จากศาสตร์พระราชา สู่ SDGs พัฒนาไทยอย่างยั่งยืน

เพราะเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development goals-SDGs) เป็นการสานต่อภารกิจการทำงาน ในการขจัดความยากจนในทุกมิติ ทุกรูปแบบ และเน้นการสร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อันเป็นการพัฒนาใน 3 มิติที่เอื้อต่อกัน และแบ่งแยกมิได้ ซึ่งเป็นทิศทางการพัฒนาโลกนับตั้งแต่ปี 2016-2030

เพื่อเป็นการขยายองค์ความรู้ และความเข้าใจเกี่ยวกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนา และยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในมิติต่าง ๆ  โดยเฉพาะการลดความเหลื่อมล้ำ ความยากจนในทุกรูปแบบ ตามเป้าหมายของ SDGs

มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ และ หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ จึงจัดงานสัมมนาในหัวข้อ “SDGs ก้าวใหม่ธุรกิจไทย จากทุนหมู่บ้าน ถึงกระดานหุ้นโลก” โดยมีการสัมมนาพิเศษเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถอดบทเรียนการทำงาน และร่วมกันหาคำตอบอนาคตของประเทศไทย ในการสร้างความอยู่ดีกินดี คุณภาพชีวิตที่เป็นสุขให้กับผู้คนในประเทศไทย

อีกทั้งยังมีปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “จากศาสตร์พระราชาสู่ SDGs พัฒนาไทยยั่งยืน” โดย “ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล” ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ

SDGs เป้าหมายลดเหลื่อมล้ำ

เบื้องต้น “ม.ร.ว.ดิศนัดดา” กล่าวว่าเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainable development goals-SDGs) เป็นเป้าหมายที่ทั่วโลกได้ลงนามตกลงร่วมกันเมื่อปี 2015 และตั้งเป้าหมายที่จะทำให้สำเร็จภายในปี 2030 แต่จากการสำรวจคนทั่วโลก เมื่อปลายปีที่ผ่านมา หลังจากการประกาศใช้ SDGs ได้ 3 ปี พบว่า คนที่รู้จัก SDGs มีเพียง 27% เท่านั้น

“ผมจึงคิดว่าพวกเราต้องย้อนกลับไปมองว่าทำไมต้องมี SDGs และด้วยเหตุใดที่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนถูกตั้งขึ้นมา หรือเป้าหมายการพัฒนาสหัสวรรษ (millennium development goals-MDGs) ใช้ไม่ได้ ไม่มีประสิทธิภาพ เพราะที่ผ่านมาเราเคยตั้งเป้าหมาย MDGs ร่วมกันมาแล้วตั้งแต่ปี 2000 ว่าจะขจัดความยากจนให้หมดไปในปี 2015 แต่ปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำในสังคม ความเจริญที่กระจุกตัว การกดขี่ กีดกัน มือใครยาวสาวได้สาวเอา ยังคงเป็นปัญหาหลักทั่วทุกมุมโลก ทั้งยังทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น”

“อย่างในประเทศไทย บัญชีเงินฝากของทุกธนาคารรวมกันแล้วมีประมาณ 80 ล้านบัญชี มีบัญชีที่มีเงินเกิน 5 แสนบาท เพียง 3% ส่วนบัญชีที่มีเงินฝากไม่ถึง 5 หมื่นบาท มีถึง 88% หรืออย่างจำนวนแพทย์ที่อยู่ใน กทม.มีอยู่กว่า 25,142 คน แต่ในขณะที่แพทย์ที่อยู่ในจังหวัดอื่น ๆ มีเพียง 25,152 คน ตรงนี้ทำให้เห็นว่า 70 กว่าจังหวัดมีแพทย์มากกว่ากรุงเทพมหานครจังหวัดเดียวแค่ 10 คนเท่านั้น”

“ความเหลื่อมล้ำนี้ทำให้คนในระดับฐานรากที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ยากที่จะพัฒนาตัวเองได้ จึงทำให้นโยบายประชานิยมที่ไม่รับผิดชอบต่อสังคม ได้รับความนิยม ทั้ง ๆ ที่ใช้งบประมาณสูง แต่เกิดความไม่ยั่งยืนในระยะยาว ทั้งยังสร้างภาระให้รุ่นลูกรุ่นหลานอีกด้วย”

4 ปัญหาชะลอการพัฒนาไทย 

“ม.ร.ว.ดิศนัดดา” กล่าวอีกว่าไม่เพียงแต่ปัญหาความเหลื่อมล้ำเท่านั้น แต่ประเทศไทยยังมีอีกหลายปัญหาที่ทำให้การพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ชะลอตัว ทั้งเรื่องผลิตภาพแรงงานที่ลดลง เพราะไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทำให้คนวัยทำงานลดลง ส่งผลต่อการเพิ่มผลิตภาพ การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ

“แต่ที่ผ่านมานโยบายส่วนใหญ่กลับมุ่งเน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นมากกว่าการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อแก้ปัญหาระยะยาว อีกทั้งระบบการศึกษา ไม่ช่วยยกระดับทักษะความสามารถของคนไทยมิติต่าง ๆ ให้มีผลิตภาพสูงขึ้น อีกทั้งปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการแก้ไข และการดูแลระบบนิเวศอย่างเหมาะสม ทั้งที่ควรเป็นเรื่องสำคัญลำดับต้น ๆ เนื่องจากคนส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ในภาคการเกษตร ทำให้ต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติในการทำมาหากิน รวมถึงการกระทำที่ขาดความรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในระดับที่สูงมาก การใช้พลาสติกจำนวนมหาศาล”

“หรืออย่างล่าสุดการที่ประเทศไทยถูกใช้เป็นที่ทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์แห่งใหม่ของโลก และแม้กระทั่งการที่สารกำจัดวัชพืชพาราควอตที่ยังถูกใช้อย่างแพร่หลาย ทั้ง ๆ ที่ถูกห้ามใช้ใน 48 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา ลาว และเวียดนาม”

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการคอร์รัปชั่นที่ยังถือว่ามีอยู่อย่างแพร่หลาย ทั้งยังเป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ทำให้ประเทศไม่ได้ก้าวไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงปัญหาเรื่องยาเสพติด ที่มีอยู่ทุกซอกทุกมุมของประเทศ ซึ่งล้วนกำลังพาประเทศไปสู่หายนะ เพราะจากสถิติการจับกุมปี 2561 ยาบ้าและยาไอซ์ที่ผ่านเข้ามาในภูมิภาคนี้ มีมูลค่า 495,000 ล้านบาท เข้ามาในไทย 26% คิดเป็นมูลค่า 126,895 ล้านบาท และผู้ต้องขังทั้งหมดในเรือนจำ จำนวน 7 ใน 10 ถูกจับด้วยคดียาเสพติด และเด็กกว่าครึ่งหนึ่งในสถานพินิจก็ถูกจับด้วยคดีดังกล่าวเช่นกัน”

ปัญหาดังกล่าว นอกจากจะทำให้ภาครัฐเสียงบประมาณจำนวนมากเพื่อป้องกัน ปราบปราม บำบัด และดูแลผู้ต้องขังคดียาเสพติดแล้ว ยังส่งผลเสียต่อสังคมไทยอย่างมหาศาล โดยเฉพาะสถาบันครอบครัว และเยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติ ส่งผลโดยตรงต่อศักยภาพในการพัฒนาประเทศในระยะยาว

เศรษฐกิจใหม่ Care & Share 

“ม.ร.ว.ดิศนัดดา” จึงย้ำว่าไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้นที่ประสบปัญหาเหล่านี้ แต่เป็นสิ่งที่ทุกประเทศกำลังเผชิญอยู่ ทำให้ต้องกลับมาคิดว่าระบบเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ ไม่ว่าจะเป็น capitalism, socialism หรือ communism มาถูกทางแล้วหรือยัง โดยเฉพาะเรื่องของทุนนิยม capitalism ที่ฝั่งตะวันตกยกให้เป็นสุดยอดของการบริหารโลก แต่เหตุใดปัญหาเหล่านี้จึงมีแต่แย่ลง

“ผมคิดว่า หากเปิดใจให้กว้าง ประเทศไทยมีแนวทางที่จะตอบโจทย์ SDGs และไม่ต้องไปเรียนรู้จากใคร เพราะ SDGs ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับเรา ซึ่งประเทศไทยทำมานานแล้ว โดยจะเห็นได้จากการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่พระองค์ทรงทำมาตลอดระยะเวลา 70 ปี ตั้งแต่ทรงครองราชย์”

“โครงการพระราชดำริ หรือแนวพระราชดำริต่าง ๆ ถือว่าครอบคลุมทุกมิติของ SDGs ทั้งเรื่องสุขภาพ ความยากจน ความมั่นคงทางอาหาร ความเหลื่อมล้ำทางสังคม การศึกษา น้ำ พลังงานทดแทน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ความสงบสุข ความมั่นคง ความเท่าเทียม ความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นต้น”

“ที่ผ่านมาหลายคนอาจจะเข้าใจว่าแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเป็นการพัฒนาชีวิตเกษตรกรและชนบทเท่านั้น แต่ผมกลับมองว่าแนวคิดนี้เป็นระบบเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ ที่มี care & share เป็นพื้นฐานสำคัญ เพราะเป็นการพัฒนาระบบเศรษฐกิจแบบ inclusive จากรากฐานที่มั่นคง คำนึงถึงผลกระทบทางสังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม จริยธรรม และทุกคนได้รับประโยชน์ อันเป็นสิ่งที่เป้าหมายที่ SDGs ต้องการ”

เศรษฐกิจพอเพียงสู่ SMEs

“ม.ร.ว.ดิศนัดดา” บอกต่อว่าการพัฒนาตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง จะเริ่มต้นจากน้ำ เพราะประเทศไทยเป็นสังคมเกษตรกรรม หลังจากนั้น จะต้องส่งเสริมการทำเกษตรผสมผสาน เพื่อความมั่นคงทางอาหาร ลดรายจ่าย และลดความเสี่ยงในการประกอบอาชีพแล้วจึงค่อยพัฒนาอาชีพให้คนทุกกลุ่ม ตามภูมิสังคม และศักยภาพทางการตลาดเพื่อเพิ่มรายได้

“ที่สุดแล้วจะนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดย่อม เพื่อการแปรรูป และเพิ่มมูลค่า พัฒนาผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ และแบรนด์ จนกลายเป็นวิสาหกิจชุมชนที่มั่นคง กระทั่งทำให้เกิดความร่วมมือระหว่างวิสาหกิจชุมชน และภาคธุรกิจอย่างเท่าเทียม”

“สำคัญไปกว่านั้น ภาคธุรกิจสามารถนำเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับใช้ได้ และหลายบริษัทนำไปปฏิบัติแล้ว อย่างก่อนวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ที่ภาคธุรกิจต่างมุ่งขยายธุรกิจ เพิ่มยอดขาย เพิ่มผลิตภัณฑ์ จนสุดแขนจะเอื้อมถึง แต่เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ กลับล้มไม่เป็นท่า ติดหนี้กันมหาศาล ที่เป็นแบบนี้ เพราะไม่มีภูมิคุ้มกัน ไม่ได้คำนึงถึง external shock และที่สำคัญคือ ไม่มีความพอดี”

