
IMF คาดจีดีพีไทยเป็นบวก อัตราว่างงานต่ำสุดในโลก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเผย เป็นผลพวงนโยบายของรัฐบาลช่วงโควิด เชื่อมั่นเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัว การจ้างงานเติบโตอย่างรวดเร็ว
วันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีที่ IMF (International Monetary Fund) หรือกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ได้ออกรายงานคาดการณ์ GDP ปี 2023 (พ.ศ. 2566) ของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ผลปรากฏว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะเติบโต โดยมี GDP เป็นบวก จาก 2.8 เป็น 3.7
- โรงเรียนเอกชนวิกฤต ส่อปิดกิจการอีกหลายแห่ง กรุงเทพฯ หนักสุด
- อย.สั่งอายัดอาหารนำเข้าจากจีน 124 รายการ 7 ร้านจำหน่ายใน กทม.
- เปิดที่มาประเพณีเข็นรถพระที่นั่งวชิราวุธวิทยาลัย จากรัชกาลที่ 6 ถึงปัจจุบัน
ในเอเชียมีเพียงไทยและจีน (3.2 เพิ่มเป็น 4.4) เท่านั้น ที่ IMF คาดการณ์ว่า GDP จะเป็นบวก ทั้งนี้ ไม่นับฮ่องกงและมาเก๊า (ข้อมูลอ้างอิงจาก IMF ที่ได้วิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจโลก ฉบับเดือนตุลาคม 2565) ซึ่งเป็นผลมาจากการเปิดประเทศ ทำให้นักท่องเที่ยวไหลกลับเข้ามา รวมถึงการลงทุนขนาดใหญ่ที่รัฐบาลได้ไปเจรจาไว้ โดยเฉพาะ EEC และเสถียรภาพทางการคลังของประเทศด้วย
นายสุชาติกล่าวว่า จากรายงานของ IMF ยังระบุว่าไทยเป็นประเทศที่มีอัตราการว่างงาน “ต่ำที่สุดในโลก” แม้ในปีที่แล้วช่วงพีกของโควิด-19 ไทยมีคนว่างงานเพียงร้อยละ 1.5% ซึ่งเป็นรองเพียงคูเวตที่ 1.3% ที่มีประชากรแค่ 4 ล้านคน และรวยกว่าไทยมาก แต่ประเทศอื่น ๆ ไม่มีใครแตะเลข 1 ได้เลย ส่วนปี 2565 ลดลงมาเหลือ 1.0% จัดเป็นอันดับ 1 ของโลก และคาดว่าปี 2566 จะยังคงต่ำที่สุดของโลกได้อีก ที่ 1.0%
จากรายงานดังกล่าวถือเป็นผลพวงจากการขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลภายใต้การนำของท่าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่รักษาการจ้างงานและดูแลภาคแรงงานให้เข้มแข็งในช่วงสถานการณ์โควิด-19 อาทิ โครงการส่งเสริมและยกระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs เพื่อลดปัญหาการว่างงาน,
โครงการแฟกตอรี่ แซนด์บอกซ์ บนฐานแนวคิดเศรษฐศาสตร์และสาธารณสุข ตรวจ ควบคุม รักษา ดูแล, การเปิดจุดตรวจโควิด-19 แบบประจำจุดและตรวจเชิงรุกในโรงงาน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกจ้างให้ภาคเอกชนยังคงดำเนินธุรกิจต่อไปได้, สนับสนุนวัคซีนให้แก่ผู้ใช้แรงงาน, จัดหาโรงพยาบาล hospitel ในเครือข่ายประกันสังคม เป็นต้น
“ผลสัมฤทธิ์จากโครงการดังกล่าวทำให้โรงงานไม่มีการปิดตัวลง ภาคการผลิตส่งออกสูงสุดในรอบ 30 ปี ที่สำคัญทำให้ดึงดูดนักลงทุนชาวต่างชาติ อาทิ บริษัทญี่ปุ่นแห่งหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่ได้เข้าไปลงทุนทำธุรกิจใน 22 ประเทศ แต่มีเพียงสาขาในประเทศไทยเท่านั้นที่อยู่รอดในช่วงโควิด-19 ระบาด จึงตัดสินใจลงทุนในไทยเพิ่มอีก 3,600 ล้านบาท ซึ่งนักลงทุนเหล่านี้เชื่อมั่นในนโยบายของรัฐบาลไทยที่ดูแลผู้ประกอบการไทยและต่างชาติอย่างเท่าเทียม ทำให้บริษัทสนใจเข้ามาเปิดตลาดใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา” นายสุชาติกล่าว