PMAT เผยอัตราเงินเดือน-โบนัส และ 5 อาชีพที่มีค่าวิชาชีพสูงสุด ปี’66

ภาพจาก : Razvan Chisu-unsplash
ภาพจาก : Razvan Chisu/unsplash

PMAT เผยอัตราเงินเดือน-โบนัส ปี2566 และ 5 อาชีพที่มีค่าวิชาชีพสูงสุด ได้แก่ ล่าม วิศวกร  เภสัชกร สถาปนิก  ทนายความ ฟันธงค่าตอบแทนปี 2566 เงินเดือนขึ้น 4.27% โบนัสคงที่ 1.44 เดือน ส่วนธุรกิจที่มีแนวโน้มจ่ายโบนัสสูงสุดได้แก่ ธุรกิจอุปโภคบริโภค ยานยนต์ ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์

วันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย หรือ PMAT เคาะตัวเลขการปรับอัตราค่าตอบแทนรวม ประจำปี 2565/2566 ตลอดจนวิเคราะห์แนวโน้มสำคัญ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในปีถัดไป เพื่อให้เอชอาร์ได้เตรียมความพร้อมในการประเมินกลยุทธ์การบริหารค่าตอบแทนรวม เพื่อดึงดูดคนเก่งและรักษาคนดีมีฝีมือไว้กับองค์กร

เงินเดือนดึงดูดคนเก่ง รักษาคนดี

นางสุดคะนึง ขัมภรัตน์ นายกสมาคม PMAT กล่าวว่า กลยุทธ์การบริหารจัดการคนในสถานการณ์ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ดังนั้น การดึงดูดและรักษาคนเอาไว้ได้ จำเป็นจะต้องมีฐานข้อมูลที่เชื่อถือได้ PMAT จึงทำการสำรวจผลตอบแทนในภาพรวม ลงลึกไม่ใช่เฉพาะแค่เงินเดือน แต่รวมถึงผลตอบแทนและประโยชน์ตอบแทนอื่น ๆ เพื่อเป็นเครื่องมือหลักสำหรับเอชอาร์ในการนำเสนอต่อผู้บริหาร เพราะท่ามกลางสถานการณ์ไม่แน่นอนในปัจจุบัน เอชอาร์จำเป็นต้องมีข้อมูลที่เชื่อถือได้ สามารถเปรียบเทียบตัวเองกับตลาดได้

“ภาพรวมการจ่ายค่าตอบแทนทั้งระบบ ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ของหลายอุตสาหกรรมในไทย จากการสำรวจ 112 บริษัท พบแนวโน้มการขึ้นเงินเดือนอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยคาดว่าปีหน้าองค์กรในประเทศไทยจะขึ้นเงินเดือนเฉลี่ย 4.27% โบนัสคงที่ 1.44 เดือน และโบนัสผันแปร 2.31 เดือน”

นายวรกิต เตชะพะโลกุล และคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารเงินเดือน PMAT เปิดเผยว่า โครงการสำรวจแนวโน้มการปรับอัตราค่าตอบแทนรวม เป็นโครงการที่สมาคมได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับปี 2565 เป็นปีที่ข้อมูลการจัดเก็บแตกต่างไปจากปี 2564 เพราะจากผลกระทบรอบด้านทั้งจากสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน วิกฤตโควิด และภาวะเศรษฐกิจถดถอย อย่างไรก็ดี การจัดเก็บข้อมูลเชิงลึกในกลุ่มเป้าหมาย 112 องค์กรในทุกขนาดธุรกิจ ยังถือว่ามีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ สามารถอ้างอิงและเชื่อถือได้

“กลุ่มเป้าหมายทั้ง 112 บริษัท แบ่งเป็น อุตสาหกรรม 18.8% พาณิชยกรรมและบริการ 18.8% ยานยนต์ 16.1% เกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร 10.7% เทคโนโลยี 9.8% ส่วนที่เหลืออยู่ในธุรกิจปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ อุปโภคบริโภค อสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ทรัพยากร และการเงิน

