สงครามชิงคนเก่งปี 2566 ไอที-ตลาดดิจิทัล-ฝ่ายขายเนื้อหอม

บริษัท อเด็คโก้ประเทศไทย HR agency ระดับโลกด้านการให้บริการทรัพยากรบุคคลแบบครบวงจร เปิดตัว Salary Guide 2023 คู่มืออัตราเงินเดือนประจำปี ซึ่งเป็นข้อมูลเงินเดือนเริ่มต้น และสูงสุดกว่า 800 ตำแหน่ง ใน 8 อุตสาหกรรม ที่รวบรวมจากการจ้างงานผ่านอเด็คโก้ของบริษัทชั้นนำในประเทศไทย

ตลาดแรงงานปี 2566 ฟื้นตัว

“ธิดารัตน์ กาญจนวัฒน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท อเด็คโก้ประเทศไทย กล่าวว่า ปี 2565-2566 ตลาดแรงงานในประเทศไทยเริ่มกลับมามีความคึกคักขึ้นมาก เมื่อเทียบกับช่วง 2-3 ปีผ่านมาที่มีการระบาดหนักของโควิด-19 ซึ่งเป็นผลพวงมาจากเศรษฐกิจประเทศที่เริ่มฟื้นตัว

อ้างอิงจาก GDP ของไทยในไตรมาส 3 ปี 2565 เติบโต 4.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนพบว่ามีการจ้างงานเพิ่มขึ้นในหลากหลายอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมการผลิต การขนส่ง การค้าขาย FMCG การเงินการธนาคาร (FinTech)

ธิดารัตน์ กาญจนวัฒน์
ธิดารัตน์ กาญจนวัฒน์

ตลอดช่วงปี 2563-2564 โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อความไม่แน่นอนในตลาดแรงงาน จนทำให้เงินเดือนเริ่มต้นของเด็กจบใหม่ขยับลดลงอย่างต่อเนื่อง จาก 15,000 เหลือ 12,000 ทั้งยังเคยลดลงถึง 10,000 บาท/เดือน แต่ปีนี้เงินเดือนเริ่มต้นของเด็กจบใหม่กลับขึ้นมาแตะ 15,000 บาทอีกครั้ง และพบว่าเงินเดือนเฉลี่ยของคนทำงานที่มีประสบการณ์ 0-3 ปีเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 24,000-38,000 บาท และสูงสุดอยู่ที่ 80,000 บาท

โดยเฉพาะสายงานนักวิเคราะห์ความปลอดภัยทางข้อมูล (information security analyst) และผู้ตรวจสอบคุณภาพซอฟต์แวร์ (software tester) รองลงมา เจ้าหน้าที่ประสานงานกับธุรกิจที่ต้องการใช้ระบบ ERP (ERP consultant), front end developer, programmer, วิศวกรกระบวนการผลิต (process engineer), นักโภชนาการ (nutritionist) และเจ้าหน้าที่ประเมินสินเชื่อ (credit analyst)

“เงินเดือนที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นตำแหน่งที่ต้องการทักษะเฉพาะด้าน และมีความเป็นผู้เชี่ยวชาญในงาน เช่น ทักษะด้านไอที ดิจิทัล การเงิน และการวิเคราะห์ เป็นต้น ตรงนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของ hard skills ที่คนทำงานจำเป็นต้องมี และต้องพัฒนาถึงระดับที่รู้จริง และเชี่ยวชาญ

แต่ทั้งนี้การจะได้รับเงินเดือนสูง ผู้สมัครหรือคนทำงานจำเป็นต้องมีทักษะอื่น ๆ ควบคู่กันไปด้วย เช่น ทักษะด้านภาษาและการสื่อสาร รวมถึงทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น ซึ่งเป็นส่วนช่วยเติมเต็มความสามารถ และทำให้ผู้จ้างยินดีที่จะจ่ายเงินเดือนที่สูงขึ้นกว่าระดับทั่วไป”

นอกจากนั้น ด้วยการจ้างงานที่ครึกครื้นขึ้นในช่วงปี 2022 ทำให้เงินเดือนเริ่มต้นของพนักงานออฟฟิศในระดับซีเนียร์ และระดับผู้จัดการ ในช่วงปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน โดยระดับซีเนียร์เพิ่มจาก 15,000 บาท เป็น 18,000 บาท และระดับผู้จัดการเพิ่มจาก 20,000 บาท เป็น 30,000 บาท