“ผมจึงคิดว่าหลายบริษัทจึงเริ่มหันกลับมามองความเชี่ยวชาญ ความถนัด และตลาดของตน เช่นเดียวกับเกษตรกรที่ต้องดูว่าตัวเองมีทักษะจะปลูกอะไร และตลาดต้องการอะไร แล้วค่อย ๆ ทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป คำนึงถึงผลกระทบต่อผู้อื่น และสังคมวงกว้าง เพราะทุกอย่างเชื่อมโยงถึงกันหมด ดังจะเห็นได้ว่าศาสตร์พระราชา ไม่ใช่ศาสตร์สำหรับการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในชนบทเท่านั้น แต่เป็นศาสตร์ที่ใช้ได้กับคนทุกคน เพราะคนก็คือคน คนจนในเมืองกับคนจนในชนบทไม่ได้ต่างกัน เราทุกคนต้องกิน ต้องใช้ บางทีคนจนในเมืองอาจจะหนักกว่าด้วยซ้ำ เพราะไม่มีข้าวในนา ไม่มีของป่าให้กิน”

ดันเอกชนช่วยชาวบ้าน 

ดังนั้น การแก้ไขปัญหาความยากจนในเมือง นอกจากการสร้างงาน สร้างอาชีพแล้ว “ม.ร.ว.ดิศนัดดา” ยังบอกว่าเราต้องให้ความสำคัญกับการแปรรูปผลิตภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ การตลาด การขาย งานท่องเที่ยวและบริการ โดยมีธุรกิจเพื่อสังคมและความร่วมมือกับภาคเอกชนในการนำศาสตร์พระราชาไปประยุกต์ใช้ในชุมชนเมือง

“ที่สำคัญ ผมคิดว่าบริษัทใหญ่ ๆ ต้องเข้ามาร่วมกันพัฒนา และยกระดับคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของคนยากจนให้มีชีวิตที่ดี อยู่ดีมีสุข ซึ่งถ้าองค์กร หรือบริษัทใหญ่ ๆ ช่วยคนเหล่านี้ ก็เหมือนการช่วยเหลือตัวเอง เพราะถ้าชาวบ้านมีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เขาก็มีเงินไปซื้อของ แล้วของในตลาดส่วนใหญ่ก็เป็นของบริษัทใหญ่ ๆ ทั้งนั้น”

“การที่เราเข้ามาช่วยชาวบ้าน ไม่ใช่เอาเงินไปให้เขา แต่ต้องนำเอาความรู้ความเชี่ยวชาญที่มีไปส่งเสริม แล้วให้ชาวบ้านทำกันเอง แบบนี้ถึงจะเรียกว่ายั่งยืน และที่สำคัญ ต้องเป็นพ่อค้าที่มีใจคุณธรรม คิดถึงคนอื่นก่อนเสมอ เพราะถ้าเขาเหล่านี้อยู่ได้ บริษัทก็อยู่ได้ และถ้าเขาอยู่ไม่ได้ จะเอาของจากไหนมาทำธุรกิจ”

ศาสตร์พระราชามุ่งสู่ SDGs 

ถึงตรงนี้ “ม.ร.ว.ดิศนัดดา” จึงกล่าวในตอนท้ายว่าผมเชื่อว่าศาสตร์พระราชา เป็นศาสตร์แห่งการแก้ไขปัญหา และพัฒนาชีวิตคนอย่างยั่งยืน และหากนำศาสตร์พระราชาไปปฏิบัติได้จริง จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน SDGs อย่างแน่นอน

“เพราะโคฟี่ อันนัน เลขาธิการสหประชาชาติในขณะนั้น มาเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ จากรัชกาลที่ 9 แล้วนำไปปรับใช้ใน SDGs แม้ว่าก่อนหน้านั้นสหประชาชาติอาจจะทำเรื่องนี้มาก่อนแล้วก็ตาม ซึ่งผมเชื่อว่าเขามาเรียนรู้เพิ่มเติมโดยเฉพาะเศรษฐกิจพอเพียง เพราะรัชกาลที่ 9 ทรงงานด้านความมั่นคง และความยั่งยืนมาตลอด 70 ปี

“ดังนั้น ในความคิดของผมแล้ว พระองค์มีความลึกซึ้งมากกว่าชาวตะวันตก และนั่นทำให้ SDGs มีบริบทของเศรษฐกิจพอเพียงหรือศาสตร์พระราชาอยู่ ซึ่งผมเชื่อแบบนี้”