การสำรวจปีนี้มีบริษัทหน้าใหม่เข้าร่วม 40% อีก 60% เป็นบริษัทที่เข้าร่วมอย่างต่อเนื่อง และมีจำนวนข้อมูลพนักงานรายคนทั้งหมด 27,709 ข้อมูล แยกตามสายอาชีพ สูงสุด 3 อันดับแรกคือ ฝ่ายการผลิต ฝ่ายโลจิสติกส์ และฝ่ายขายและการตลาด

ขณะที่บริษัทที่มีจำนวนพนักงาน ตั้งแต่ 1-500 คน เข้าร่วมมากที่สุดเป็นอันดับ 1 และบริษัทที่มีรายได้ตั้งแต่ 1,000-10,000 ล้านบาท เข้าร่วมมากที่สุดเป็นอันดับ 1”

แนวโน้มค่าตอบแทนขยับสูงขึ้น

การปรับค่าตอบแทน ปี 2565/2566 มีแนวโน้มจะขยับสูงขึ้น เพราะไทยมีทิศทางการขึ้นค่าตอบแทนคล้ายกับสหรัฐอเมริกา โดยปี 2564/2565 สหรัฐปรับขึ้นค่าตอบแทน 4% และคาดว่าจะสูงกว่า 4% ในปีถัดไป

  • สำหรับการปรับเงินเดือนประจำปีตามผลงาน (merit) ในปี 2566 คาดว่าขึ้นไปแตะที่ 4.27% เทียบกับปีก่อนหน้าคือ ปี 2565 ขึ้นไป 4.02%, ปี 2564 ขึ้นไป 3.93%, ปี 2563 ขึ้นไป 4.58% และปี 2562 ขึ้นไป 5.06%
  • ขณะที่โบนัสคง (fixed bonus) ที่ในปี 2566 คาดการณ์จ่าย 1.44 เดือน ในปี 2565 เทียบกับปีก่อนหน้าคือจ่าย 1.36 เดือน ปี 2564 จ่าย 1.32 เดือน ปี 2563 จ่าย 1.41 เดือน และปี 2562 จ่าย 1.38 เดือน
  • โบนัสผันแปร (variable pay) ในปี 2566 คาดการณ์จ่าย 2.31 เดือน เทียบกับปีก่อนหน้าคือ ปี 2565 จ่าย 2.52 เดือน, ปี 2564 จ่าย 2.45 เดือน, ปี 2563 จ่าย 2.7 เดือน และปี 2562 จ่าย 2.73 เดือน

3 อันดับธุรกิจที่มีแนวโน้มปรับขึ้นเงินเดือนประจำปีตามผลงานสูงสุด ในปี 2566 มีอันดับใกล้เคียงกับปีก่อนหน้า ได้แก่

  • ทรัพยากร 5%
  • พาณิชยกรรมและบริการ 4.58%
  • เกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร 4.54%

ขณะเดียวกัน 3 อันดับธุรกิจที่มีแนวโน้มจ่ายโบนัสคงที่สูงสุด ในปี 2566 ได้แก่

  • อุปโภคบริโภค 2.40 เดือน
  • ยานยนต์ 1.85 เดือน
  • ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 1.45 เดือน

3 อันดับธุรกิจที่มีแนวโน้มจ่ายโบนัสผันแปรสูงสุด ในปี 2566 ได้แก่

  • ยานยนต์ 3.57 เดือน ยังคงเป็นแชมป์โบนัสกระเป๋าหนักอย่างต่อเนื่อง
  • ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 2.83 เดือน
  • เทคโนโลยี 2.47 เดือน

ในส่วนของการปรับเงินเดือนประจำปีตามผลงานทุกอุตสาหกรรม ประจำปี 2566 ค่าเฉลี่ย 4.27% สูงสุด 7.0% ต่ำสุด 1.60%

  • การจ่ายโบนัสคงที่ทุกอุตสาหกรรม ประจำปี 2566 ค่าเฉลี่ย 1.36 เดือน สูงสุด 1.44 เดือน
  • การจ่ายโบนัสผันแปรทุกอุตสาหกรรม ประจำปี 2566 ค่าเฉลี่ย 2.31 เดือน สูงสุด 2.52 เดือน

ขณะที่ 3 อันดับแรกของการจ่ายเงินได้อื่นที่ได้รับความนิยม ได้แก่ โบนัส 96.4% เบี้ยขยัน 56.3% และค่าตำแหน่งที่รั้งมาอันดับ 3

5 อาชีพทำเงิน และตำแหน่งหาคนยาก

นายวรกิตกล่าวว่า การบริหารค่าตอบแทนรวมยังคงยึดแบบแผนหลักอย่างต่อเนื่อง ตลอดหลายปีที่ผ่านมาคือ ให้น้ำหนักกับเงินเดือน 68% แล้วตามด้วยโบนัสคงที่ รายได้อื่น เบี้ยกันดาร และสวัสดิการ ตามลำดับ

สำหรับปี 2565 ที่กำลังจะสิ้นสุดลง ตำแหน่งงานที่มีการจ่ายสูงสุด โดยใช้ตัวเลขที่ P50 ซึ่งเป็นค่ากลางของตลาดแรงงาน (midpoint หรือ market trend)  ได้แก่

  • ผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงิน 305,457 บาท (สายงานบริหาร)
  • หัวหน้าแผนกขายต่างประเทศ 130,750 บาท (สายงานซูเปอร์ไวเซอร์)
  • เลขานุการผู้บริหารระดับสูง 113,050 บาท (สายงานวิชาชีพ)
  • หัวหน้ากะผลิต 47,646 บาท (สายงานผลิต)

สำหรับ 5 อาชีพที่มีค่าวิชาชีพสูงสุด นอกเหนือจากค่าตอบแทน ได้แก่

  • ล่าม 30,000 บาท
  • วิศวกร 20,000 บาท
  • เภสัชกร 14,000 บาท
  • สถาปนิก 12,000 บาท
  • ทนายความ 10,000 บาท

อีกข้อมูลที่น่าสนใจ จากการสอบถามกลุ่มเป้าหมาย ถึงกลุ่มพนักงานที่หาคนทดแทนได้ยาก 9 อันดับแรก ได้แก่ ไอที, การขายและการตลาด, งานผลิต, บัญชีและการเงิน, พัฒนาธุรกิจ, กฎหมาย, กลยุทธ์องค์กร, HR และโลจิสติกส์

4 แนวโน้ม นายจ้างบริหารค่าตอบแทน

PMAT วิเคราะห์ 4 แนวโน้มที่สำคัญของการบริหารค่าตอบแทน ปี 2566 ในประเทศไทย ได้แก่

1. มีการปรับเปลี่ยนจากการจ่ายค่าตอบแทนคงที่ ไปเน้นการจ่ายค่าตอบแทนจากแรงจูงใจ (performance-driven incentives)

2. การจ่ายค่าทักษะในงาน (skills-based pay) ทั้งการเพิ่มทักษะเดิมให้ดีขึ้น (up-skill) และการสร้างทักษะใหม่ (re-skill)

3. หันมาเน้นสวัสดิการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี (well-being benefits)

4. เปิดทางให้พนักงานได้เลือกสวัสดิการ ผลประโยชน์เกื้อกูล ที่เหมาะสมกับพนักงานแต่ละคน (flexible/ personalized benefits)

“ในแง่ของการจ่ายเงินเดือนที่เป็น basic salary ผู้ประกอบการระดับกลางและล่าง เริ่มกลับมาจ้างงานมากขึ้น สังเกตได้จากมีการปรับเงินเดือนสูงขึ้นจากปี 2564 ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของไทย จีดีพี 3% กว่า ๆ ใกล้ 4% อัตราเงินเฟ้อลดลง จาก 6.3% เหลือ 2.4% อัตราว่างงานก็ลดลง จาก 1.93% เหลือ 1.37% ปี 2566 จึงถือว่าเป็นอีกปีที่มีสัญญาณเชิงบวกจากหลายปัจจัย ที่ส่งผลดีต่อการจ้างงานและจ่ายค่าตอบแทนโดยรวม” นายวรกิตกล่าวสรุป