มนุษย์ไอที “ไทย” ขาดแคลนหนัก รุมจีบอินเดีย-มาเลย์-ฟิลิปปินส์ทดแทน

แมนพาวเวอร์กรุ๊ป

ต้องยอมรับความจริงว่าปัจจุบันแรงงานทางด้านดิจิทัล เทคโนโลยี มีความต้องการสูงมาก ยิ่งเฉพาะหลังจากช่วงโควิด-19 ผ่านมา เพราะหลายบริษัทในประเทศไทย และหลายบริษัททั่วโลกต่างหันมาใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการประชุม ทำงาน และแม้แต่การนำเทคโนโลยีเข้ามาทำงานแทนคน

ปัญหาคือกระบวนการผลิตจากมหา’ลัยมีจำนวนจำกัด ดังนั้น แรงงานทักษะส่วนนี้จึงมีน้อย เกิดการแย่งชิงคนเก่ง ทั้งยังให้ผลตอบแทนในราคาค่อนข้างดี ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้หลาย ๆ บริษัทต่างมองหาแรงงานทักษะฝีมือทางด้านดิจิทัลเทคโนโลยีจากประเทศอื่น ๆ เข้ามาทดแทน โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่มาจากอินเดีย, มาเลเซีย และฟิลิปปินส์

นำเข้าคนไอทีต่างชาติเสริมทัพ

“นางสาวลิลลี่ งามตระกูลพานิช” ผู้จัดการประจำประเทศไทย แมนพาวเวอร์กรุ๊ป กล่าวว่า ประเทศไทยเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ และสังคมดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งก่อนหน้าเกิดการระบาดโควิด-19 มีความต้องการใช้คนทักษะดิจิทัลไอทีเพียง 5% เท่านั้น แต่หลังจากการแพร่ระบาดเพิ่มสูงถึง 40% ภายใน 2 สัปดาห์ ทุกคนต้องทำงานจากบ้าน โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย

ผลตรงนี้ จึงทำให้หลายองค์กรมองหาคนที่มีทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัลมาเสริมทัพ จึงส่งผลให้ตลาดแรงงานมีการแข่งขันสูง และเข้มข้นมากขึ้น ทั้งยังพบว่าโลกกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาการจ้างงานสูงสุดในรอบ 16 ปี เพราะ 75% ของบริษัททั่วโลกกำลังขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะจำเป็น

“ในฐานะที่แมนพาวเวอร์กรุ๊ปเป็นผู้ให้บริการจัดหาคน และจัดหางานระดับโลกมากว่า 70 ปี จึงขยายธุรกิจก่อตั้งบริษัทในเครือชื่อเอ็กซ์พีริส (Experis) ซึ่งเป็นบริษัทสรรหามืออาชีพด้านดิจิทัลไอที แต่การหาคนทำงานสายนี้ในไทยค่อนข้างยาก เพราะคนไทยเข้าเรียนด้านดิจิทัลไอที 16,000-20,000 คนต่อปี แต่จบจริงเพียง 8,000 คนต่อปี และไม่ใช่ทุกคนที่เลือกทำงานสายดิจิทัลไอที บวกกับหลายคนไม่ผ่านเกณฑ์รับสมัครของบริษัทต่าง ๆ จึงทำให้มีคนทำงานสายนี้จริง ๆ ไม่ถึง 70% ซึ่งบนแพลตฟอร์มหางานของแมนพาวเวอร์ คนที่มีทักษะไอทีจะได้รับการเสนอตำแหน่งงาน 3 งานต่อหนึ่งคน”

จากรายงาน The New Age of Tech Talent ของเอ็กซ์พีริสพบว่าตำแหน่งผู้จัดการโปรเจ็กต์ไอทีมีสัดส่วนความต้องการมากที่สุดถึง 22% ในขณะที่ตำแหน่งงานเกี่ยวกับการเข้ารหัส (encryption), ความปลอดภัยของข้อมูล, นักวิเคราะห์ความปลอดภัยทางไซเบอร์, นักพัฒนาซอฟต์แวร์แอปพลิเคชั่น และผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ รวมถึงแมชีนเลิร์นนิ่งต่างมีสัดส่วนความต้องการอยู่ที่ 20% ส่วนสายงานอื่น ๆ ที่ขาดแคลนคนคือ การขาย-การตลาด และโลจิสติกส์

“ประเทศไทยไม่กีดกันแรงงานทักษะสูงชาวต่างชาติในตำแหน่งงานด้านดิจิทัลไอที แมนพาวเวอร์กรุ๊ปจึงเล็งเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องหาแหล่งคน (talent pool) ที่มีทักษะไอทีดิจิทัลจากนอกประเทศมาป้อนตลาดงานไทย โดยจะทำงานร่วมกับบริษัทในเครือจากอินเดีย, มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ เพื่อหาคน อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำหรับการดึงแรงงานที่มีทักษะสูงด้านเทคโนโลยีดิจิทัลมาทำในไทยคือ การยอมรับของเพื่อนร่วมงานชาวไทย เพราะติดปัญหาด้านการสื่อสารภาษาอังกฤษ”

“นางสาวลิลลี่” กล่าวด้วยว่า สิ่งสำคัญที่ทุกองค์กรต้องการคือซอฟต์สกิล หรือทักษะภายในของแต่ละคนที่มีผลต่อการปฏิสัมพันธ์ต่อผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นเจ้านาย เพื่อนร่วมงาน คู่ค้า ลูกค้า เพื่อให้เกิดผลสำเร็จในการทำงานได้ ทักษะเหล่านี้เปรียบเสมือน “power skills” อันทรงพลังในการขับเคลื่อนให้งานสำเร็จ ทั้งยังเป็นจุดแข็งของแรงงานที่เทคโนโลยีในปัจจุบันไม่สามารถเรียนรู้ และเข้ามาทดแทนคนได้ โดยเฉพาะทักษะที่หายากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่

1) ทักษะการใช้เหตุผล การแก้ปัญหา 2) ทักษะด้านการพึ่งพา ความไว้ใจ และวินัย 3) ทักษะด้านการคิดเชิงวิพากษ์ และวิเคราะห์ 4) ทักษะด้านความสร้างสรรค์ และเป็นต้นฉบับ มีความคิดเป็นของตัวเอง และ 5) ทักษะความยืดหยุ่น ความอดทน อดกลั้น และการปรับตัว

Credit Suisse ล่มสลาย ไม่กระทบตลาดแรงงาน

“นายโจนาส ไพรส์ซิ่ง” ประธานกรรมการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหารแมนพาวเวอร์กรุ๊ป กล่าวว่า เหตุการณ์ธนาคารเครดิตสวิสล่มสลายยังไม่มีผลกระทบเด่นชัดใด ๆ กับตลาดแรงงานไทย ทั้งยังเร็วเกินไปที่จะคาดการณ์ว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจชะลอตัวหรือไม่ นอกจากนั้น ตลาดแรงงานในสหรัฐอเมริกาและยุโรปยังคงแข็งแกร่ง และมีความยืดหยุ่นสูงอยู่ตอนนี้ ถึงแม้จะมีความท้าทายในเรื่องต้นทุนพลังงานสูง ราคาอาหารสูง สงครามรัสเซีย-ยูเครน แต่คนก็มีงานทำและได้รับเงินเดือน

“สำหรับเทรนด์ตลาดแรงงานตอนนี้เหมือนกันทั่วโลกคือแข็งแกร่งมากขึ้น เพราะอัตราการว่างงานต่ำกว่าที่เคยเป็นมาหลายสิบปี ซึ่งอัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.2% ขณะสหรัฐอเมริกามีอัตราว่างงานต่ำสุดในรอบ 55 ปี และยุโรปก็ไม่เคยมีอัตราว่างงานต่ำเท่านี้มาก่อน แต่ปัญหาของตลาดคือการหาคน ซึ่งการหาคนในประเทศไทยในหลาย ๆ ตำแหน่งค่อนข้างยาก และเหมือนกับหลายประเทศทั้งในเอเชีย และละตินอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกาและยุโรป”

“เพราะตลาดแรงงานได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง โลกรับมือกับอัตราเจริญพันธุ์ที่ต่ำลงจนน่าตกใจ ซึ่งนักวิจัยคาดการณ์ว่าทุกประเทศทั่วโลกมีประชากรลดลงเมื่อสิ้นศตวรรษที่ 21 โดยอย่างน้อย 23 ประเทศ ประชากรจะลดลงเกือบ 50% ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย นอกจากนั้น ปัญหาทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วก็กระทบกับตลาดแรงงานด้วย”

“นายโจนาส” กล่าวด้วยว่า คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับ work-life balance มาก และชอบองค์กรที่มีรูปแบบการทำงานแบบผสมผสาน ทั้งทำงานจากที่บ้าน และเข้าสำนักงานบางวัน ความต้องการเหล่านี้จะอยู่ต่อไป และเป็นปัจจัยสำคัญที่ใช้ตัดสินใจเลือกงาน

รีบปั้นมนุษย์ไอทีรองรับตลาดงานโต

“นายไซม่อน แมททิวส์” ผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวเสริมว่า ภายใน 2026 ในประเทศไทยจะมีกำลังแรงงานเพิ่มขึ้นประมาณ 0.6% ทำให้มีแรงงานประมาณ 40 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งหมดประมาณ 70 ล้านคน แต่สิ่งที่ยังขาดคือการมีทักษะที่จำเป็น โดยเฉพาะดิจิทัลไอที และภาษาอังกฤษ จึงทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนคน

“ตรงนี้เป็นเหตุผลให้บริษัทข้ามชาติหลายแห่งหันไปเปิดสำนักงานในอินเดีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ แทนประเทศไทย การที่ไทยต้องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ value-based economy หรือ เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ยิ่งทำให้คนที่มี 2 ทักษะนี้มีความสำคัญ ในทุกวันนี้การเพิ่มขีดความสามารถระดับประเทศยังไม่มีตัวอย่างของประเทศที่ประสบความสำเร็จ เพราะการสร้างการเปลี่ยนแปลงในวงกว้างทำได้ยาก”

“ดังนั้น แต่ละภาคส่วนต้องทำจากส่วนย่อย upskill-reskill คนในองค์กรทั้งสถานศึกษา และบริษัทต่าง ๆ ก็จะทำให้สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้เร็วขึ้น เพราะการเพิ่มทักษะสำคัญมาก ฉะนั้น หากมีแรงงานที่มีทักษะก็จะได้รับการลงทุนในประเทศจากภายนอกมากขึ้น เนื่องจากการเข้าถึงทุนมนุษย์คือ ความได้เปรียบทางการแข่งขันในอนาคต”