กระทรวงแรงงาน ปั้น gig worker 3 หมื่นคน เพิ่มทักษะ ช่วยหาเงินทุน

กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน

กรมพัฒนาฝีมือแรงงานจัดอบรมผู้ทำงานพาร์ทไทม์ มุ่งเป้าผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีค่าอาหารพร้อมมอบเครื่องมือประกอบอาชีพ เป้าหมายทั่วประเทศ 31,500 คน

วันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายประทีป ทรงลำยอง อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ใช้แนวทางประชารัฐประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ดำเนินโครงการพัฒนาทักษะเฉพาะทางของแรงงานอิสระยุค 4.0 (Gig Worker) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายสุชาติ ชมกลิ่น ในการพัฒนาทักษะอาชีพให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีผู้ลงทะเบียนกว่า 13 ล้านราย ที่ส่วนใหญ่เป็นแรงงานในกลุ่ม GIG Worker ที่ทำงานในรูปแบบงานชั่วคราว รับจ้างเป็นระยะเวลาสั้น เช่น งานพาร์ทไทม์ งานฟรีแลนซ์ อาชีพอิสระ เป็นต้น

โดยมีเป้าหมายดำเนินการฝึกใน 8 กลุ่มอาชีพจำนวนไม่น้อยกว่า 31,500 คน เพื่อพัฒนาทักษะพื้นฐานให้เป็นแรงงานที่มีฝีมือสอดคล้องกับมาตรฐานอาชีพ สร้างโอกาสในการประกอบอาชีพ และมอบชุดเครื่องมือทำมาหากินให้แก่ผู้ผ่านการฝึกอบรมตามโครงการดังกล่าว โดย 8 กลุ่มอาชีพ ได้แก่

1) กลุ่มอาชีพเทคโนโลยียานยนต์/เครื่องกล

2) กลุ่มอาชีพเกษตรและอาหารแปรรูป

3) กลุ่มอาชีพเทคโนโลยีก่อสร้าง

4) กลุ่มอาชีพเทคโนโลยีดิจิทัล

5) กลุ่มอาชีพเทคโนโลยีไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

6) กลุ่มอาชีพเทคโนโลยีอุตสาหกรรมศิลป์

7) กลุ่มท่องเที่ยวและบริการ

8) กลุ่มอาชีพเทคโนโลยีงานเชื่อม

นายประทีปกล่าวด้วยว่า มีการฝึกอาชีพถึง 38 หลักสูตร เช่น หลักสูตรการการบำรุงเครื่องจักรกลทางการเกษตร หลักสูตรการบำรุงรถจักรยานยนต์ หลักสูตรการทำประตู-หน้าต่างอะลูมิเนียม หลักสูตรเทคนิคการล้างและเคลือบสีรถยนต์ หลักสูตรการเชื่อมอาร์กโลหะด้วยมือ หลักสูตรการตัดเย็บเสื้อผ้า หลักสูตรช่างแต่งผม หลักสูตรผู้ประกอบอาหารไทย หลักสูตรบาริสต้ามืออาชีพ เป็นต้น

ทุกหลักสูตรจะใช้ระยะเวลาการฝึกอบรม 30 ชั่วโมง หรือ 5 วัน ปัจจุบันสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่แต่ละจังหวัด เช่น สำนักงานพัฒนาชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่ม OTOP กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ดำเนินการประชาสัมพันธ์และสำรวจข้อมูลความต้องการฝึกอาชีพให้แก่กลุ่มเป้าหมาย

“สำหรับการฝึกอบรมในครั้งนี้ ผู้ผ่านการฝึกอบรมนอกจากมีทักษะอาชีพติดตัวแล้ว ระหว่างการฝึกอบรมมีค่าอาหารให้วันละ 120 บาทอีกด้วย พร้อมกับประสานสำนักงานจัดหางานจังหวัด ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารออมสิน เพื่อให้คำแนะนำในการประกอบอาชีพและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนต่อยอดในการลงทุนต่าง ๆ และมอบชุดเครื่องมือทำหากินเพื่อการประกอบอาชีพสร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว เป็นต้น”

ผู้สนใจที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สามารถเข้าไปดูรายละอียดและสมัครได้ที่ www.dsd.go.th หรือติดต่อสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานและสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน หรือโทรสอบถามสายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 กด 4

กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน