HR Tech 2018 ขับเคลื่อนทุนมนุษย์ด้วยเทคโนโลยี

สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) จับมือสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB) และพันธมิตรทั้งไทย และต่างประเทศ จัดงาน Thailand HR Tech Conference & Exposition 2018 ภายใต้แนวคิด “Connecting Humanity and Technology”

โดยงานดังกล่าวเป็นการรวมตัวอย่างยิ่งใหญ่ของผู้เชี่ยวชาญด้านเอชอาร์ที่มาร่วมเสวนาในหัวข้อ “HR Tech 2018…HR ยุคดิจิตอล เสริมทัพ Thailand 4.0 แข่งเวทีโลก” ไม่ว่าจะเป็น “ดร.ณัฐวุฒิ พงศ์สิริ” ผู้ช่วยผู้ว่าการสายทรัพยากรบุคคล และพัฒนาองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย ที่บรรยายในหัวข้อ Connecting Human and Technology

“ดร.บวรนันท์ ทองกัลยา” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานทรัพยากรบุคคล และบริหาร บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ในหัวข้อ Design Thinking as a HR Strategy for Innovation-Creativity at Work

“ชุติมา สีบำรุงสาสน์” ผู้อำนวยการสายงานบริหารทรัพยากรบุคคล บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) ในหัวข้อ The Future of Talent Lifecycle Management and Digital Workplace และ “Raj Sundarason” Head of Digital Adoption, HR Line of Business, WalkMe ในหัวข้อ The Digital Adoption Challenge-What to Consider When Moving to a New System

เบื้องต้น “ดร. ณัฐวุฒิ” ฉายภาพถึงผลกระทบของเทคโนโลยีต่อวงการเอชอาร์ว่า ปัจจุบันระบบออโตเมชั่นมีราคาถูกลง ส่งผลให้บริษัทต่าง ๆ หันมาใช้ระบบดังกล่าวแทนแรงงานคนมากขึ้น ทั้งยังทำให้เกิดปรากฏการณ์ reshoring หรือการที่บริษัทแม่ที่อยู่ในประเทศพัฒนาแล้ว กลับไปสร้างฐานการผลิตสินค้าที่ประเทศของตนเอง โดยใช้เทคโนโลยีแทนแรงงานถูก ๆ ในประเทศแทบเอเชีย

“ทั้งยังเป็นข้อดีทำให้สินค้าเป็นที่น่าเชื่อถือในคุณภาพมากขึ้น เพราะได้ตีตราว่าผลิตจากประเทศที่มีมาตรฐานสูง ซึ่งเรื่องนี้ Vernor Vinge นักเขียนแนววิทยาศาสตร์ และศาสตราจารย์เกษียณอายุที่เคยสอนด้านคณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยซานดิเอโก สหรัฐอเมริกาทำนายไว้ว่า ในปี 2030 จะเป็นยุคที่เรียกว่า singularity คือเป็นจุดที่ความสามารถของมนุษย์ และความสามารถของเครื่องจักรกลเท่ากัน”

“แต่อย่างไรก็ตาม คนกับเทคโนโลยีสามารถทำงานร่วมกันได้ ไม่อยากให้มองว่าเทคโนโลยีมาแย่งงานคน เพราะถึงอย่างไรคนมี 3 ส่วนที่เทคโนโลยีไม่สามารถแทนที่ได้คือ social intelligence ความฉลาดทางสังคม หรือความสามารถในการเข้ากับคนอื่นได้ดี และทำให้คนอื่นให้ความร่วมมือ emotional intelligence ความฉลาดทางอารมณ์ ความสามารถในการตระหนักรู้ถึงความรู้สึกของตนเองและผู้อื่น เพื่อการสร้างแจงจูงใจในตนเองบริหารจัดการต่าง ๆ ได้ และ intellectual intelligence ความสามารถทางปัญญา ความคิดริเริ่ม”

ขณะที่ “ดร.บวรนันท์” พูดถึงความสำคัญของ design thinking ต่อวงการเอชอาร์ว่า เป็นส่วนสำคัญที่ครอบคลุมการพัฒนางานด้านเอชอาร์ที่จะมาช่วยองค์กรให้เติบโตได้ในยุคนี้ เพราะ design thinking คือ กระบวนการคิดที่ใช้การทำความเข้าใจในปัญหาต่าง ๆ อย่างลึกซึ้ง โดยนำคนเป็นศูนย์กลาง และนำเอาความคิดสร้างสรรค์และมุมมองจากคนหลาย ๆ สายมาสร้างไอเดีย เพื่อหาแนวทางการแก้ไข และนำแนวทางต่าง ๆ เหล่านั้นมาทดสอบ และพัฒนา

“แก่นของการสร้าง design thinking ในองค์กร ประกอบด้วย 5 ขั้นตอนคือ หนึ่ง create empathy ความเห็นอกเห็นใจ ความสามารถของเราในการเข้าใจแบบหยั่งรู้ถึงความรู้สึก และอารมณ์ของผู้อื่น ไม่ใช่ทำอย่างฉาบฉวยแต่ด้วยความละเมียด เอชอาร์ต้องเข้าใจคนในองค์กรอย่างแท้จริง ซึ่งเรื่องความเห็นอกเห็นใจ เป็นแก่นที่มิตรผลนำมาใช้ในการทำงานทุกด้าน สอง the problem หาปัญหาที่แท้จริงเพื่อแก้ไข หรือพัฒนา สาม create ideas หาแนวคิดที่จะแก้ปัญหาให้หลากหลายวิธีเท่าที่จะเป็นไปได้ สี่ make the nest idea สร้างสิ่งที่จะทดสอบแนวคิดที่ดีที่สุด และห้า test the solution ทดสอบต้นแบบ”

