ยวอันดับ 1 แต่กลับเป็นประเทศที่น่าอยู่อันดับ 98 ของโลก เพราะคนมาเที่ยวแล้วสนุก แต่การอยู่ใช้ชีวิตจริงคนต้องเหนื่อยกับปัญหารถติดและมลพิษ ซึ่งผมอยากให้เราตั้งเป้าพัฒนาประเทศให้เป็นเมืองที่น่าอยู่อันดับที่ 50 ให้ได้

“การจะทำได้ผมมองว่า ทั้งหมดมันเกี่ยวกับ ESG โดยกรุงเทพฯ เรามีนโยบาย 9 ด้านที่สอดคล้องกับเรื่องนี้ คือ สิ่งแวดล้อมดี สุขภาพดี เดินทางดี ปลอดภัยดี บริหารจัดการดี โครงสร้างดี เศรษฐกิจดี สร้างสรรคดี และเรียนดี

จุดแข็งของกรุงเทพฯคือ เราเป็นเมืองหัวโต เพราะ GDP ส่วนใหญ่มาจากกรุงเทพฯ 40% ความเจริญทั้งหลายก็อยู่ที่กรุงเทพฯ ส่วนค่าครองชีพปานกลาง ยังถูกกว่าฮ่องกง และสิงคโปร์ ทำให้เราสามารถแข่งขันกับเมืองอื่นได้ นอกจากนั้น ไทยเริ่มมีโครงสร้างพื้นฐานที่ครบมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามเส้นเลือดฝอยของกรุงเทพฯยังอ่อนแอ

ขอดีของไทยนอกจากนั้นคือ ประเทศไทยมีประวัตศาตร์ที่ลึก ซึ่งหลาย ๆ เมืองในภูมิภาคยังสู้ไม่ได้ และเรามีความเป็นพหุวัฒนธรรม มีความกลมกลืนกันของหลายศาสนา ทั้งยังยินดีต้อนรับคนทั้งโลก ซึ่งก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนชอบมาเที่ยวเมืองไทย

แต่จุดอ่อนของไทยคือ หนึ่ง เรื่องคอร์รัปชั่น คือตัวที่กัดกร่อนประเทศไทย หากเรายังไม่ยอมรับเรื่องนี้กันอย่างจริงจังก็จะทำให้ไม่สามารถเอาศักยภาพของคนออกมาได้อย่างเต็มที่ ยกตัวอย่างเรื่องของการซื้อขายตำแหน่ง คนเก่งไม่มีโอกาสขึ้นมา เพราะมีคนที่คอยซื้อตำแหน่งอยู่ และคนที่ซื้อตำแหน่งก็อาจต้องไปหาเงินจากวิธีคอร์รัปชั่นมาจ่าย สุดท้ายก็กลายเป็นวงจรอุบาทว์ ถ้าเราไม่แก้ ก็วางแผนอนาคตให้ประเทศไม่ได้

สอง ความสะดวกในการทำธุรกิจ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลก็ปรับปรุงขึ้น แต่ก็อยู่ในยังลำดับที่ 21 เมื่อเทียบกับระดับโลก เพราะกฎหมายต่าง ๆ ยังมีความล้าสมัย ทำให้ไม่สามารถดึงศักยภาพได้เต็มที่

สาม ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ ไทยอยู่ในลำดับต่ำ 100 จาก 112 ประเทศ นี่คือปัญหาที่เกี่ยวกับการศึกษา

นอกจากนั้น ทักษะการทำงานเพื่ออนาคตของคนไทยยังไม่สูง ทักษะ creative thinking (การคิดสร้างสรรค์) และ critical thinking (การคิดเชิงวิพากษ์) ยังต่ำมาก เพราะคนไทยถูกสอนให้ท่องจำ แต่ให้คิดวิเคราะทำได้ไม่ดี

สี่ เรื่องอากาศ PM 2.5 กรุงเทพฯมีวันที่มีอากาศดีแค่ 25% อัตราการปล่อยกาศเรือนกระจกในกรุงเทพฯคือ 53 ล้านตัน ผลกระทบจากก๊าซเรือนกระจกก็รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ โดยน้ำท่วมก็คือปัญหาหนึ่งที่มาจากผลของก๊าซเรือนกระจก ที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งปริมาณน้ำฝนในปี 2565 จากต้นปีถึง 20 กันยายน อยู่ที่ 1,647 มิลเมตร ส่วนปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งปีย้อนหลังคือ 1,689 มิลเมตร เท่ากับว่าวันนี้น้ำฝนใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยทั้งปี

และคาดว่าอีกวันสองวันจะเกินตัวเลขนี้ ที่น่าเป็นห่วงคือ กรุงเทพฯติดอันดับ 9 ของโลกที่มีความเสี่ยงจาก climate change (การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ) ถ้าไม่ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหานี้ก็จะเป็นปัญหาระยะยาว และห้า สัดส่วนพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพฯก็ค่อนข้างต่ำ เมืองที่ดีต้องมีอย่างน้อย 9 ตารางเมตรต่อคน แต่พื้นที่สีเขียวของเราที่ใช้วัดได้จริงมีแค่ 0.92 ตารางเมตรต่อคนเท่านั้น”

นายชัชชาติกล่าวเน้นย้ำว่า “ไม่มีทางที่เมืองจะสำเร็จได้โดยไม่มีคนเก่งอยู่ในเมือง ให้คนเป็นศูนย์กลาง เพราะศักยภาพของเมืองขึ้นอยู่กับคน”