มณฑลแห่งความยั่งยืน

คอลัมน์ CSR Talk โดย พิพัฒน์ ยอดพฤติการ

ความยั่งยืน (sustainability) ถูกจัดให้เป็นวาระของการพัฒนาในทุกระดับ โดยในระดับโลกมีการกำหนดเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ไว้ 17 ข้อ ในระดับประเทศ มีการกำหนดในวิสัยทัศน์ (มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน) สำหรับใช้เป็นทิศทางการพัฒนาประเทศ ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2558-2563) และในระดับองค์กร มีการกำหนดเป็นนโยบายดำเนินงาน เพื่อมุ่งให้ได้มาซึ่งความยั่งยืนของกิจการ

ในระดับองค์กร ความยั่งยืนจัดเป็นสถานะของกิจการที่ทุกองค์กร คาดหวังให้เกิดขึ้น หรือเป็น “ผลลัพธ์” ที่อยากให้เกิดขึ้นจากการดำเนินงานของกิจการ

ด้วยเหตุนี้ องค์กรที่ต้องการได้มาซึ่งความยั่งยืน จำเป็นต้องมี “วิธีการ” ที่จะดำเนินไป เพื่อให้ถึงซึ่งผลลัพธ์ หรือสถานะดังกล่าว

การค้นหาวิธีการในการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งความยั่งยืน องค์กรจะต้องเข้าใจในสองเรื่องสำคัญ คือ กิจการของตนทำอะไร (what) และสิ่งที่ทำนั้น ส่งผลไปถึงใคร (who) บ้าง

องค์กรที่มีการระบุเรื่องที่ทำ และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ที่เกี่ยวข้องได้อย่างครอบคลุม จะรับรู้ถึงมณฑลแห่งความยั่งยืน หรือ “sphere of sustainability” สำหรับกิจการของตน ที่สามารถใช้เป็นพิมพ์เขียวในการพัฒนาวิธีการที่จะดำเนินการได้

เริ่มจากการพิจารณาถึงการดำเนินงานที่ส่งผลถึงผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของกิจการ ความยั่งยืนในกรณีนี้จะเกิดขึ้นจากองค์กรมีการกำกับดูแลกิจการที่ดี (corporate governance : CG) มีการกำหนดทิศทาง และสอดส่องดูแลการปฏิบัติงานของกิจการให้มีความถูกต้อง โปร่งใส ตรวจสอบได้ เจริญรุดหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความเสียหายของกิจการ พร้อมกันกับความสามารถในการสร้างมูลค่าเพิ่มและส่งเสริมการเติบโตของกิจการอย่างมั่นคง

ถัดมาเป็นผู้เกี่ยวข้องซึ่งเป็นผู้ลงทุน โดยเฉพาะผู้ลงทุนสถาบัน ความยั่งยืนในกรณีนี้จะเกิดขึ้นจากการดำเนินงานขององค์กรที่เป็นไปอย่างรับผิดชอบ สามารถเปิดเผยข้อมูลในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (environmental, social and governance : ESG) ให้แก่ผู้ลงทุน นอกเหนือจากปัจจัยด้านผลตอบแทนและความเสี่ยงของกิจการ

สำหรับผู้เกี่ยวข้องซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรอบกิจการ ความยั่งยืนในกรณีนี้จะเกิดขึ้นจากการคำนึงถึงผลกระทบจากการดำเนินงานที่มีต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในแต่ละกลุ่มที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นธรรม ไม่จำกัดเพียงการปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด เป็นการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ (corporate social responsibility : CSR) ที่สอดคล้องกับหลักนิติธรรม และหลักปฏิบัติที่เป็นบรรทัดฐานสากล

ส่วนผู้เกี่ยวข้องทั่วไปที่เป็นสังคมในวงกว้าง ความยั่งยืนในกรณีนี้จะเกิดขึ้นจากการคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง ในฐานะนิติพลเมือง ภายใต้การดำเนินงานที่ตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development : SD) ในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งหมายที่จะบรรลุถึงสถานะแห่งความยั่งยืนของสังคมโดยรวม มิใช่เพื่อความยั่งยืนหรือความสามารถในการอยู่รอดขององค์กรเพียงลำพัง (หมายรวมถึง วิถีการบริโภคอย่างยั่งยืน และแหล่งทรัพยากรที่ยั่งยืน)

สำหรับผู้เกี่ยวข้องที่อยู่ภายในองค์กร โดยเฉพาะฝ่ายบริหาร ความยั่งยืนในกรณีนี้จะเกิดขึ้นจากการวางกลยุทธ์การดำเนินงานที่สามารถส่งมอบประโยชน์ให้ทั้งกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายในองค์กรและภายนอกองค์กร เป็นการสร้างผลกระทบเชิงบวกหรือการสร้างคุณค่าร่วม (creating shared value : CSV) ระหว่างธุรกิจและสังคมควบคู่ไปพร้อมกัน

นอกจากนี้ กิจการยังสามารถพิจารณาปรับเปลี่ยนรูปแบบทางธุรกิจที่ดำเนินอยู่ หรือจัดตั้งธุรกิจใหม่ โดยมีพันธกิจในการดำเนินงานที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของสังคมเป็นที่ตั้ง ในลักษณะวิสาหกิจเพื่อสังคม (social enterprise : SE) หรือในรูปแบบที่เรียกว่า ธุรกิจเพื่อสังคม (social business : SB) ความยั่งยืนในกรณีนี้จะเกิดขึ้นจากการที่องค์กรมีความมุ่งประสงค์ที่จะแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน สังคม หรือสิ่งแวดล้อมโดยตรง มิใช่การหวังผลกำไรในทางธุรกิจเป็นหลัก แต่เป็นการดำเนินธุรกิจเพื่อแก้ไขปัญหาสังคม ด้วยวิถีทางที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้


การพิจารณาถึงสิ่งที่องค์กรดำเนินการ และผลกระทบที่ส่งไปถึงผู้เกี่ยวข้องในช่องทางข้างต้นนี้ ก่อให้เกิดเป็นมณฑลแห่งความยั่งยืน (the sphere of sustainability) ที่อธิบายถึงความสัมพันธ์ในเรื่อง CG, ESG, CSR, SD, CSV, SE, SB ซึ่งในแต่ละเรื่องมีเหตุผลของการดำรงอยู่ ตามบริบทที่เรื่องนั้นเข้าไปเกี่ยวข้อง มิใช่เรื่องที่นำมาใช้แทนกัน แต่เพื่อใช้ค้นหาวิธีการในการดำเนินการอย่างเป็นองค์รวม เพื่อให้ได้มาซึ่งสถานะแห่งความยั่งยืน