“ชุติมา” ผู้บริหารจากองค์กรที่เป็นผู้นำด้านซอฟต์แวร์ กล่าวว่า หลาย ๆ คนอาจมองว่าเรื่องการทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัลเป็นเรื่องเกี่ยวกับสายงานตลาด ไอที หรือการเงิน แต่ในความจริงเรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องไกลตัวของสายงานเอชอาร์ ทั้งยังเป็นหนึ่งในพันธกิจหลักของเอชอาร์ปัจจุบัน หน้าที่ของเอชอาร์คือต้องเอกซเรย์กระบวนการทำงานของแผนกว่าจะเปลี่ยนแพลตฟอร์มปฏิบัติงานไปสู่ life cycle ภายใต้กรอบที่เรียกว่า modern workplace ซึ่งมีดิจิทัลเป็นส่วนสำคัญได้อย่างไร

“ส่วนผสมของการเป็นโมเดิร์นเวิร์กเพลซประกอบด้วย people ผู้นำ และลูกน้องต้องทำงาน และมีทิศทางไปในทางเดียวกัน place โครงสร้าง นโยบาย กระบวนการทำงานในองค์กรต้องหนุนในการพัฒนาศักยภาพของคน และ technology ต้องมาช่วยให้การทำงานตอบโจทย์ความว่องไวของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพราะสิ่งที่เป็นตัววัดว่าองค์กรใด ๆ พร้อมที่จะเป็น modern workplace หรือไม่ คือ หนึ่ง ความเป็นอยู่ที่ดี และความสุขของคนในองค์กร (well-being) ที่จะส่งผลให้เกิดผลงานที่ดีตามมาด้วย สอง ความร่วมมือของคนในทีม เพราะตอนนี้หมดยุคที่จะมีฮีโร่ แต่เป็นยุคการสร้าง super team ที่มีความเข้มแข็ง และทำงานร่วมกันไปสู่เป้าหมายได้ สาม องค์กรต้องมีนวัตกรรม สี่ engagement การรักษาคนให้อยู่ในองค์กรได้”

เพราะโลกของการทำงานเอชอาร์ยุคใหม่เปลี่ยนแปลงไป ความสำเร็จไม่ได้วัดที่ความถูกต้องของเอกสาร แต่วัดที่ประสบการณ์ของบุคลากรที่มีกับองค์กร ซึ่งฝ่ายทรัพยากรบุคคลต้องทำหน้าที่เป็นทูตขององค์กรในการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้เกิดขึ้น

ตรงนี้เอง จึงทำให้ “Raj Sundarason” ผู้บริหารองค์กรจากต่างประเทศ บริษัทที่สร้างแพลตฟอร์ม WalkMe ที่ก่อตั้งในปี 2011 เพื่อช่วยให้องค์กรนำเทคโนโลยีมาใช้ในส่วนงานต่าง ๆ จึงอธิบายว่า digital transformation ของแต่ละองค์กรจะเกี่ยวกับ 4 เสาหลัก ประกอบด้วย customer engagement การมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับลูกค้า สอง empower คนในบริษัทต้องได้รับอำนาจในการปฏิบัติงานใด ๆ อย่างเท่าเทียม โดยผู้บริหาร และลูกน้องต้องมีทิศทางไปในทางเดียวกัน

“สาม optimize operation กระบวนการทำงานที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด สี่ transform products พัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดอยู่เสมอ”

“จึงไม่แปลกที่แพลตฟอร์ม WalkMe จึงครอบคลุมการทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัล ตั้งแต่ด้านการบริหารความสัมพันธ์อันดีระหว่างบริษัท และลูกค้า (customer relationship management-CRM), การวางแผนทรัพยากรทางธุรกิจขององค์กร (enterprise resource planning-ERP) และการบริหารทรัพยากรบุคคล (human capital management-HCM) ง่าย และสะดวกขึ้น”

“แพลตฟอร์มของเราประสบความสำเร็จในหลายประเทศ ทั้งสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และฝรั่งเศส โดยช่วยให้งานเอชอาร์มีผลผลิตที่ดีขึ้น ทั้งยังเป็นการลดต้นทุนขององค์กรด้วย เพราะแต่ละปีองค์กรใหญ่ ๆ ต้องลงทุนหลายล้านบาทเพื่ออบรมพนักงาน แต่ WalkMe สามารถสร้างการอบรมออนไลน์ จึงทำให้ต้นทุนต่ำ กระทั่งพนักงานสามารถเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา”

จึงนับว่าผู้เชี่ยวชาญด้านเอชอาร์ต่างให้ความเห็นตรงกันว่า นักทรัพยากรมนุษย์ประเทศไทยต้องเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็น digital HR โดยการเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องทุ่นแรง และใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างสรรค์คุณค่าให้กับงานด้านการจัดการ และพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อเป็นการตอบสนองการแข่งขันขององค์กรในยุคดิจิทัล ทั้งยังมีส่วนสำคัญในการพัฒนาทุนมนุษย์ตามนโยบาย Thailand 4.0 ด้วย