สายอาชีพมาแรงโดนแย่งตัว

“ธิดารัตน์” กล่าวเพิ่มเติมว่า สายอาชีพมาแรงที่สุดในปีนี้ ยังคงหนีไม่พ้นงานด้าน IT งานด้าน supply chain management และงานด้าน sales & marketing เนื่องจากเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจเติบโตตามยุคดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการของคนในปัจจุบัน,

การขนส่งที่เป็นหัวใจสำคัญของ e-Commerce ซึ่งเป็นเทรนด์การจับจ่ายของผู้บริโภคยุคใหม่ที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง หรือการทำการตลาดที่ต้องเชื่อมระหว่างออฟไลน์ และออนไลน์ให้โดดเด่นและมีประสิทธิภาพ เพื่อแข่งขันกับผู้เล่นในตลาดเป็นจำนวนมาก

ทำให้คนที่อยู่ในสายงานเหล่านี้เป็นที่ต้องการของตลาดในแทบจะทุกอุตสาหกรรม โดยนายจ้างยินดีให้เงินเดือนสูงเพื่อรั้งคนเก่งไว้ในองค์กร หรือดึงดูดผู้สมัครที่มีความสามารถมาร่วมงาน

“หากมองภาพรวมตลาดแรงงานในปี 2565 ที่ผ่านมา ต้องเรียกว่าเป็นปีที่หลาย ๆ บริษัทเริ่มฟื้นตัวจากโควิด-19 โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 1 และ 2 มีตำแหน่งเปิดรับสมัครเป็นจำนวนมากในหลากหลายอุตสาหกรรม รวมทั้งมีการโยกย้ายงานของเหล่า talent ที่มี skillset จนทำให้เห็นคนเหล่านี้เข้าไปอยู่ในหลายสายงาน”

จากรายงาน Global Workforce of the Future 2022 ของ Adecco ปีผ่านมาระบุว่า พนักงานกว่า 1 ใน 4 ตัดสินใจลาออก หรือย้ายงานเพื่อให้ได้ผลตอบแทน สวัสดิการ หรือมีนโยบายเรื่องการทำงานที่ตอบโจทย์ตนเองมากกว่า ในขณะที่คนเก่งมีจำนวนจำกัด และไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด (talent shortage) ทำให้คนทำงานเหล่านี้มีสิทธิเลือกมากขึ้น

“จนเกิดการแข่งขันกันระหว่างองค์กรที่ต้องการรักษาพนักงานเก่ง ๆ ไว้ และองค์กรที่ต้องการดึงคนเก่งเข้ามาร่วมงาน หรือเรียกกันว่า talent war สะท้อนออกมาในภาพของอัตราเงินเดือนเฉลี่ยที่สูงขึ้นจากปีก่อน ซึ่งไม่เพียงเป็นการปรับตามอัตราเงินเฟ้อเท่านั้น

แต่เป็นกลยุทธ์ในการดึงดูดคนเก่งให้อยู่ หรือเข้ามาร่วมงานกับองค์กรอีกด้วย ดังนั้น คนได้เปรียบที่สุดคือผู้สมัครที่มีความพร้อมรอบด้าน เพราะมีอำนาจในการต่อรองทั้งในแง่เงินเดือน และประโยชน์อื่น ๆ โดยสามารถเลือกทำงานกับบริษัทที่ตอบโจทย์ความต้องการของตนเองได้มากที่สุด”

สำหรับข่าว lay-off พนักงานของหลายบริษัทในปีผ่านมา อาจทำให้หลายคนรู้สึกกังวลใจ มองว่าบางกรณีเกิดขึ้นเพราะธุรกิจหรืออุตสาหกรรมนั้น ๆ อาจอยู่ในช่วงขาลงจริง เช่น ธุรกิจสิ่งพิมพ์ หรือทีวี เป็นต้น

แต่ในกรณีของการลดคนของบริษัทด้านเทคโนโลยีส่วนใหญ่เกิดจากบริษัทจ้างงานเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับดีมานด์ของสินค้าบริการที่มีมากเป็นพิเศษในช่วงโควิด แต่เมื่อสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ ความต้องการแรงงานในส่วนงานนี้อาจลดลง ในแง่องค์กรมองว่านี่เป็นโอกาสที่จะได้ talent pool ที่เต็มไปด้วยคนที่มีความสามารถ และมองหาคนที่ใช่เพื่อรับเข้ามาร่วมงานกับองค์กรได้

