สุขภาพคน-โลกรอไม่ได้ แอสตร้าเซนเนก้า ลุยยุทธศาสตร์​ ESG

เจมส์ ทีก
เจมส์ ทีก

แอสตร้าเซนเนก้า เดินหน้ายุทธศาสตร์ ESG ลุยลดคาร์บอนทุกขั้นตอน พร้อมจับมือพันธมิตรหนุนผู้คนเข้าถึงยารักษาโรค

วันที่ 21 กันยายน 2565 นายเจมส์ ทีก ประธาน บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวในงานสัมมนา “ESG Forum จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจไทย” ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจว่า แม้ที่ผ่านมาการระบาดของโรคโควิด-19 จะกระทบต่อสุขภาพของผู้คนทั่วโลกอย่างหนัก แต่ต้องไม่ลืมว่าผลกระทบจากวิกฤตภูมิอากาศนั้นส่งผลกระทบหนักหน่วงยิ่งกว่า

ทำให้การดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน ยุทธศาสตร์ที่มุ่งสร้างเพียงการเติบโตของรายได้และผลกำไรนั้นไม่เพียงพออีกต่อไป แต่ต้องมีผลเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนด้วย

ด้วยเหตุนี้ บริษัทจึงมุ่งเน้นแนวทางดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และผู้คนในองค์กร โดยอาศัยแนวคิด ESG คือ สิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล​ (Governance)

“สุขภาพของผู้คนและสุขภาพของโลกเกี่ยวพันธ์กันอย่างใกล้ชิด และวิกฤตสิ่งแวดล้อมจะส่งผลกับผู้คนไปอีกหลายรุ่น ดังนั้น เราจึงต้องลงมือในทันที”

ด้านสิ่งแวดล้อมนั้น จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในทุกขั้นตอนการทำธุรกิจ พร้อมวางเป้าหมายที่จะต้องไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เลยภายในปี 2025 และจะต้องลดการปล่อยก๊าซให้ลงไปอยูในระดับติดลบภายในปี 2030 ทั้งด้วยการใช้พลังงานหมุนเวียน และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ตัวอย่างเช่น ยาพ่นคอ (inhalers) นั้นมีก๊าซเรือนกระจกปนอยู่ จึงต้องหาทางปรับสูตรใหม่ เป็นต้น

ส่วนด้านสังคมจะเน้นทั้งสังคมภายในและภายนอกบริษัท โดยสร้างสถานที่ทำงานที่เป็นมิตรและส่งเสริมศักยภาพของพนักงาน เช่น ความเท่าเทียมในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเพศหรือแนวคิด ขณะเดียวกัน จะรับฟังความคิดเห็นของผู้ป่วยทั่วโลกเพื่อนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์และดำเนินการต่าง ๆ เช่นผนึกกำลังกับหน่วยงานต่าง ๆ ในแต่ละประเทศ เพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนจะสามารถเข้าถึงยาและการรักษาได้

ตัวอย่าง เช่น ในประเทศไทยมีแผนนำเทคโนโลยีใหม่ที่เพิ่มศักยภาพการตรวจวินิจฉัยมะเร็งปอด ซึ่งพบมากเป็นอันดับ 3 ในไทย อาศัยปัญญาประดิษฐ์มาตรวจผลเอกซเรย์ และแจ้งเตือนผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง เพื่อให้ตรวจรักษาเพิ่มเติม โดยจะเริ่มนำมาใช้ในวงกว้างในปี 2566 และมีแผนสร้างการรับรู้เรื่องสุขภาพในกลุ่มวัยรุ่นด้วยการสื่อสารผ่านโซเชียลอีกด้วย

สำหรับด้านธรรมาภิบาล จะให้ความสำคัญกับคุณภาพผลิตภัณฑ์และรักษาจริยธรรมในการบริหารองค์กรในระดับสูงสุด เพื่อให้สามารถตอบรับความคาดหวังของทั้งผู้ป่วย นักลงทุน และสังคมได้ โดยมาตรฐานนี้รวมถึงการมีทีมงานที่หลากหลาย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม อาศัยนโยบายที่สร้างโอกาสอย่างเท่าเทียม ทั้งในและนอกที่ทำงาน ภายใต้แนวคิด ทำสิ่งที่ถูกต้อง (Do the right thing) และการเป็นสถานที่ที่เหมาะแก่การทำงาน (Great place to work)

ประธาน บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) ย้ำว่ายุทธศาสตร์ ESG ไม่ใช่สิ่งที่สร้างภาระให้กับธุรกิจ ในทางตรงกันข้ามการดำเนินงานตามแนวทางนี้ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง เช่น การปรับรูปแบบการประชุมที่มุ่งให้พนักงานเดินทางน้อยที่สุด หรือประชุมออนไลน์แทน จะลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางและที่พักลงไปพร้อม ๆ กับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งในระยะยาวจะช่วยให้สร้างกำไรมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยท้าทายในการสร้างความเข้าใจให้กับบุคลากรในองค์กรเพื่อให้เกิดการปฏิบัติจริง เช่น การลดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง การหันไปใช้รถประจำทาง ซึ่งต้องเริ่มจากระดับผู้บริหารก่อน แล้วจึงถ่ายทอดลงมายังพนักงานเป็นรายคน สร้างความเข้าใจว่า แต่ละคนสามารถเข้าร่วมแนวทางนี้ได้อย่างไร เพื่อให้ ESG เป็นส่วนหนึ่งในการทำงาน

“ตอนนี้ผมเองก็ต้องปรับแผนการเดินทางกลับไปเยี่ยมบ้านที่ประเทศอังกฤษด้วยเช่นกัน เพราะการเดินทางด้วยเครื่องบินนั้นปล่อยคาร์บอนปริมาณมหาศาล และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม”

ทั้งนี้ เชื่อว่า ESG มีความสำคัญ เพราะผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนั้น สูงกว่าผลกระทบต่อกำไรทางธุรกิจ