กสิกรไทย ทุ่ม 2 แสนล้าน หนุนธุรกิจปรับตัวสู่ ESG

“ขัตติยา” ซีอีโอ กสิกรไทย ย้ำ “ESG” ไม่ใช่ CSR แต่เป็นธุรกิจที่จะมาดิสรัปชั่น แนะผู้ประกอบการ 8 ด้านคว้าโอกาสให้ทันก่อนล้าหลัง ลั่นพร้อมขับเคลื่อนธนาคารสู่ Net Zero ภายในปี 73 ทุ่มงบฯหนุนลูกค้าเปลี่ยนแปลงสู่ ESG วงเงิน 2 แสนล้านบาท

วันที่ 21 กันยายน 2565 นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวในงานสัมมนา “ESG Forum” ภายใต้หัวข้อ “จุดเปลี่ยน…ศักยภาพใหม่เศรษฐกิจไทย” ว่า

โจทย์ภายใต้เศรษฐกิจไทยที่กำลังเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างประชากร พฤติกรรมลูกค้า และผู้กำกับเราในฐานะบริษัทและธนาคารจะคว้าโอกาสได้อย่างไร โดยเฉพาะเรื่องของ ESG ที่จะมาเป็นจุดเปลี่ยนของศักยภาพใหม่ของเศรษฐกิจไทย เพราะถ้าเราไม่ทำจะสูญเสียความเชื่อมั่นทั้งลูกค้าและผู้ลงทุน รวมถึงโอกาสในการเติบโต เนื่องจากเรื่อง ESG ไม่ใช่เรื่องของ CSR หรือการกุศล แต่เป็นเรื่องของธุรกิจล้วน ๆ เพราะผู้ลงทุนให้ความสนใจมากขึ้น

อย่างไรก็ดี การดำเนินการผลักดัน “ESG” ให้สำเร็จได้จะต้องมี 8 ด้านด้วยกัน คือ 1.Mindset หรือ แนวคิด ซึ่งเป็น Game Changer ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง 2.ต้นทุนที่ถูก โดยลูกค้าที่ชอบสินค้าจะต้องได้ในราคาที่ถูกด้วย 3.การระดมเงินทุน หากสามารถระดมทุนจากคนที่มีแนวคิดเดียวกันจะทำให้การระดมทุนง่ายขึ้น

และ 4.การทำจะต้องมีขนาดใหญ่ scale โดยไม่เขียนทีละชิ้น 5.ทำงานร่วมกับ Ecosystem ที่จะเดินหน้าร่วมกันทั้งหมด 6.Operation ทั้งในเรื่องของ Product และ Process จะต้องยั่งยืน 7.บุคลากรที่เกี่ยวข้องในด้านนี้จะมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น และ 8.Low-cost financial การวางแผนระดมเงินทุนจะต้องต่ำที่สุด โดยธนาคารจะมีบทบาทเข้าไปสนับสนุนในเรื่องเหล่านี้

ดังนั้น ภายใต้การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ธนาคารกสิกรไทยทำโครงการ “GO GREEN Together” สนับสนุนให้เกิด Green Ecosystem สู่การเป็น Net Zero ภายในปี 2573 โดยได้เตรียมวงเงินไว้ที่ 2 แสนล้านบาท เพื่อสนับสนุนลูกค้าไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางด้าน ESG หรือเศรษฐกิจสีเขียว Green โดยสอดคล้องกับบริบทของประเทศไทย

โดยธนาคารเริ่มจากพอร์ตที่มีอยู่ 2 ล้านล้านบาท แม้ว่าธนาคารจะทำให้ทั้งหมดเป็น Net Zero ทั้งหมดไม่ได้ในคราวเดียว แต่ธนาคารจะพิจารณาในอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนมากที่สุด

โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการพูดคุยกับลูกค้า เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน ธนาคารจะทยอยลดการปล่อยสินเชื่อเพื่อให้ลูกค้าเปลี่ยนแปลงเป็น Net Zero โดยคาดว่าภายในปี 2573 ลูกค้ากลุ่มนี้จะสามารถเป็น Net Zero ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้

“ESG ไม่ใช่ CSR หรือการกุศล แต่เป็นธุรกิจประเภทหนึ่งที่จะมา Disruption ซึ่งหากใครไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ทัน หรือคว้าโอกาสไว้ ก็จะเหนื่อย และล้าหลัง เพราะการทำ ESG ทำไม่ง่าย และทำแล้วต้อง Balance ให้ดี

เนื่องจากมีความซับซ้อน เราไม่รู้ว่าอันไหน Green จริง ไม่จริง และหากทำเร็วมากไปด้วยต้นทุนที่สูง ลูกค้าก็จะไม่ไหว หรือปล่อยสินเชื่อโดยไม่ได้ดูก็อาจกลายเป็นความเสี่ยงที่จะเกิดเป็นหนี้เสียได้”