GC ชี้ ESG จุดเปลี่ยนธุรกิจ มุ่งเป้าผลิตภัณฑ์ Bio-based แทนพลาสติก

คงกระพัน อินทรแจ้ง
คงกระพัน อินทรแจ้ง

“พีทีที โกลบอล เคมิคอล” หรือ GC ชี้ ESG คือจุดเปลี่ยนธุรกิจสร้างสมดุล บรรษัทภิบาล สังคม สิ่งแวดล้อมให้ได้ พร้อมเดินสู่ BCG เพิ่มมูลค่า GDP อีก 1 ล้านล้านบาทในปี 2570 เพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคมุ่งผลิต ผลิตภัณฑ์ Bio-based หรือพลาสติกที่ย่อยสลายได้ เดินคู่การ Recycle ลดขยะ

วันที่ 21 กันยายน 2565 นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC กล่าวในงานสัมมนา ESG forum จุดเปลี่ยน..เศรษฐกิจไทย จัดโดย หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ว่า ESG หรือสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance) คือจุดเปลี่ยนธุรกิจ

โดย GC ต้องเข้าใจบริบทของตนเองดำเนินธุรกิจภายใต้ความสมดุล ระหว่าง บรรษัทภิบาล เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม หรือการให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ กำกับดูแลกิจการที่ดีและบริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ สร้างเสถียรภาพทางธุรกิจ ดำเนินงานอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบันรัฐบาลนำเรื่องของ ESG มาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ มีนโยบายเรื่อง Bio-Circular-Green (BCG) คือโมเดลเศรษฐกิจแนวใหม่ของประเทศขึ้นมา ซึ่งจะทำให้จากที่ไทยเป็นเกษตรแบบดั้งเดิม มาเพิ่มมูลค่าให้เกิดประโยชน์ เช่น Bio การใช้ทรัพยากรชีวภาพแทนทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป Circular ใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยการหมุนเวียน ทรัพยากรหรือการนำมาใช้ซ้ำ ส่วน Green ใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ประเทศไทยมีเป้าหมายในปี 2570 มูลค่าเพิ่มจาก BCG อีก 1 ล้านล้านบาท เมือบเทียบกับปี 2561 จาก 3.4 ล้านล้านบาท (21% ของ GDP) เพิ่มเป็น 4.4 ล้านล้านบาท (24% ของ GDP) สัดส่วนผลิตภัณฑ์และบริการมูลค่า สูงเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 20% รายได้ของเศรษฐกิจฐานรากเพิ่มขึ้น 50%

“ESG ไม่ใช่ต้นทุน แต่มันคือการลงทุนที่มีรีเทิร์น ยิ่งเราลดการใช้พลังงานมันยิ่งลดต้นทุน และเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน”

ขณะเดียวกันยังลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม สร้างความยั่งยืนของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยการลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติลง 1 ใน 4 จากปัจจุบัน ลดการปล่อย GHG 20-25% ในปี 2573 (เมื่อเทียบกับปี 2548) เพิ่มพื้นที่ป่ามากกว่า 3.2 ล้านไร่ และที่สำคัญประเทศไทยจะพึ่งพาตนเองมากขึ้น เช่น การนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ และสุขภาพลดลงไม่น้อย 20% (หรือลดลง 2.2 หมื่นล้านบาท)

ดังนั้นแล้ว โอกาสสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจ ภายใต้โมเดล BCG จะทำให้เกิด เกษตรกรอัจฉริยะ (Smart Farming) การแปรรูปสินค้าเกษตรขั้นสูง นำวัสดุเหลือทิ้งไปสร้างมูลค่าเพิ่ม

ขณะที่ความท้าทาย มีทั้งความเสี่ยงและโอกาส ปัจจุบันเรายังต้องเผชิญกับทั้งสงครามการค้า โลกร้อน อย่างด้านบุคลากรเราสูญเสียคนดีแต่ก็ได้คนเก่งเข้ามาใหม่ และพบว่ากว่า 80% ของคนรุ่นใหม่เลือกที่ทำงานกับ GC เพราะรู้จัก GC จากการทำ Sustainability ด้านสิ่งแวดล้อม

“ปัจจุบันความรับผิดชอบขององค์กร ต่อสังคม สิ่งแวดล้อม คือบทบาทตั้งแต่คณะกรรมการบริษัทจนถึงผู้บริหารระดับสูง ยิ่งองค์กรใหญ่เรายิ่งต้องทำ เราทำธุรกิจมา 30 ปี เป็นผู้นำธุรกิจเคมีภัณฑ์มีโรงงานเคมี 40 แห่งในไทย และ 42 แห่งทั่วโลก ทำไบโอพลาสติกใหญ่ที่สุดในโลก ได้รับการยอมรับและถูกจัดลำดับ จาก Dow Jones Sustainability Indexes อันดับ 1 เป็นเวลา 3 ปีซ้อน เป็นการสะท้อนว่า GC ทำธุรกิจสอดคล้องกับ ESG”

สำหรับกลยุทธ์ของ GC นั้น ให้ความสำคัญ 3 เรื่อง คือ Step Change เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ Step Out แสวงหาโอกาสการเติบโตในธุรกิจใหม่หรือในต่างประเทศ Step Up เป็นผู้นำด้านความยั่งยืน โดยการเติบโตของธุรกิจควบคู่ไปกับการลดก๊าซเรือนกระจก หรือ NET ZERO ในปี 2050 (2593) โดยระหว่างทาง GC จะต้องปรับปรุงประสิทธิภาพเช่นการใช้พลังงานหมุนเวียน ลดการปล่อยของเสียลงให้ได้สัดส่วน 20% อีก 25% คือการทำผลิตภัณฑ์คาร์บอนต่ำ ที่เหลือ 55% คือการปลูกป่ารวมถึงการแสวงหาวิธีการกักเก็บคาร์บอนไว้ใต้ดินหรือใต้ทะเล

ดังนั้น GC ต้องเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภค ผลิตภัณฑ์ของ GC นับจากนี้คือ Bio-based หรือพลาสติกที่ย่อยสลายได้เอง ซึ่งผู้บริโภคต้องจ่ายแพงขึ้นแต่มันเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันผลิตภัณฑ์เดิมจะต้อง Recycle ได้เพิ่อลดขยะ อย่างไรก็ตามทั้งมดนี้ GC ไม่สามารถทำคนเดียวได้ แต่อาศัยความร่วมมือกับหลาย ๆ หน่วยงาน การที่จะสำเร็จเพียงคนเดียวคงไม่มีประโยชน์