ประยุทธ์ ประกาศมุ่งสู่เป้าหมายกรุงเทพฯ ด้วยเศรษฐกิจ BCG

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

พลเอกประยุทธ์ ปาฐกถาเวที GCNT Forum 2022 มุ่งบรรลุ “เป้าหมายกรุงเทพฯ” ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG แก้ปัญหาภาวะโลกร้อน ขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม

วันที่ 2 พฤศจิกายน 2565 ที่ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ (UNCC) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานกล่าวปาถกฐาในงานประชุมผู้นำความยั่งยืนประจำปี GCNT Forum 2022 ภายใต้แนวคิด Accelerating Business Solutions to Tackle Climate & Biodiversity Challenges รวมพลังสมาชิก ภาคธุรกิจ เร่งเพิ่มมาตรการรับมือกับวิกฤตจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ ที่จัดขึ้นโดยสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT : Global Compact Network Thailand) ร่วมกับสหประชาชาติในประเทศไทย

โดยพลเอกประยุทธ์กล่าวว่า การเข้าร่วมการประชุม GCNT ในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสสำคัญและเป็นช่วงของการเตรียมตัวก่อนที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC 2022) โดยไทยได้ผลักดันการฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเปคในยุคหลังวิกฤตโควิด-19 เพื่อให้ทุกประเทศเติบโตได้อย่างยั่งยืน สมดุล และครอบคลุมมากขึ้น ภายใต้หัวข้อหลัก “Open Connect Balance”

โดยหนึ่งในวาระสำคัญที่มุ่งผลักดัน คือ การสร้างสมดุลทางสิ่งแวดล้อม และการขับเคลื่อนการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รัฐบาลไทยยืนยันถึงเจตนารมณ์ ความมุ่งมั่น และการลงมือทำของไทยในฐานะเจ้าภาพการประชุมเอเปค เพื่อลดสภาวะโลกร้อนและความเสียหายต่อธรรมชาติ โดยภาคเอกชนและสหประชาชาติเป็นภาคีสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนของไทย

“ในช่วงที่ผ่านมาผมได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมผู้ประสบภัยน้ำ​ท่วม ล่าสุดได้ไปจังหวัดสิงห์บุรี ที่ได้รับความเดือดร้อนและรัฐบาลจะพยายามให้การช่วยเหลืออย่างเต็มที่

และกลับมาทบทวนว่า​ นอกเหนือจากการรับมือภัยพิบัติ การลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติเหล่านี้ในอนาคตได้อย่างไร”

พลเอกประยุทธ์กล่าวต่อว่า จากสถิติและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ รวมถึงประสบการณ์ของไทย จะเห็นว่าเริ่มมีสัญญาณเตือนว่าภัยธรรมชาติเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และมีความรุนแรงขึ้น ทุกคนจึงต้องเตรียมพร้อมรับมือและปรับตัว

ขณะเดียวกัน เรายังต้องเผชิญกับสถานการณ์โลกที่มีความท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์โควิด-19 โรคอุบัติใหม่ ที่พร้อมจะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ​ สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ ความไม่มั่นคงด้านอาหารและพลังงาน สภาวะเศรษฐกิจถดถอย รวมทั้งการสูญเสียความหลากหลายทางธรรมชาติ ทำให้ทุกประเทศต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ประเทศและประชาชนของตนเอง

ในส่วนของประเทศไทยก็ต้องกำหนดจุดยืน นโยบาย อย่างรอบครอบ โดยต้องคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชน ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

ทั้งนี้ พลเอกประยุทธ์กล่าวย้ำว่า ไทยตระหนักดีว่าการลดภาวะโลกร้อนไม่ใช่เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตธรรมชาติเท่านั้น แต่เพื่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนด้วย การที่ไทยเป็นเจ้าภาพเอเปคได้เสนอหลักการ

“การพัฒนาเศรษฐกิจแบบ BCG” ที่คำนึงถึงการพัฒนาเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่กับการเยียวยารักษาธรรมชาติอย่างมีสมดุล เป็นหัวใจของเอกสารผลลัพธ์ของเอเปคที่เรียกว่า “เป้าหมายกรุงเทพฯว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว”

“ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนจะต้องปรับเปลี่ยนทั้งแนวคิดและวิถีชีวิต ปรับเปลี่ยนรูปแบบเศรษฐกิจและโมเดลธุรกิจให้นำไปสู่การสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน การเปลี่ยนพฤติกรรมและกระบวนการความคิดทุกคนมีหน้าที่ที่จะต้องพยายามโน้มน้าวสนับสนุนคนรอบตัวให้เปลี่ยนไปด้วย จึงจะเกิดการขับเคลื่อนอย่างแท้จริง ประเทศไทยเป็นจุดเริ่มต้นของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ประชาชนมีแสงสว่างในการดำรงชีวิตในทุกมิติ ถือเป็นรากฐานของธุรกิจ BCG​ และความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ประชาชน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อมั่นว่าเป้าหมายกรุงเทพฯ จะบรรลุผลและนำไปสู่ความร่วมมือในภูมิภาคที่เป็นรูปธรรม​ต่อเนื่องในระยะยาว สอดรับกับความพยายามของไทยในการร่วมมือกับประชาคมโลกแก้ไขปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งผลักดันให้ใช้แนวคิด BCG มาส่งเสริมความร่วมมือในสาขาต่าง ๆ

อาทิ การฟื้นฟูการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน การจัดการป่าไม้ด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่ที่เพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้ให้ประชาชนในท้องถิ่น ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดีของเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อยไทยเราได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างแข็งขันและจริงจัง​

ขณะเดียวกัน การประชุมการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ที่ไทยเป็นเจ้าภาพเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา​ ถือเป็นการสร้างการตระหนักรู้ สร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาอย่างเต็มองค์รวม​ นอกจากนี้ ไทยได้ทำงานเชิงรุกในการกำจัดขยะทางทะเล​ และไทยจะทำตราสารระหว่างประเทศว่าด้วยการจัดการขยะพลาสติก​ ทบทวนเขตการค้าเสรีที่เน้นการส่งเสริมการค้าแบบใหม่ คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมควบคู่กับสาธารณสุข​ไปพร้อมกัน

“การขับเคลื่อนประเด็นทั้งหมดนี้ จะไม่มีทางสำเร็จได้หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชน และทุกภาคส่วน ตอนนี้ทุกคนต่างตระหนักและพยายามหาแนวทาง ปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ เพื่อสิ่งที่เป็นมิตรต่อโลกมากขึ้น

ผมมองว่าสิ่งสำคัญคือการขับเคลื่อนทั้งองคาพยพ ส่งเสริมให้ธุรกิจ SME ทุกขนาด มีขีดความสามารถในการปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้ประเทศไทยมีโครงข่ายรากฐานที่เข้มแข็ง จากความร่วมมือของทุกคน ทุกหน่วยงาน ทุกองค์กร ทุกภาคส่วน ให้ทุกคนจับมือก้าวเดินไปด้วยกันอย่างเข้มแข็งที่สุด”