กุญแจสู่ความสำเร็จ ไทยและอาเซียนสู่ความยั่งยืน

ความยั่งยืน
Photo: Iva Rajovic/ Unsplash

คินดริล (Kyndryl) ผู้ให้บริการระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลก เผยแพร่ข้อมูลใหม่ล่าสุดเกี่ยวกับความยั่งยืนของระบบนิเวศ “Kyndryl-Ecosystem Sustainability” เขียนโดยกัณณวันต์ สกุลจิตตเจริญ กรรมการผู้จัดการ คินดริล ประเทศไทยและเวียดนาม

ปูทางประเทศไทยและอาเซียน

จากการคาดการณ์ว่าอาเซียนจะกลายเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่สี่ของโลกภายในปี 2030 จากปัจจัยกระตุ้นหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น แนวโน้มด้านประชากรที่เหมาะสม รายรับ ที่เพิ่มสูงขึ้น การนำเทคโนโลยีมาใช้ในชีวิตประจำวัน และตลาดของผู้บริโภคที่เติบโตอย่างรวดเร็ว จึงทำให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีแนวโน้มเติบโตทางเศรษฐกิจสูง

อย่างไรก็ตาม การเติบโตที่ว่านั้นย่อมมาพร้อมกับภาระหน้าที่อันยิ่งใหญ่ กล่าวคือ ธุรกิจต่าง ๆ ในอาเซียนจะต้องรับผิดชอบในการสร้างสมดุลระหว่างการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในอนาคต ซึ่งเป็นแผนในระยะยาวที่เลี่ยงไม่ได้

และการรักษาธุรกิจให้อยู่รอดซึ่งเป็นแผนระยะสั้นที่สำคัญเช่นกัน องค์กรในไทยจึงถูกผลักดันให้พัฒนาตัวเองและแสดงออกถึงจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) ผ่านการดำเนินการและการลงทุน เพื่อตอบสนองความต้องการหรือความคาดหวังของลูกค้า นักลงทุน และข้อบังคับด้านความยั่งยืนของรัฐบาลปัจจุบัน

ประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนเป็นสมาชิกโครงการความริเริ่มเพื่อความยั่งยืนในตลาดหุ้น หรือ Sustainable Stock Exchange Initiative และทุกประเทศได้มีการออกตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อมในระดับรัฐบาลหรือระดับองค์กร อย่างไรก็ตาม คำถามคือ องค์กรต่าง ๆ ในประเทศไทยและในภูมิภาคอาเซียนได้กำหนดเป้าหมายและประสบความสำเร็จตามแผนการด้านความยั่งยืนหรือไม่

ขาดกลยุทธ์แบบองค์รวม

ในการทำความเข้าใจการจัดลำดับความสำคัญทางธุรกิจ รวมถึงเทรนด์ด้านเทคโนโลยีและเป้าหมายด้านความยั่งยืนขององค์กรต่าง ๆ ในอาเซียน คินดริลจึงได้ร่วมมือกับ Ecosystem บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจและวิจัยด้านเทคโนโลยี เพื่อเผยแพร่ “Kyndryl ASEAN Digital Transformation Study 2022” โดยมีผู้บริหารระดับสูงจากทั่วภูมิภาคอาเซียน จำนวน 500 คน เข้าร่วมการวิจัยนี้

จากผลการวิจัยพบว่า 77% ขององค์กรในอาเซียนกำลังให้ความสำคัญกับการเป็นองค์กรที่มีความยั่งยืน ขณะที่ 89% ขององค์กรในประเทศไทยกำลังให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาค

การผลักดันองค์กรไปสู่องค์กรแห่งความยั่งยืนในประเทศไทยมาจากหลายปัจจัย โดยปัจจัยที่สำคัญ ได้แก่ แรงผลักดันที่แข็งแกร่งจากผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการจัดการความท้าทายอันสืบเนื่องจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ประเทศต้องเผชิญ

แม้ว่าองค์กรจะให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้น แต่เป้าหมายด้านความยั่งยืนส่วนใหญ่กลับไม่ชัดเจน จึงทำให้องค์กรไม่สามารถกำหนดแนวทางการดำเนินธุรกิจว่าจะต้องเริ่มต้นจากที่ใดและดำเนินการอย่างไร ทั้งนี้ มีเพียง 23% ขององค์กรในประเทศไทยที่มีการกำหนดกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนขององค์กร

แม้กระทั่งองค์กรที่มีกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนก็อาจจะไม่สามารถเล็งเห็นประเด็นสำคัญต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการบรรลุเป้าหมายด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้อย่างครบถ้วน เนื่องจากองค์กรส่วนใหญ่ยังคงมุ่งเน้นเรื่องการจัดสรรงบประมาณสำหรับริเริ่มโครงการเกี่ยวกับความยั่งยืน แต่กลับไม่ได้ให้ความสำคัญกับทักษะและข้อมูลที่มีความจำเป็นในการสนับสนุนโครงการริเริ่มเหล่านั้น

โดยมีเพียง 4% ขององค์กรทั่วภูมิภาคอาเซียนที่มีกลยุทธ์ความยั่งยืนแบบองค์รวม และองค์กรส่วนใหญ่กำลังมุ่งเน้นกับการรับมือความท้าทายภายนอกและความท้าทายที่กำลังเผชิญอยู่ อย่างเช่น การจัดการกรอบการทำงานที่ไม่ชัดเจน

ความท้าทายลำดับต้นคือ ข้อมูล

จากการศึกษาพบว่า ความพร้อมใช้งานของข้อมูลเป็นอุปสรรคสำคัญของโครงการด้านความยั่งยืนในประเทศไทย ในโลกยุคปัจจุบันที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล มีความเป็นไปได้สูงที่องค์กรจะสามารถเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นสำหรับความพยายามในการพัฒนาด้านความยั่งยืนได้

แต่สิ่งเหล่านี้มักไม่ได้ถูกนำไปบูรณาการในกลยุทธ์ทางข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นการระบุชุดข้อมูลที่ถูกต้อง การเก็บรวบรวมข้อมูลที่จำเป็นตลอดทุกการดำเนินการ และการใช้เครื่องมือวิเคราะห์เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกที่ถูกต้อง ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาถึง 2 ปีในการจัดการนำข้อมูลที่จำเป็นไปใช้ประโยชน์ในการกำหนดเป้าหมายตามหลักการทางวิทยาศาสตร์

ความท้าทายเหล่านี้บ่งชี้ว่าการริเริ่มด้านความยั่งยืนขององค์กรยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้น ทำให้การนำความยั่งยืนไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพนั้นยังคงต้องอาศัยความเชื่อมั่น และเสริมด้วยพื้นฐานที่แข็งแกร่งทางด้านข้อมูลและเทคโนโลยี ควบคู่ไปกับการมีแนวคิดด้านนวัตกรรมแบบเปิด

ธุรกิจแบบยั่งยืนเป็นกระแสหลัก

แม้ว่าการริเริ่มด้านความยั่งยืนจะยังไม่ถึงขั้นเติบโตเต็มที่ แต่ก็มีบางอุตสาหกรรมที่เป็นผู้นำเชิงกลยุทธ์ ในโครงการริเริ่มด้านความยั่งยืน อาทิ อุตสาหกรรมสื่อและโทรคมนาคม (media & telecom) รวมถึงธุรกิจพลังงานและสาธารณูปโภค (energy & utilities) ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตสูง ธุรกิจเหล่านี้จึงมีแรงจูงใจให้ใช้แนวทางปฏิบัติด้านความยั่งยืนเพื่อลดต้นทุนและความอยู่รอดในอนาคต

ส่วนอุตสาหกรรมเทคโนโลยี อาทิ ผู้ให้บริการ managed services providers และไฮเปอร์สเกลเลอร์ (Hyperscalers) ก็มีส่วนช่วยให้ลูกค้าได้เปลี่ยนไปใช้ระบบคลาวด์ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานที่ 22 ถึง 93% โดยประมาณ (อ้างอิงจาก “The Carbon Benefits of Cloud Computing : A Study on the Microsoft Cloud”, Microsoft 2018 และ Kyndryl ASEAN Digital Transformation Study 2022)

สำหรับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ริเริ่มโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมขนาดเล็กพบว่าประสบความสำเร็จในช่วงแรกเช่นกัน ซึ่งรวมไปถึงอุตสาหกรรมค้าปลีก (retail) ที่ให้ความสำคัญกับการลดการใช้พลาสติกในบรรจุภัณฑ์และการจัดหาวัตถุดิบต่าง ๆ ในท้องถิ่นเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ส่วนภาคอุตสาหกรรมการบริการก็มีการใช้ไฟประหยัดพลังงาน รวมถึงมาตรการต่าง ๆ เช่น การรีไซเคิลผ้าปูที่นอนเพื่อลดการใช้น้ำ

แต่ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมใดก็ตาม การพัฒนาด้านความยั่งยืนกำลังจะเปลี่ยนรูปแบบไป เพราะปัจจัยการขับเคลื่อนหลักทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นความพยายามในการขจัดความยากจน การส่งเสริมความหลากหลายและการยอมรับความแตกต่างของแต่ละบุคคล ไปจนถึงการสนับสนุนเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน ล้วนต้องกลายมาเป็นหลักสำคัญในทุก ๆ องค์ประกอบขององค์กร

หลายคนมองว่าการริเริ่มด้านความยั่งยืนเป็นโครงการที่เพิ่มภาระต้นทุนให้กับองค์กร อย่างไรก็ตาม มีหลักฐานเพิ่มมากขึ้นที่แสดงให้เห็นว่าการเลือกใช้วิธีการและมาตรวัดที่เหมาะสมนั้น สามารถทำให้แนวคิดการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) และการกำหนดแนวทางด้านความยั่งยืนจะกลายเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างคุณค่าและความแตกต่างให้กับองค์กร

กุญแจสู่ความสำเร็จ

การเล็งเห็นว่าความยั่งยืนเป็นกุญแจที่จะช่วยสร้างคุณค่าให้กับองค์กร นับเป็นการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ที่สำคัญ เพราะแนวคิดนี้จะช่วยให้องค์กรแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ที่มาพร้อมกับการกำหนดแนวทางด้านความยั่งยืน

ทั้งนี้ การบูรณาการด้านความยั่งยืนกับการเปลี่ยนแปลงด้านดิจิทัลจะช่วยขับเคลื่อนประสิทธิภาพธุรกิจให้แข็งแกร่งขึ้น และหากองค์กรต้องการสร้างผลกระทบด้านความยั่งยืนให้มากยิ่งขึ้น องค์กรควรทำงานร่วมกับพันธมิตรที่มีเป้าหมายสอดคล้องกับองค์กรและมีความรับผิดชอบร่วมกัน

ในช่วงเริ่มต้น องค์กรควรเริ่มจากการวางกลยุทธ์โดยการนำแนวคิด data-first มาใช้ในการจัดการกับความท้าทายเรื่องความพร้อมใช้งานของข้อมูล การนำข้อมูลมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนแนวคิดการพัฒนาแบบองค์รวมเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ด้านความยั่งยืน และเพื่อสร้างความแตกต่างอย่างแท้จริง


แนวคิดด้านความยั่งยืนจะต้องเป็นองค์ประกอบหลักในทุกภาคส่วนขององค์กร ตั้งแต่หลักเกณฑ์การจัดการองค์กร คำสั่งการของผู้บริหารระดับสูง ไปจนถึง DNA ของพนักงานในองค์กร และที่สำคัญ แนวคิดการดำเนินธุรกิจแบบยั่งยืนนี้จะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อธุรกิจทุกขนาดและจากทุกอุตสาหกรรมกล้าที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในด้านความยั่งยืน