ปรับวัฒนธรรมองค์กรรับ Gen Z

“ธิดารัตน์” กล่าวเพิ่มเติมว่า คำแนะนำสำหรับองค์กรในปีนี้คือ HR และผู้นำองค์กรควรทำความเข้าใจกับพนักงานในองค์กรให้มากขึ้น โดยใช้ data มาวิเคราะห์ในการวางแผนกำลังคน วางแผนการจัดการและพัฒนาความสามารถของพนักงาน รวมทั้งทำความเข้าใจลักษณะของคน Gen Z ซึ่งกำลังก้าวเข้ามาเป็นกลุ่มสำคัญในองค์กร

ดังนั้น ควรหาวิธีการปรับองค์กรให้พร้อมรับกับคนกลุ่มนี้ เช่น ช่วยเตรียมความพร้อมให้เหล่าผู้จัดการที่จะต้องทำงานกับ Gen Z ปรับวิธีทำงานให้เปิดกว้างเพื่อพร้อมรับฟังไอเดียใหม่ ๆ ปรับนโยบายการทำงานให้มีความยืดหยุ่นทั้งในแง่สถานที่ และเวลา

“รวมทั้งให้ความสำคัญกับการสร้างวัฒนธรรม เพื่อให้คนที่มีความแตกต่างหลากหลาย ทั้งในเรื่องอายุ เพศสภาพ ศาสนา และอื่น ๆ สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น บริษัทใดที่สามารถทำได้ก่อนก็จะนำหน้าผู้อื่นไปหนึ่งก้าว”

สิ่งสำคัญที่สุดในฐานะผู้สมัครงานคือการไม่หยุดพัฒนา hard skills และ soft skills โดยจะต้องมีความเป็น T-shape skill อยู่ในตัว ที่ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เพียงความสามารถในสายงานที่ทำ แต่ยังต้องมีทักษะการสื่อสาร การทำงานร่วมกับผู้อื่น มีความสู้แบบไม่ถอดใจ หรือที่เรียกว่า resilience ที่พร้อมปรับตัว และแก้ปัญหาในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นต่อการทำงานไม่ว่าอาชีพใดก็ตาม

ไซม่อน แลนซ์
ไซม่อน แลนซ์

APAC ขาดแรงงานสาย STEM

“ไซม่อน แลนซ์” รองประธานอาวุโสและหัวหน้าฝ่ายสรรหาทรัพยากรบุคคล อเด็คโก้เอเชีย-แปซิฟิก กล่าวถึงภาพรวมการตลาดแรงงานในระดับภูมิภาคว่า ตลาดแรงงานทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกยังคงขาดแคลนทาเลนต์ โดยเฉพาะในสายอาชีพ STEM (science, technology, engineering and math) รวมถึงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง ในขณะที่อุตสาหกรรมที่เติบโตทั่วภูมิภาคยังเป็นอุตสาหกรรมด้าน life sciences, healthcare & biotechnology และ renewable energy

ดังนั้น ในปี 2566 น่าจะเห็นการเติบโตด้านธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม และการบริการเช่นเดียวกัน รวมถึงการโยกย้ายงานข้ามประเทศในภูมิภาคจะมีแนวโน้มสูงขึ้น ดังนั้นเมื่อมาตรการการควบคุม และป้องกันโควิด-19 ผ่อนคลายลง จึงเป็นช่วงส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านการสร้างความหลากหลายของพนักงานในองค์กรให้เกิดขึ้นด้วย

“อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของการจ้างงานชาวต่างชาติที่มีความสามารถ ยังเป็นเรื่องของการลงทุนที่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงสำหรับบางบริษัท รวมถึงยังเป็นความท้าทายของคนทำงานในการเตรียมความพร้อมเพื่อปรับตัวให้ทำงานในท่ามกลางวัฒนธรรมที่แตกต่าง และหลายบริษัทตอนนี้เริ่มเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของการจ้างงานแบบข้ามภูมิภาค (offshoring) และการจ้างงานแบบในภูมิภาค (nearshoring)

ขณะที่บางบริษัทเริ่มปรับมาใช้ shared service center เช่น IT hub หรือ designer hub ในประเทศใดประเทศหนึ่ง เพื่อให้บริการในส่วนงานนั้น ๆ โดยเฉพาะกับสาขาของบริษัทในประเทศอื่น ๆ เกิดการใช้ทรัพยากรบุคคลที่มีอย่างคุ้มค่า เพราะเป็นอีกวิธีจัดการกับปัญหาการขาดแคลนคนทำงาน หรือค่าแรงสูงตามอัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ”