TCP ชูความสำเร็จ โอบอุ้มลุ่มน้ำไทยจัดการชุมชนยั่งยืน

TCP

โครงการ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทย ภายใต้การสนับสนุนของกลุ่มธุรกิจ TCP เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562 จากความตั้งใจที่จะสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่แข็งแกร่งในการพัฒนาทรัพยากรน้ำ โดยร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ (อพ.), สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ(สสน.), สถาบันวิจัยทรัพยากรน้ำใต้ดิน มหาวิทยาลัยขอนแก่น, องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) และชุมชนในพื้นที่ต่าง ๆ ดูแลเรื่องของน้ำใต้ดินและน้ำบนดิน จนถึงวันนี้ย่างเข้าสู่ปีที่ 5 นับว่าประสบความสำเร็จหลายด้าน โดยเฉพาะการมีแหล่งกักเก็บน้ำไว้ใช้สำหรับการอุปโภคบริโภค รวมถึงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่ดีขึ้น

“อรัญญา ลือประดิษฐ์” รองผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์และการสื่อสาร กลุ่มธุรกิจ TCP เล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้นโครงการเมื่อ 4 ปีก่อนให้ฟังว่า TCP มองเรื่องน้ำเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากเป็นวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการทำธุรกิจ จึงเกิดเป็นโครงการ TCP โอบอุ้มลุ่มน้ำไทยขึ้นมา ด้วยการที่เราตั้งงบประมาณในการดำเนินโครงการอยู่ที่ 100 ล้านบาท ตามแผนการดำเนินงาน 5 ปี ตั้งแต่ปี 2562-2566

อรัญญา ลือประดิษฐ์
อรัญญา ลือประดิษฐ์

นำร่องในพื้นที่ชุมชน 3 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำยม, ลุ่มน้ำบางปะกง และลุ่มน้ำโขง ให้เข้าถึงแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ซึ่งการดำเนินโครงการเรามีเป้าหมายหลักเพื่อไปสู่การเป็นองค์กร Net Water Positive หรือการใช้น้ำสุทธิเป็นบวก ซึ่งหมายถึงการลดการใช้ทรัพยากรน้ำ และเติมน้ำสะอาดกลับคืนสู่แหล่งน้ำในท้องถิ่นให้ได้มากกว่า 100%

“พื้นที่ 3 ลุ่มน้ำที่ดำเนินโครงการจะครอบคลุมทั้งหมด 7 จังหวัด ได้แก่ ลุ่มน้ำยม มีแพร่, สุโขทัย, พิจิตร ลุ่มน้ำบางปะกง มีสระแก้ว, ปราจีนบุรี และนครนายก ส่วนลุ่มน้ำโขง คือ อุบลราชธานี เราทำงานร่วมกับองค์กรหรือหน่วยงานที่เขามีความเชี่ยวชาญเรื่องน้ำโดยเฉพาะ ทั้ง อพ. แล้วก็ สสน.

ทั้งยังมีการลงพื้นที่ติดตามอย่างต่อเนื่อง สำหรับกระบวนการทำงาน อพ. และ สสน. มีการจัดฟอรั่มร่วมกับชุมชนอยู่เสมอ เพื่อเสนอโครงการว่าแต่ละชุมชนมีความต้องการด้านไหน ซึ่งขั้นแรกชุมชนต้องมีความเข้าใจบริบทพื้นที่ของตนเองก่อนว่าทิศทางการไหลของน้ำไปทางไหน พื้นที่เป็นอย่างไร”

จากนั้นถึงจะคิดโครงการขึ้นมาว่าอยากได้รับการสนับสนุนด้านไหนบ้าง เช่น อยากให้มีการต่อน้ำลงไปในพื้นที่เกษตร การต่อท่อประปาภูเขา ฯลฯ TCP จะมีบทบาทในการสนับสนุนเรื่องการกักเก็บน้ำ การทำอ่าง บ่อพวง พัฒนาจนถึงเรื่องของสุขอนามัยของน้ำดื่ม น้ำใช้ ให้ความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรกรรม เป็นต้น

“อรัญญา” กล่าวต่อว่า จากการทำงานและลงพื้นที่อย่างใกล้ชิด ปัจจุบันสามารถเพิ่มปริมาณน้ำในระบบจากบริหารจัดการถึง 15 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือกว่า 3 เท่าของปริมาณน้ำที่กลุ่มธุรกิจ TCP ใช้ในตลอดกระบวนการ มีผู้รับประโยชน์กว่า 40,000 ครัวเรือน คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ประมาณ 75 ล้านบาท

ความสำเร็จโครงการครั้งนี้ TCP ยกตัวอย่างการดำเนินโครงการในพื้นที่ลุ่มน้ำยม จ.แพร่ ที่ดำเนินตามแนวทาง “ฟื้นฟูป่า-พัฒนาน้ำ-ทำเกษตรแบบ Smart Farmer” โดยฟื้นฟูป่า ด้วยการวางแนวกันไฟ ดูแลป่าต้นน้ำ เสริมฝายต้นน้ำ วางระบบท่อเติมน้ำเข้าอ่างเก็บน้ำ พัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำ

ด้วยการสร้างถังเก็บน้ำลักษณะหอถังสูง แบ่งเส้นน้ำอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร การทำเกษตรแบบ Smart Farmer สร้างระบบรางส่งน้ำเข้าพื้นที่การเกษตร วางระบบรางกระจายน้ำเพื่อการเกษตร เก็บข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ และแจ้งเตือนให้กับชุมชน ก่อตั้งศูนย์เรียนรู้ด้านเกษตรอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ยกตัวอย่างพื้นที่อ่างเก็บน้ำห้วยปะยาง ชุมชนบ้านแม่ขมิง อ.วังชิ้น จ.แพร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ประสบปัญหาน้ำหลาก น้ำแล้ง ตอนนั้นปี 2544 เกิดอุทกภัย น้ำป่าไหลหลาก ดินโคลนถล่ม ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่และพื้นที่ใกล้เคียงเป็นจำนวนมาก

ต่อมาในปี 2546 กรมชลประทานสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยปะยางช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าว แต่ปัญหาขาดแคลนน้ำยังคงมีอยู่ ชุมชนจึงเริ่มหันมาร่วมกันฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำลำห้วยปะยาง สร้างฝายชะลอน้ำ ปลูกต้นไม้เสริมพื้นที่ป่า เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ในพื้นที่ กำหนดขอบเขตเป็นป่าชุมชนพื้นที่ 389 ไร่

ต่อมาในปี 2561 ชุมชนร่วมกับคณะกรรมการเครือข่ายการบริหารจัดการน้ำและเขตจัดการน้ำแพร่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ อพ. และ สสน. ดำเนินงานพัฒนาแหล่งน้ำ ตามแนวพระราชดำริ อนุรักษ์ ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ปลูกไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนของอ่างเก็บน้ำ

นำแนวคิดการใช้น้ำซ้ำ โดยแบ่งน้ำที่ไหลจากป่าต้นน้ำ ทางหนึ่งไหลลงอ่างเก็บน้ำห้วยปะยาง อีกทางหนึ่งเป็นระบบประปาภูเขา และน้ำส่วนเกินจากระบบประปาภูเขาจะไหลเข้าสู่อ่างเก็บน้ำ นำไปใช้ทำการเกษตรด้านล่างต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยบรรเทาปัญหาน้ำหลาก น้ำแล้ง สร้างความมั่นคงน้ำเป็นอย่างดี

ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำมีความจุเพิ่มขึ้นเป็น 959,000 ลูกบาศก์เมตร มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 341,000 ลูกบาศก์เมตร และสามารถบริหารจัดการน้ำได้มากสุดถึง 6 รอบต่อปี สร้างรายได้ให้เกษตรกรได้ 8,000-15,000 บาทต่อเดือน เกิดการจัดการน้ำในรูปแบบต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่และการใช้งาน

ได้แก่ เสริมสปิลเวย์ ยกระดับน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยป้อม เก็บเข้าหอถังสูง เสริมระบบสูบด้วยโซลาร์เซลล์ลดการใช้พลังงาน ฝายชะลอน้ำสร้างจากวัสดุธรรมชาติเพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ ชุมชนมีบทบาทเป็นเจ้าของโครงการ ร่วมวางแผนการทำงาน ลงมือปฏิบัติด้วยตนเองทุกขั้นตอน จนทำให้เกิดการบริหารจัดการน้ำแบบพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน

วีฤทธิ์ กวยะปาณิก
วีฤทธิ์ กวยะปาณิก

“วีฤทธิ์ กวยะปาณิก” กรรมการศูนย์บริหารจัดการน้ำ จ.แพร่ กล่าวว่า ในฐานะตัวแทน จ.แพร่ กลุ่มธุรกิจ TCP ให้การสนับสนุนและเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาลุ่มน้ำยม ด้วยแนวทาง “ฟื้นฟูป่า-พัฒนาน้ำ-ทำเกษตรแบบ Smart Farmer” ด้วยการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ให้พื้นที่ต่าง ๆ ตอบโจทย์ความยั่งยืน

โดยศูนย์บริหารจัดการน้ำจะเข้าไปช่วยรวบรวมข้อมูลทรัพยากรธรรมชาติเกิดเป็นตัวอย่างความสำเร็จ ส่งต่อองค์ความรู้ แจ้งเตือนข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อการเกษตรและการจัดการน้ำ เตรียมความพร้อมในการรับมือกับสภาพอากาศและภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จนทำให้ปี 2565 พื้นที่นี้ไม่ได้รับผลกระทบหนักจากอุทกภัยที่เกิดขึ้น ทั้งยังมีแผนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง โดยให้ชุมชนเป็นหลักในการขับเคลื่อน สามารถวางแผนบริหารจัดการและดูแลรักษาระบบโครงสร้างแหล่งน้ำได้ด้วยตนเอง เพิ่มความมั่นคงทางการเกษตรและเศรษฐกิจชุมชน

เพ็ญศรี ปันฟอง
เพ็ญศรี ปันฟอง

“เพ็ญศรี ปันฟอง” ตัวแทนชุมชนบ้านแม่ขมิง จ.แพร่ กล่าวเสริมว่า แต่เดิมแพร่มีปัญหาทั้งน้ำหลาก น้ำแล้ง ในพื้นที่เดียวกัน ขาดการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ พื้นที่ป่าต้นน้ำถูกบุกรุก เมื่อมีโครงการนี้เข้ามาสร้างเครือข่ายการบริหารจัดการน้ำ ทำให้เกิดความร่วมมือที่แข็งแกร่ง ปัจจุบันเรามีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำมากกว่าต้นทุนน้ำที่ชุมชนต้องการ


“ทั้งยังสร้างผลผลิตจนมีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สามารถนำไปแปรรูป และเพิ่มมูลค่าอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ช่วงโควิด-19 ผ่านมา หลาย ๆ ครอบครัวย้ายกลับมาอยู่ที่บ้าน ทั้งยังสามารถสร้างรายได้จากการเกษตรได้ถึง 8,000-15,000 บาท/เดือน จนก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนอีกด้วย”